เหมาะสมกับ จุดประสงค์
กองทัพออสเตรเลียปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม | ภาพถ่ายจากกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
ภารกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีลำดับเหตุการณ์ คือ ดำเนินการตรวจสอบแผนยุทธศาสตร์กลาโหมและท่าทีของกองทัพออสเตรเลียอย่างครอบคลุม และออกข้อเสนอแนะภายใน 6 เดือนแทนที่จะเป็น 18 เดือนตามปกติสำหรับการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งบางทีนี่อาจเป็นการวิเคราะห์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศในรอบกว่าสามทศวรรษ “นั่นเป็นงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง” พล.อ.อ. เซอร์ แองกัส ฮุสตัน อดีตเสนาธิการกองทัพออสเตรเลียที่เกษียณอายุแล้วและผู้นำร่วมของบทวิจารณ์แผนยุทธศาสตร์กลาโหม ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพออสเตรเลียและกองทัพอากาศออสเตรเลียตลอดระยะเวลา 41 ปีในการรับราชการทหารของเขา กล่าว “แต่นี่คือความเร่งด่วนของสถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์ของเรา เราจึงจำเป็นต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วที่สุด”
สภาวะเหล่านั้น “ตกต่ำลงมาเป็นเวลานาน และนี่ถือเป็นสถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของผม” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าวกับผู้ชมที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากเผยแพร่บทวิจารณ์ฉบับที่เปิดเผยได้จำนวน 110 หน้า ปัจจัยส่วนหนึ่งสำหรับการปฏิรูประดับรากฐานด้านกลาโหมของออสเตรเลีย ได้แก่ การสั่งสมกำลังทางทหารอย่างคลุมเครือของประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค การมีรัฐที่ใช้ยุทธวิธีการบีบบังคับเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทหาร การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของการคำนวณที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง
ปัจจัยที่พร้อมปะทุเหล่านี้เป็นเค้าลางถึงการยุติ “ช่วงเวลา 40 ปีแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง” ในอินโดแปซิฟิก พล.อ.อ. ฮุสตัน
กล่าวที่สถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในขณะเดียวกัน แทบไม่ต้องพิจารณาถึงภัยคุกคามและการโจมตีทางไซเบอร์และอวกาศด้วยซ้ำ เนื่องจากแค่ขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธความเร็วเหนือเสียง กำแพงป้องกันตามธรรมชาติต่าง ๆ ของออสเตรเลียไม่ว่าจะเป็นระยะทางหรือมหาสมุทรก็ดูเหมือนจะรับมือไม่ไหวอีกต่อไป และ “เป็นครั้งแรกในประสบการณ์ของผมที่ได้เห็นว่าระยะเวลาการ เตรียมพร้อมรับมือกับความขัดแย้งแบบดั้งเดิมได้รับการประเมินไว้ว่าต่ำกว่า 10 ปี” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าวถึงการคาดการณ์ของกองทัพออสเตรเลียว่าศัตรูจะต้องใช้เวลานานเพียงใดในการโจมตีครั้งใหญ่ต่อประเทศนับจากเวลาที่ได้มีเจตนากระทำดังกล่าว
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่นโยบายกลาโหมของออสเตรเลีย “มุ่งเป้าไปที่การป้องปรามและรับมือกับภัยคุกคามระดับต่ำที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศมหาอำนาจขนาดเล็กหรือขนาดกลางในภูมิภาคใกล้เคียงของเรา” พล.อ.อ. ฮุสตัน และนายสตีเฟน สมิธ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เขียนไว้ในบทวิจารณ์ดังกล่าว “วิธีนี้ไม่เหมาะสมกับจุดประสงค์อีกต่อไป” กองทัพออสเตรเลีย “ต้องสามารถทำให้ศัตรูรู้สึกถึงความเสี่ยงจากชายฝั่งของเรามากขึ้น”
“ความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ที่เราเผชิญอยู่จำเป็นต้องมีการดำเนินการตามแนวทางใหม่ในการวางแผนการป้องกัน การวางกำลัง การวางโครงสร้างกำลัง การพัฒนาและการได้มาซึ่งขีดความสามารถ” ตามที่ระบุไว้ในบทวิจารณ์ ซึ่งนำเสนอในรูปแบบที่เป็นความลับทางราชการแก่รัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาหกเดือนหลังจากที่ พล.อ.อ. ฮุสตันและนายสมิธเริ่มทำการประเมิน “เรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงจุดยืนเพื่อไม่ให้ผู้รุกรานรายใดก็ตามมองว่ามีผลประโยชน์คุ้มค่ากับความเสี่ยง นี่คือวิธีการที่ออสเตรเลียมีส่วนช่วยสร้างความสมดุลทางยุทธศาสตร์ของอำนาจเพื่อรักษาความสงบสุขในภูมิภาคของเรา ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่ประเทศต่าง ๆ ที่จะบีบบังคับเอาผลประโยชน์ของตน

“ยุทธศาสตร์ในการปฏิเสธ”
บทวิจารณ์นี้นำเสนอข้อเสนอแนะแบบบูรณาการทุกหน่วยงานของภาครัฐซึ่งครอบคลุมทุกขอบเขตของการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางบก ทางทะเล ทางไซเบอร์ และทางอวกาศ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากกองกำลังร่วมที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ไปสู่กองกำลังแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นไปยังความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด อีกทั้งสะท้อนให้เห็นการเกิดขึ้นของไซเบอร์และอวกาศมากขึ้นในฐานะที่เป็นสมรภูมิสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
“การพัฒนายุทธศาสตร์ในการปฏิเสธสำหรับกองทัพออสเตรเลียถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับความสามารถในการปฏิเสธเสรีภาพในการดำเนินการของศัตรูเพื่อทำการบีบบังคับทางทหารต่อออสเตรเลีย และเพื่อปฏิบัติการต่อต้านออสเตรเลียโดยไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง” ตามที่ระบุไว้ในบทวิจารณ์ โดยได้เรียกร้องให้มีการจัดซื้อและพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีพิสัยไกล เช่น ระบบเครื่องยิงจรวดปืนใหญ่หลายลำกล้องอัตตาจรสูงและขีปนาวุธโจมตีแบบแม่นยำ ซึ่งจะเพิ่มพิสัยของอาวุธของกองทัพออสเตรเลียออกไปมากกว่า 500 กิโลเมตร นอกจากนี้ บทวิจารณ์ยังสนับสนุนการบูรณาการขีปนาวุธต่อต้านเรือพิสัยไกลบนเครื่องบินรบร่วม เอฟ-35เอ และเครื่องบินซูเปอร์ฮอร์เน็ต เอฟ/เอ-18เอฟ ตลอดจนการเร่งพัฒนาโดรน เอ็มคิว-28เอ โกสต์ แบท ซึ่งสามารถติดตั้งเข้ากับอากาศยานมีคนขับและอากาศยานไร้คนขับและขีดความสามารถในอวกาศได้
“ยุทธศาสตร์ในการปฏิเสธสำหรับกองทัพออสเตรเลีย ต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาขีดความสามารถในการต่อต้านการเข้าถึง/การปฏิเสธพื้นที่” บทวิจารณ์ระบุ “ขีดความสามารถในการต่อต้านการเข้าถึงมักจะอยู่ในพิสัยไกล รวมถึงออกแบบมาเพื่อตรวจจับศัตรูและป้องกันไม่ให้ศัตรูรุกรานเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติการ ขีดความสามารถในการปฏิเสธพื้นที่มีพิสัยที่สั้นกว่า และออกแบบมาเพื่อจำกัดเสรีภาพในการดำเนินการของศัตรูภายในพื้นที่ปฏิบัติการที่กำหนดไว้ การต่อต้านการเข้าถึง/การปฏิเสธพื้นที่มักมีความหมายเหมือนกับขีดความสามารถในการโจมตีพิสัยไกล สงครามใต้ทะเล และขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ”
ในฐานะส่วนหนึ่งของการยกระดับการป้องกันทางทะเลของประเทศ การพัฒนากองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ติดอาวุธตามแบบซึ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์มี “ความจำเป็นอย่างยิ่ง” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าวที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถแล่นได้ไกลกว่าและเร็วกว่า รวมถึงซ่อนตัวได้ดีกว่าเรือดำน้ำพลังงานดีเซล ในความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือออสเตรเลียคาดการณ์ว่าจะได้รับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สร้างขึ้นภายในประเทศเป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2040 (พ.ศ. 2583 – 2592) ก่อนหน้านั้น พลเรือนและบุคลากรของกองทัพออสเตรเลียจะดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับกองทัพเรือสหราชอาณาจักรและกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อทำการฝึกซ้อม “เราต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.อ. ฮุสตันและนายสมิธยังวิเคราะห์เกี่ยวกับกองเรือรบพื้นผิวน้ำของกองทัพเรือออสเตรเลียอย่างอิสระ เพื่อรับรองว่าขีดความสามารถนี้จะเสริมศักยภาพของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่วางแผนไว้ เนื่องจากประเทศต้องพึ่งพาการค้าทางทะเลเกือบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงเหลวอื่น ๆ การปฏิบัติการทางทะเลจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการวางแผนการป้องกัน ตามรายงานของนายมาร์ก วัตสัน ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “เราต้องหยุดประเทศใดก็ตามที่ปิดกั้นการสัญจรทางทะเลและเส้นทางทะเลของเรา ออสเตรเลียเป็นประเทศติดทะเล หากมีการปิดกั้นตรงจุดนั้น เราจะตกอยู่ในวิกฤต” นายวัตสันกล่าวกับนิตยสารเนชันแนล ดีเฟนส์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 “เราจำเป็นต้องเปิดการสัญจรทางทะเลเหล่านั้นไว้ และนั่นหมายถึงการมีความสามารถในการท้าทายต่อใครก็ตามที่ต้องการปิดกั้นเส้นทางนี้”
รัฐบาลออสเตรเลียได้ทุ่มเงินกว่า 453 ล้านล้านบาท (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์หรัฐ) จนถึง พ.ศ. 2570 เพื่อดำเนินการตามลำดับงานที่สำคัญอย่างเร่งด่วนหลายรายการที่ระบุไว้ในบทวิจารณ์นี้ รวมถึงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และขีดความสามารถในการโจมตีพิสัยไกล ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางตอนเหนือของประเทศ โดยรวมแล้ว การใช้จ่ายด้านกลาโหมคาดว่าจะถึงร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายในหนึ่งทศวรรษ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 2 “ศูนย์กลางความมั่นคงของออสเตรเลียถือเป็นความมั่นคงร่วมกันของภูมิภาคของเรา” กระทรวงกลาโหมระบุ “สิ่งสำคัญก็คือมีเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับความร่วมมือทางกลาโหมที่สำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

“การรุกคืบอย่างทรงพลัง”
การเปลี่ยนแปลงของกองทัพออสเตรเลียที่มีเจ้าหน้าที่ 85,000 คนสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในภูมิภาค ในขณะที่กองกำลังของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกปรับตัวเข้ากับความท้าทายด้านความมั่นคงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายกองกำลังในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีร่วมกัน เช่น
ในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 ญี่ปุ่นใช้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติใหม่ที่มีการเรียกร้องให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นสองเท่าจนถึง พ.ศ. 2570 รวมถึงเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีตอบโต้ รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างถึงการทดสอบขีปนาวุธอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของเกาหลีเหนือว่า เป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงจรวดอย่างน้อยหนึ่งลูกที่ยิงข้ามญี่ปุ่นตอนเหนือ ตลอดจนการกระทำเชิงรุกรานของสาธารณรัฐประชาชนจีนรอบหมู่เกาะเซ็งกะกุที่อยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก “นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนต่อมุมมองของญี่ปุ่นต่อด้านกลาโหม และเป็นการบ่งชี้ถึงภาพรวมภัยคุกคามในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่พัฒนาขึ้น” นางยูกะ โคชิโนะ นักวิจัยด้านนโยบายความมั่นคงและเทคโนโลยีแห่งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ กล่าวกับ ฟอรัม
การรุกรานของรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท กระตุ้นให้กองทัพฟิลิปปินส์เปลี่ยนความสนใจจากความมั่นคงภายในไปสู่การป้องกันอาณาเขต ในขณะที่ปรับปรุงความทันสมัยให้กับคลังแสงของตนด้วยระบบจรวดหลายลำกล้องและขีปนาวุธภาคพื้นดิน “หากมีผู้รุกรานเข้ามาใกล้ดินแดนฟิลิปปินส์หรือในแผ่นดินใหญ่ กองทัพของประชาชนก็พร้อมที่จะปกป้องประเทศ” พล.อ. โรมิโอ บราวเนอร์ ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวในช่วงต้น พ.ศ. 2566
ในบรรดาปัจจัยที่เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ มีปัจจัยหนึ่งที่มีนัยสำคัญและบดบังอนาคตของภูมิภาคนี้ การสั่งสมกำลังทางทหารของจีน “ได้กลายเป็นการสั่งสมกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดและมีความทะเยอทะยานมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศใด ๆ ในปัจจุบัน” นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บทวิจารณ์แผนยุทธศาสตร์กลาโหมระบุ ใน พ.ศ. 2565 รัฐบาลจีนมีคลังอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นเกือบร้อยละ 20 โดยเพิ่มหัวรบ 60 หัว ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม
“การสั่งสมกำลังทางทหารนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีความโปร่งใส หรือการสร้างความมั่นใจให้กับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกถึงจุดมุ่งหมายเชิงยุทธศาสตร์ของจีน” พล.อ.อ. ฮุสตันและนายสมิธเขียน “การยืนกรานในอธิปไตยในพื้นที่ทะเลจีนใต้ของจีนเป็นการคุกคามระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาทั่วโลกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ระดับชาติของออสเตรเลีย นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมในแข่งขันด้านยุทธศาสตร์กับประเทศใกล้เคียงของออสเตรเลีย”
การแข่งขันชิงอิทธิพลระดับภูมิภาคได้รับความสนใจอย่างมากในต้น พ.ศ. 2565 เมื่อจีนลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 700,000 คนและไม่มีกองทัพทหาร รวมถึงพึ่งพาออสเตรเลียเพื่อความมั่นคงและการวางนโยบายมายาวนาน ข้อตกลงลับดังกล่าวสร้างความกังวลถึงการมีอยู่ของทหารจีนอย่างถาวรในแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ภูมิภาคนี้สั่นคลอน แม้รัฐบาลจีนและรัฐบาลของหมู่เกาะโซโลมอนจะปฏิเสธก็ตาม ทั้งที่ตอนเหนือของออสเตรเลียจะอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทางมากกว่า 4,000 กิโลเมตร ทว่าหมู่เกาะโซโลมอนอยู่ห่างจากเมืองทาวน์สวิลล์ รัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพกองทัพอากาศออสเตรเลียและพื้นที่ฝึกซ้อมของกองทัพออสเตรเลีย ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 1,600 กิโลเมตร
“ความสามารถในการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และมีขีปนาวุธตามแบบพิสัยไกล เครื่องบินทิ้งระเบิด และเรือรบพื้นผิวน้ำขั้นสูงที่ได้เคลื่อนผ่านน่านน้ำออสเตรเลียเข้ามาแล้ว” ตามรายงานของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “การรุกคืบอย่างทรงพลัง – ตัวเลือกในการโจมตีพิสัยไกลสำหรับออสเตรเลีย”
“สถานการณ์ ‘ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด’ สำหรับยุทธศาสตร์ทางการทหารของออสเตรเลีย เป็นการที่ศัตรูปรากฏตัวในภูมิภาคใกล้เคียงของเราเสมอ ซึ่งมุ่งเป้าที่ออสเตรเลียหรือแยกเราออกจากหุ้นส่วนและพันธมิตรของเราได้ ขีดความสามารถในการโจมตีของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในหมู่เกาะทางตอนเหนือหรือแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ของเรา ไม่ว่าจะจากเรือและเรือดำน้ำ หรือขีปนาวุธและอากาศยานภาคพื้นดิน ต่างก็เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดดังกล่าว”

การยกระดับศาสตร์การปกครอง
ในขณะที่ออสเตรเลียปรับโครงสร้างกองทัพของตนเองเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันก็กำลังเสริมสร้างพันธมิตรที่มีมายาวนาน และส่งเสริมความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อขยายขีดความสามารถเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ใช้การมีส่วนร่วมทางการฑูตเป็นตัวคูณกำลังรบ “เราจำเป็นต้องยกระดับศาสตร์การปกครองไปสู่อีกระดับเพื่อให้เราสามารถมีส่วนร่วมกับประเทศเล็ก ๆ ทั้งหมดในแปซิฟิกใต้ได้ ทุกประเทศในภูมิภาคของเราและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแน่นอนหุ้นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งของเราอย่างสหรัฐอเมริกา หุ้นส่วนการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ที่ประกอบด้วยอินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคีทั้งหมดที่เรามี” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าวที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ “เราจำเป็นต้องดำเนินการใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์”
ในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 ออสเตรเลียและประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กอย่างวานูอาตูได้ลงนามในความร่วมมือที่ครอบคลุมด้านความมั่นคงชายแดน การกำกับดูแล ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลและการบิน “การดำเนินการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ของออสเตรเลียและวานูอาตูในการทำงานร่วมกันในฐานะสมาชิกของครอบครัวแปซิฟิก เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน” นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงด้านความปลอดภัยกับปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯ เคลื่อนพลจากฐานทัพต่างๆ ในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยและภารกิจการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านบรรเทาภัยพิบัติ “เรามีความสัมพันธ์อันยาวนานกับปาปัวนิวกินี เราให้ความช่วยเหลือในการพัฒนากองทัพปาปัวนิวกินีมาโดยตลอด” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าวที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ “แต่ในอนาคตข้างหน้าก็มีขีดความสามารถที่ปาปัวนิวกินีต้องการพัฒนา และเราก็จำเป็นต้องลงทุนในขีดความสามารถเหล่านั้น เช่น ขีดความสามารถทางอากาศ และเราคิดว่ามีขอบเขตที่ดีในการพัฒนากองบินซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อปาปัวนิวกินีอย่างมาก เราได้จัดหาเรือลาดตระเวนให้แก่ปาปัวนิวกินีแล้ว แต่เราอาจต้องพัฒนารูปแบบในการสนับสนุนสำหรับสิ่งที่เราจัดหาให้มากขึ้นกว่านี้
“และอีกสิ่งหนึ่ง คือ เราจำเป็นต้องฝึกซ้อมร่วมกับทุกประเทศเหล่านี้” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าว “และปาปัวนิวกินีมีสภาพแวดล้อมที่ท้าทายมาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากในสงครามโลกครั้งที่สอง และผมคิดว่าการฝึกซ้อมในปาปัวนิวกินีจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถที่เราต้องการ และยังช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่ต้องอาศัยความพยายามและมีความท้าทายมาก”
เชื่อมโยงกันด้วยค่านิยม
สองเดือนหลังจากที่ พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าว บุคลากรจากกองทัพปาปัวนิวกินีได้ส่งกำลังข้ามช่องแคบทอร์เรสที่มีความกว้าง 150 กิโลเมตร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสะพานบกที่เชื่อมระหว่างปาปัวนิวกินีไปยังปลายสุดทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมแบบพหุภาคีที่นำโดยออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นการฝึกซ้อมครั้งใหญ่ที่สุดจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปีตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยมีบุคลากร 34,500 คนจาก 13 ประเทศมายังพื้นที่ฝึกซ้อมและสถานที่อื่น ๆ ทั่วออสเตรเลีย รวมถึงในนอร์เธิร์นเทร์ริทอรีและควีนส์แลนด์ การฝึกซ้อมประกอบด้วยการยกพลขึ้นบกแบบสะเทินน้ำสะเทินบก ปฏิบัติการรบทางอากาศและทางทะเล และการซ้อมรบภาคพื้นดินเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันและความพร้อม
การฝึกทาลิสมันเซเบอร์ได้รวบรวมพันธมิตรระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐฯ ที่พร้อมจะเผชิญวิกฤติต่าง ๆ เจ้าหน้าที่กล่าว กองทัพของทั้งสองประเทศได้ต่อสู้ร่วมกันในความขัดแย้งตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงด้านการป้องกันร่วมใน พ.ศ. 2494 อีกด้วย “ความเป็นพันธมิตรของเรากับสหรัฐอเมริกามีความสำคัญต่อออสเตรเลียมากยิ่งขึ้น” บทวิจารณ์แผนยุทธศาสตร์กลาโหมระบุ
ในประเด็นดังกล่าว บทวิจารณ์นี้ได้ระบุไว้ว่า “เกือบจะเป็นการปฏิวัติด้านกลาโหม” นายชาร์ลส เอเดล ที่ปรึกษาอาวุโสและประธานศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการสนทนาระหว่างสถาบันวิจัยร่วมกับ พล.อ.อ. ฮุสตัน กล่าว “เรื่องใหญ่ในขณะนี้ คือหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดและเชื่อถือได้มากที่สุดของเรา กำลังเปลี่ยนแปลงทิศทางและวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์กลาโหมและกองทัพในหลาย ๆ ด้านอย่างมีนัยสำคัญ
ในรูปแบบที่จะเสริมและเพิ่มอำนาจของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้”
นายเอเดลกล่าวกับนิตยสารเนชันแนล ดีเฟนส์
ที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ พล.อ.อ. ฮุสตันได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ออสเตรเลียจะต้องยกระดับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ “ซึ่งยังรวมถึงการหมุนเวียนกำลังพลของสหรัฐอเมริกาในออสเตรเลียด้วย เราควรพัฒนาในด้านนี้ต่อไป” พล.อ.อ. ฮุสตันกล่าว “เห็นได้ชัดว่าเราต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด แต่ด้วยสถานการณ์ของเรา จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และพันธมิตรก็ให้ความช่วยเหลือเราเป็นอย่างดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา”
พล.อ.อ. ฮุสตันและนายสมิธเน้นย้ำในบทวิจารณ์ของตนว่า สถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์เหล่านั้นทำให้ออสเตรเลียต้องใช้องค์ประกอบทั้งหมดของอำนาจระดับชาติ รวมถึงพันธมิตรและความร่วมมือ “เพื่อสร้างภูมิภาคที่เปิดกว้าง มั่นคง และเจริญรุ่งเรือง ซึ่งหมายถึงภูมิภาคที่คาดการณ์ได้ ปฏิบัติการตามกฎ มาตรฐาน และกฎหมายที่ตกลงกันไว้ โดยที่เคารพในอำนาจอธิปไตย”