ข้อตกลงชิปไรเดอร์ที่มีมานานช่วยส่งเสริมอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างและเพื่อปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
โครงการชิปไรเดอร์ ซึ่งเป็นความพยายามด้านการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายทางด้านการประมงแบบพหุภาคีในอินโดแปซิฟิกที่ประสบความสำเร็จ มีต้นกำเนิดในช่วงปลายทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) เมื่อหน่วยงานประมงการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกจัดทำข้อตกลงการบังคับใช้กฎหมายซึ่งกันและกัน
วิดีโอจาก: พ.จ.อ. ชาร์ลี ทอฟเฟสต์/จ.อ. ไท โรเบิร์ตสัน/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ
สิ่งที่ได้รับการตั้งชื่อว่าสนธิสัญญานีอูเอว่าด้วยความร่วมมือในการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงในภูมิภาคแปซิฟิกใต้นี้ มีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2536 ข้อที่ 6 ของสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นรากฐานของโครงการชิปไรเดอร์ นายริชาร์ต พรูเอตต์ อดีตนักการทูตของสหรัฐอเมริกาซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นรองหัวหน้าภารกิจให้กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก 6 ประเทศ เขียนให้กับศูนย์ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแปซิฟิกศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์เมื่อไม่นานมานี้
ในสนธิสัญญาข้อดังกล่าว ประเทศที่เข้าร่วมผ่านข้อตกลงย่อยสามารถอนุญาตให้อีกฝ่ายหนึ่งขยายขอบเขตกิจกรรมการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงเข้าไปยังทะเลอาณาเขตและน่านน้ำรอบหมู่เกาะของประเทศต้นทางได้
โครงการชิปไรเดอร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับเสถียรภาพและความมั่นคงในระดับภูมิภาค
หมู่เกาะคุกและสหรัฐฯ จัดทำความพยายามชิปไรเดอร์ขึ้นครั้งแรกในอินโดแปซิฟิกเมื่อ พ.ศ. 2551 ตอนนี้กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้จัดทำข้อตกลงการบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงแบบทวิภาคีกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก 12 ประเทศ ข้อตกลงนี้ทำให้เจ้าหน้าทหารและ/หรือเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทางทะเลของแต่ละประเทศสามารถนั่งเรือของอีกฝ่ายหนึ่ง และบังคับใช้กฎหมายภายในน่านน้ำรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับอนุญาตให้สามารถทำการสั่งหยุด ตรวจสอบ และควบคุมเรือต้องสงสัยว่ากระทำกิจกรรมทางทะเลที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
ข้อตกลงชิปไรเดอร์มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ซึ่งอาจขาดแคลนเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ทางทะเลเพื่อทำการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษอันกว้างขวางของตนเองได้อย่างเพียงพอ
ผู้เข้าร่วมจากอินโดแปซิฟิกยังรวมไปถึง ฟิจิ คิริบาตี หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู ปาเลา ปาปัวนิวกินี ซามัว ตองงา ตูวาลู และวานูอาตู ไมโครนีเซีย ปาเลา และปาปัวนิวกินียังได้ขยายขอบเขตข้อตกลงของตนเองขึ้น เพื่ออนุญาตให้กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ สามารถบังคับใช้กฎหมายของตนได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไมโครนีเซีย ปาเลา หรือปาปัวนิวกินีอยู่บนเรือ
“เรากำลังทำงานร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค เรากำลังส่งเสริมวิสัยทัศน์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างที่มีร่วมกัน” นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เมื่อปาปัวนิวกินีขยายขอบเขตข้อตกลงของตน
โครงการชิปไรเดอร์ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ในตอนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทำการอ้างสิทธิ์อย่างไม่ชอบธรรมว่าเรือประมงที่ติดธงชาติของตนได้รับการยกเว้นจากการบังคับใช้กฎหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ๆ ซึ่งที่จริงแล้ว ข้อตกลงชิปไรเดอร์ที่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศนี้ ทำให้ตำรวจวานูอาตูและกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ สามารถตรวจพบเรือประมงจีน 6 ลำที่ละเมิดกฎหมายด้านการประมงของวานูอาตู ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อเดือนมีนาคม
“การที่เราขึ้นเรือนั้นเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของประเทศเจ้าภาพที่เชิญเราขึ้นเรือเพื่อทำงานร่วมกันในการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนั้น ๆ” พล.ร.ต. ไมเคิล เดย์ กล่าวกับผู้สื่อช่าว “อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และกฎหมายระหว่างประเทศ และผมยินดีที่จะกล่าวว่ากองกำลังรักษาชายฝั่งปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมด และการขึ้นเรือเหล่านั้นต่างเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย”
เรือคัตเตอร์ แฮร์เรียต เลน ของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้ทำการลาดตระเวนซึ่งเป็นผลให้มีการขึ้นตรวจเรือ 28 ลำภายใต้ข้อตกลงชิปไรเดอร์ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ตามรายงานของสำนักข่าวเบนาร์นิวส์
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ยังได้ประกาศว่า เจ้าหน้าที่จากเรือคัตเตอร์ โอลิเวอร์ เฮนรี และหน่วยทางทะเลของตำรวจคิริบาตี ได้ขึ้นเรือประมงติดธงชาติจีนสองลำ และตรวจสอบเรือประมงจากจีนและเขตปกครองอื่น ๆ ที่เข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของคิริบาตี โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบลูแปซิฟิก ไม่พบการละเมิดใด ๆ
กองเรือประมงสากลของจีนจำนวน 4,600 ลำเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และแผ่ขยายเข้าไปในทะเลหลวงมากขึ้นในแต่ละปี ตามรายงานของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ เรือประมงจีนมักรุกล้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ๆ
จีนมีความกังวลมากขึ้นว่าโครงการชิปไรเดอร์จะขยายไปยังฟิลิปปินส์หรือเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ในดินแดนตามอำเภอใจและอย่างกว้างขวางของจีนในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของนายพรูเอตต์