ประวัติด้านความปลอดภัยที่น่าสงสัยทำให้ความตั้งใจที่จะใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำในทะเลจีนใต้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดความน่าเคลือบแคลงใจ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
แนวโน้มที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเสริมสร้างแนวปะการังที่ตนครอบครองและเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ กำลังเพิ่มความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และภูมิรัฐศาสตร์ ประวัติที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในด้านการปล่อยมลพิษอย่างร้ายแรงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนบก ทำให้แผนการใช้งานโรงไฟฟ้าแบบติดตั้งบนเรือบรรทุกในสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เปราะบางถูกมองในแง่ลบ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนใน พ.ศ. 2565 ปล่อยน้ำเสียที่มีไอโซโทปทริเทียมที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในระดับที่มากกว่าปริมาณที่คาดว่าจะพบในการปล่อยของเสียออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่นถึงเก้าเท่า ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายใน พ.ศ. 2554 จากแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างรุนแรง ตามรายงานของนิตยสารข่าวนิกเคอิเอเชียในกรุงโตเกียว เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 วัสดุปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีได้รับการประเมินที่จุดตรวจสอบ 19 จุดทั่วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีน 13 แห่ง รวมถึงคอมเพล็กซ์ย่านฉินชานในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออก ตามรายงานของนิกเคอิเอเชีย ซึ่งอ้างอิงจากรายงานประจำปีเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ของจีน
แม้ว่าตนเองจะมีประวัติด้านความปลอดภัยที่น่าสงสัย แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นที่ปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงในมหาสมุทรแปซิฟิกจากโรงงานฟุกุชิมะซึ่งยุติปฏิบัติการแล้ว และได้สั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของญี่ปุ่นทั้งหมดตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566
สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศขึ้นด้วยการอ้างสิทธิทางอาณาเขตในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมไปถึงความตึงเครียดกับบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยการขุดลอกและจัดกำลังทหารในแนวปะการังที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้ รวมถึงในหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลี ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ การอ้างสิทธิในอาณาเขตตามอำเภอใจอย่างกว้างขวางในทะเลจีนใต้ของรัฐบาลจีน ซึ่งศาลระหว่างประเทศได้ปฏิเสธไปใน พ.ศ. 2559 ยังได้คุกคามการขนส่งระหว่างประเทศและความมั่นคงระหว่างภูมิภาค
วิศวกรจีนเริ่มต้นสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำใน พ.ศ. 2559 และได้ประกาศว่าจีนจะใช้งานเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนในทะเลจีนใต้ รวมถึงอาจใช้งานในเกาะที่ทำการขุดลอกขึ้นมา นายเวียต พอง เหงียน อดีตนักวิจัยที่ศูนย์เบลเฟอร์สำหรับวิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศของโรงเรียนฮาร์วาร์ดเคนเนดี เขียนไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จีนทดสอบต้นแบบขนาด 60 เมกะวัตต์ในทะเลโบไฮทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ตามรายงานของนายเหงียน
ในเวลาถัดมา จีนได้ระงับแผนการติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำในทะเลจีนใต้ด้วยเหตุผลเรื่องความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นไปได้ ทำให้อนาคตของโครงการยังคงไม่แน่นอน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ในขณะเดียวกัน จีนยังคงพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำเพื่อช่วยเปิดเส้นทางทะเลเหนือซึ่งอยู่นอกชายฝั่งอาร์กติกของรัสเซีย
แม้กระทั่งในจีน นักวิทยาศาสตร์ต่างก็กังวลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ ในรายงานเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายจีนตะวันออกในเซี่ยงไฮ้และสถาบันเทคโนโลยีปักกิ่งเรียกร้องให้มี “กรอบการกำกับดูแลระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ” เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ
“การแกว่งตัว การเหวี่ยงไปมา และการเคลื่อนที่ไปมาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำอาจส่งผลกระทบต่อพืช สัตว์ และระบบนิเวศทางทะเลได้” กลุ่มนักวิจัยระบุ “เมื่อประสบกับสึนามิ การโจมตีของผู้ก่อการร้าย อุบัติเหตุทางทะเล ความเสียหายของเครื่องจักรอย่างรุนแรง ไฟไหม้/ระเบิด หรือการรั่วไหลของนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางทะเล”
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำที่บรรทุกอยู่บนเรือสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับฐานทัพทางทหารระยะไกล ดำเนินการแยกเกลือออกจากน้ำและทำความร้อน และดำเนินการด้านแท่นขุดเจาะน้ำมัน ผู้สังเกตการณ์กล่าว โรงไฟฟ้าเหล่านี้มีความสามารถในการผลิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 ของโรงไฟฟ้าบนบก ตามรายงานของนิตยสารป๊อปปูลาร์ไซแอนซ์ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “เชอร์โนบิลส์ลอยน้ำ” โดยอ้างอิงชื่อมาจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ร้ายแรงใน พ.ศ. 2529 ของอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งปล่อยสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม
ตามข้อมูลจากงานวิจัยที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยศูนย์วิจัยความมั่นคงระดับโลกที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ บ่งชี้ว่าการจอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำไว้ที่เกาะเทียมที่จีนอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้อาจส่งผลกระทบที่สำคัญสามประการ นั่นคือ
- ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับการควบคุมพื้นที่ที่มีข้อพิพาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งทำให้ข้อพิพาททางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงยิ่งขึ้น
- เพิ่มขีดความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชน และเพิ่มการจัดกำลังทหารในทะเลจีนใต้
- ก่อให้เกิดอันตรายด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ การก่อวินาศกรรม หรือสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางทะเล
มีประเทศอื่น ๆ อีกอย่างน้อยห้าประเทศที่กำลังพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำกลางทะเล ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้หากดำเนินการและบำรุงรักษาตามแนวทางความปลอดภัยระดับโลกและบรรทัดฐานความโปร่งใส ตามรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่ได้ผลิตก๊าซคาร์บอนที่เป็นอันตรายขณะทำงาน ซึ่งต่างจากโรงไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้พลังงานฟอสซิล โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำยังสามารถสร้างขึ้นในโรงงาน ประกอบในอู่ต่อเรือ ซึ่งเพิ่มความเร็วให้กระบวนการนำไปใช้จริงพร้อมกับลดต้นทุน
ยังคงต้องมีการดำเนินการอีกมากเพื่อรับรองความปลอดภัยของการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวในสภาพแวดล้อมทางทะเล รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบป้องกันข้อผิดพลาด และศึกษาผลกระทบทางกฎหมายและกฎระเบียบ ตามรายงานของนักวิจัย หน่วยงานกำกับดูแล และเจ้าหน้าที่ที่หารือเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ในกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย และกรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความเสี่ยงอาจมากกว่าผลประโยชน์ที่อาจได้รับ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งของการทำประมงอย่างกว้างขวางที่มีความสำคัญต่อการหาเลี้ยงชีพของประชากรจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการปนเปื้อนของสภาพแวดล้อมทางทะเลอาจเหนือกว่าผลกระทบที่มาจากโรงงานนิวเคลียร์บนบก ซึ่งรวมถึงความท้าทายในการจำกัดการปล่อยของเสียโดยไม่ตั้งใจ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำจากการโจมตี
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เข้มแข็งในประเทศและประวัติการจัดการโรงงานนิวเคลียร์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ รวมถึงการทิ้งขยะนิวเคลียร์ในทิเบต เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเกิดหายนะ