ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างโอเชียเนีย

ออสเตรเลียและอินเดียจับตาดูความร่วมมือด้านการเสริมสร้างความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลอย่างใกล้ชิดขึ้น

มันดีป ซิงห์

เนื่องจากยุทโธปกรณ์ใต้ทะเลที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนนําไปใช้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ออสเตรเลียและอินเดียจึงให้ความสนใจความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลมากขึ้น รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลอินเดียได้เน้นย้ำถึงความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลในการฝึกซ้อมด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศและในการเจรจาทวิภาคี รวมถึงวางแผนที่จะดําเนินการความร่วมมือให้ครอบคลุมมากขึ้น เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์กล่าว

“การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเรือดำน้ำและเรือดำน้ำไร้คนขับของจีนเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อเสรีภาพและการเปิดกว้างในอินโดแปซิฟิก ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่ออินเดียและออสเตรเลียด้วย” นาย พรากาช ปันนีร์เสลวัม ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากสถาบันวิจัยขั้นสูงแห่งชาติอินเดีย กล่าวกับ ฟอรัม

ความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคจำเป็นต้องมีระบบประสานงานที่ประกอบด้วยดาวเทียม เซ็นเซอร์ใต้ทะเล เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล เฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือดำน้ำ ระบบไร้คนขับ และเรือดำน้ำ และเสริมด้วยการแบ่งปันข้อมูลระหว่างพันธมิตรและแนวร่วม นายปันนีร์เสลวัมกล่าว อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและอินเดีย ในฐานะประเทศสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือควอด ร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการดําเนินการด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลในวงกว้าง

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังการเจรจาระดับรัฐมนตรี 2+2 ครั้งที่ 2 ระหว่างอินเดียและออสเตรเลียที่กรุงนิวเดลีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ได้มีการเพิ่มการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศกล่าวว่า โครงการวิจัยร่วมด้านเทคโนโลยีใต้น้ำครั้งแรกคืบหน้ามากขึ้น

ความพยายามเหล่านี้อาจนำไปสู่การสร้างเครือข่ายเซ็นเซอร์และการเฝ้าระวังที่ครอบคลุมในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในทะเล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทั้งสองประเทศในการระบุและตรวจสอบปฏิบัติการของเรือดําน้ำและภัยคุกคามอื่น ๆ ใต้ท้องทะเล นายปันนีร์เสลวัมกล่าว

“โครงการริเริ่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของระบบเฝ้าระวังด้วยเสียงของสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้างเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่คล้ายกันเพื่อดูแลช่องทางเดินเรือที่สำคัญ” นายปันนีร์เสลวัมกล่าว

ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังด้วยเสียงในทศวรรษที่ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) เพื่อติดตามเรือดำน้ำโซเวียตผ่านโซนาร์แบบไม่ส่งคลื่น

ข้อตกลงด้านกลาโหมที่มีอยู่ระหว่างออสเตรเลียและอินเดียสามารถสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเล ซึ่งรวมถึง ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ร่วมกัน พ.ศ. 2563 ซึ่งเอื้อต่อการมีส่วนร่วมระหว่างกองทัพ ข้อตกลงการบังคับใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกลาโหม​​ ซึ่งเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์กรวิจัยด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม พ.ศ. 2563 ซึ่งขยายขอบเขตความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและความมั่นคง

อากาศยานที่ใช้ร่วมกัน เช่น เครื่องบินขนส่ง ซี-17 และ ซี-130 และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล พี-8 อาจมีส่วนช่วยต่อความพยายามร่วมกันในด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเล นายปันนีร์เสลวัมกล่าว ศูนย์การรวมข้อมูลในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียสามารถเปิดใช้งานการแบ่งปันข้อมูลได้ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่นําโดยอินเดีย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทะเลและการเดินเรือ ออสเตรเลียได้ส่งเจ้าหน้าที่ประสานงานไปยังศูนย์แห่งนี้​​ตั้งแต่ พ.ศ. 2564​​

กองทัพของทั้งสองประเทศร่วมมือกันด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเลและสงครามปราบปรามเรือดำน้ำในกิจกรรมการฝึก เช่น การฝึกซ้อมทางทะเลทวิภาคี ออสอินเด็กซ์ ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา และการฝึกพหุภาคี มาลาบาร์ การฝึกมาลาบาร์ใน พ.ศ. 2566 นอกชายฝั่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศควอด ซึ่งรวมถึง การปฏิบัติการทั้งบนผิวน้ำ ใต้ผิวน้ำ และทางอากาศ รวมถึงการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริง และการฝึกซ้อมการทำสงครามปราบปรามบริเวณผิวน้ำ ปราบปรามทางอากาศ และปราบปรามเรือดำน้ำ

นายปันนีร์เสลวัมกล่าวว่า ความร่วมมือทวิภาคีอีกด้านหนึ่งที่เป็นไปได้คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ใต้ทะเล

“กองทัพเรืออินเดียได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบไร้คนขับ โดยระบุถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา และได้เชิญหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มนี้” นายปันนีร์เสลวัมกล่าว

“ในขณะที่โครงการพัฒนายานพาหนะใต้น้ำที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองยังคงดําเนินต่อไป ออสเตรเลียก็พร้อมที่จะร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ของอินเดียเพื่อผลิตยานพาหนะที่ตรงตามข้อกําหนดของกองทัพเรือ ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกัน”

มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button