ยอดขายอาวุธในรัสเซียดิ่งลงเนื่องจากอินเดียและประเทศอื่น ๆ กำลังมองหาผู้จัดหารายใหม่
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
การรุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุยั่วยุของรัสเซียยังคงสร้างความสูญเสียนอกสนามรบอย่างหนักให้กับรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติได้ทำลายการส่งออกอาวุธของรัฐบาลรัสเซีย อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือทําให้ลูกค้าระยะยาวในอินเดียแปซิฟิกและที่อื่น ๆ มองหาผู้จัดหาอาวุธรายใหม่
การส่งออกอาวุธของรัฐบาลรัสเซียลดลงร้อยละ 53 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้รัสเซียพ้นจากตำแหน่งผู้จัดหาอาวุธสองอันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรก ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 “มีการลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัสเซียจะส่งออกอาวุธหลักไปยัง 31 ประเทศใน พ.ศ. 2562 แต่ใน พ.ศ. 2566 ส่งออกเพียง 12 ประเทศเท่านั้น”
โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนคิดเป็นร้อยละ 21 ของการส่งออกอาวุธของรัสเซียในช่วง พ.ศ. 2562-2566 ตามรายงานของสถาบันอิสระดังกล่าวในสวีเดน
ในขณะที่การส่งออกอาวุธของรัสเซียลดลงอย่างรวดเร็ว นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กําลังพยายามจัดหากองกําลังสําหรับสงครามที่โหดร้ายกับยูเครน ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่สามแล้ว นายปูตินถูกบังคับให้หันไปซื้อขีปนาวุธนําวิถี กระสุนปืนใหญ่และกระสุนอื่น ๆ จากเกาหลีเหนือ ซึ่งละเมิดมติขององค์การสหประชาชาติที่สั่งห้ามรัฐบาลเกาหลีเหนือส่งออกอาวุธ ในทางกลับกัน รัสเซียได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่รัฐบาลเกาหลีเหนือในการปล่อยดาวเทียมสอดแนม ซึ่งเป็นการละเมิดมติขององค์การสหประชาชาติด้วยเช่นกัน สำนักงานข่าวกรองเกาหลีใต้ระบุเมื่อปลาย พ.ศ. 2566
ยอดขายอาวุธที่ลดลงยังทำให้รัฐบาลรัสเซียขาดรายได้สำคัญ ประกอบกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดจากข้อห้ามระหว่างประเทศในการส่งออกด้านอื่น ๆ ของรัสเซีย เช่น น้ำมัน การส่งออกอาวุธคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 4 ของการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย และมากกว่าร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ พ.ศ. 2558 ตามรายงานของชัทแธมเฮาส์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในลอนดอน
ความตึงเครียดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเพิ่มขึ้นจากสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซีย โครงการอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ และการเสริมกำลังทางทหารอย่างรวดเร็วของจีน ซึ่งอินโดแปซิฟิกเป็นจุดหมายปลายทางการขนถ่ายอาวุธหลักถึงร้อยละ 37 ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2566 ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในทุกภูมิภาค
การนําเข้าอาวุธของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 155 เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 97 และร้อยละ 72 ของการขนถ่ายอาวุธตามลําดับ พันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งสองนี้ “กําลังลงทุนอย่างหนักในขีดความสามารถการโจมตีระยะไกล” ซึ่งรวมถึงเครื่องบินรบ ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม
รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งวางแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายใน พ.ศ. 2570 ยังได้สั่งซื้อขีปนาวุธพิสัยไกล 400 ลูกจากสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2566 อีกด้วย “นี่จะเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นมีความสามารถในการเจาะลึกเป้าหมายภายในจีนหรือเกาหลีเหนือ” ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการนําเข้าอาวุธระดับสูงอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่น กับของพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ในเอเชียและโอเชียเนีย ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยสําคัญ นั่นคือความกังวลเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของจีน” นายซีมอน เวซแมน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์
รายงานดังกล่าวเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2561 และ พ.ศ. 2562-2566 และยังพบว่า
- การนําเข้าอาวุธของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทำให้อินเดียเป็นผู้นําเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม การนำเข้าของรัฐบาลอินเดียมาจากรัสเซียร้อยละ 36 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปีที่สัดส่วนของรัฐบาลรัสเซียลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ตามรายงาน “แนวโน้มการขนถ่ายอาวุธระหว่างประเทศ” “อินเดียหันมามองหาผู้จัดหาในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและสหรัฐฯ รวมถึงอุตสาหกรรมอาวุธของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านอาวุธหลัก การเปลี่ยนแปลงนี้ยังมองเห็นได้จากคําสั่งซื้อรอบใหม่ของอินเดีย ซึ่งอาวุธจํานวนมากสั่งซื้อกับผู้จัดหาในประเทศตะวันตก และจากแผนการจัดซื้ออาวุธของอินเดีย ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีตัวเลือกจากรัสเซียเลย”
- ฝรั่งเศสแซงหน้ารัสเซีย ซึ่งมีพัฒนาการขึ้นร้อยละ 47 และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศสมีสัดส่วนการขนถ่ายอาวุธในอินโดแปซิฟิกมากที่สุดถึงร้อยละ 42 และอินเดียถือเป็นประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 “ฝรั่งเศสกำลังใช้โอกาสจากความต้องการเป็นจำนวนมากทั่วโลกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธผ่านการส่งออก” นางคาทารินา ยอคิช นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม กล่าว “ฝรั่งเศสประสบความสําเร็จอย่างยิ่งในการขายเครื่องบินรบให้แก่ประเทศนอกทวีปยุโรป”
- การส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ทําให้มีสัดส่วนการส่งออกทั่วโลกนำอยู่ที่ร้อยละ 42 รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้จัดหาอาวุธให้ประเทศต่าง ๆ ถึง 107 ประเทศในช่วง พ.ศ. 2562-2566 และเป็นผู้จัดหารายใหญ่ที่สุดของอินโดแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 34 ของการนำเข้าอาวุธในภูมิภาค
- รายงานดังกล่าวพบว่าการนําเข้าอาวุธของจีนลดลงร้อยละ 44 และแนวโน้มนี้มีทีท่าจะดําเนินต่อไป “ส่วนมากแล้วเป็นเพราะการเข้ามาแทนที่อาวุธนําเข้าของระบบอาวุธซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย โดยเป็นระบบที่ผลิตในประเทศ” รัฐบาลรัสเซียได้จัดหาอาวุธนำเข้าร้อยละ 77 ของรัฐบาลจีนในช่วง พ.ศ. 2562-2566 ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กล่าวหาพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าขโมยหรือกระทำการวิศวกรรมย้อนกลับเทคโนโลยีทางทหารของตนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธของจีน
- โดยรวมแล้ว การนําเข้าอาวุธของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงร้อยละ 43 “ทว่าความตึงเครียดกับจีนยังคงผลักดันให้มีการจัดซื้ออาวุธของหลายประเทศในอนุภูมิภาคนี้” เช่น การนําเข้าของฟิลิปปินส์และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 และร้อยละ 17 ตามลําดับ ส่วน “อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนสั่งซื้อเครื่องบินรบและเรือเป็นจํานวนมาก”
- รัฐบาลรัสเซีย (ร้อยละ 38) และรัฐบาลจีน (ร้อยละ 26) ยังคงเป็นผู้จัดหาอาวุธหลักของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยึดอํานาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองที่โหดร้ายและยืดเยื้อ