กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ยืนยันความชอบด้วยกฎหมายของการลาดตระเวนและการขึ้นเรือกับหุ้นส่วนในมหาสมุทรแปซิฟิก
รอยเตอร์
เจ้าหน้าที่ระบุว่า การที่กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐอเมริกาและหุ้นส่วนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้ขึ้นเรือประมงของจีนเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการดำเนินการตามคำสั่งของประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อปกป้องการประมงบริเวณชายฝั่งของประเทศตน ซึ่งเพิกเฉยต่อคำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีนที่ว่าหน่วยลาดตระเวนร่วมเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ซึ่งหลังจากได้รับการตรวจสอบจากตำรวจท้องถิ่นซึ่งอยู่บนเรือลำแรกของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ที่ลาดตระเวนน่านน้ำของวานูอาตู พบว่าเรือประมงจีนจำนวน 6 ลำได้ละเมิดกฎหมายการประมงของวานูอาตู
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เรือประมงจีนมักรุกล้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลของประเทศอื่น ๆ กองเรือประมงสากลของสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 4,600 ลำเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และแผ่ขยายเข้าไปในทะเลหลวงมากขึ้นในแต่ละปี ตามรายงานของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ
เอกอัครราชทูตจีนประจำนิวซีแลนด์อ้างว่า การใช้ข้อตกลงชิปไรเดอร์แบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ได้แก่ คิริบาตี ปาปัวนิวกินี และวานูอาตู เพื่อ “ดำเนินกิจกรรมการบังคับใช้กฎหมายกับเรือประมงจีน” เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปฏิเสธคำกล่าวอ้างเหล่านั้น
“การที่เราขึ้นเรือนั้นเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของประเทศเจ้าภาพที่เชิญเราขึ้นเรือเพื่อทำงานร่วมกันในการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนั้น ๆ” พล.ร.ต. ไมเคิล เดย์ แห่งกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ กล่าวในพิธีเฉลิมฉลองการส่งคืนเรือตรวจการณ์ แฮเรียต เลน กลับฮาวายหลังจากการลาดตระเวนในมหาสมุทรแปซิฟิกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567
“อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และกฎหมายระหว่างประเทศ และผมยินดีที่จะกล่าวว่ากองกำลังรักษาชายฝั่งปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมด และการขึ้นเรือเหล่านั้นต่างเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย” พล.ร.ต. เดย์กล่าว
น.ท. นิโคล เทโซเนียโร ผู้บัญชาการเรือตรวจการณ์ แฮเรียต เลน กล่าวว่าข้อตกลงชิปไรเดอร์กับฟิจิ ปาปัวนิวกินี ซามัว และวานูอาตู ทำให้มีการขึ้นเรือประมง 23 ลำที่ปฏิบัติการใน “เขตเศรษฐกิจพิเศษอันห่างไกลของแต่ละประเทศ” โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นพบการละเมิดถึง 12 ครั้ง
“การกำหนดเป้าหมายของเรือภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดจนการดำเนินการบังคับใช้ทั้งหมดมีการกำหนดโดยหุ้นส่วนของเรา” น.ท. เทโซเนียโรกล่าว
กองเรือประมงของจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็น “กองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเล” โดยอ้างอิงจากกิจกรรมในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าว
“หากถึงเวลาหรือสถานที่ที่เราประสบวิกฤต… เรือประมงเหล่านั้นที่กำลังทำการประมงจะหันมาทำภารกิจกดดันประเทศเจ้าภาพหรือประเทศที่เป็นเจ้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พวกเขาดำเนินงานอยู่” พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าว
นอกจากนี้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักรยังได้ยกระดับการลาดตระเวนร่วมกันสำหรับการทำประมงที่ผิดกฎหมายกับหุ้นส่วนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งหลายแห่งไม่มีบุคลากรหรือเรือที่จำเป็นต่อการตรวจสอบน่านน้ำชายฝั่งและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตร