อินโดนีเซียสร้างโรงพยาบาลใหม่ 26 แห่งเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพทางทหาร

กัสดี ดา คอสตา
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 สถานการณ์ด้านการดูแลสุขภาพของอินโดนีเซียได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างโรงพยาบาลทหาร 26 แห่งเพื่อให้บริการแก่บุคลากรของกองทัพและครอบครัวของบุคลากรดังกล่าว รวมถึงชุมชนท้องถิ่น สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะใช้เป็นศูนย์การศึกษาทางการแพทย์ รวมถึงการวิจัยและการพัฒนาด้วย ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อเคมฮาน
มีการเปิดตัวโรงพยาบาลแห่งใหม่เหล่านี้และจัดแสดงในรูปแบบของโรงพยาบาลศูนย์กลาโหม 28 ชั้น ความจุ 1,000 เตียง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่พบในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นอกจากเทคโนโลยีการวินิจฉัยและการรักษาขั้นสูงแล้ว สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังติดตั้งอุปกรณ์สําหรับจัดการกับปัญหาทางการแพทย์ทหาร เช่น ภัยคุกคามที่เกิดจากอาวุธเคมี ชีววิทยา กัมมันตภาพรังสี และนิวเคลียร์ รวมถึงการบาดเจ็บจากการสู้รบ
“การแพร่ระบาดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่เสมอภาคและยืดหยุ่นทั่วประเทศ รวมถึงในกองทัพ” โฆษกกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “โรงพยาบาลศูนย์กลาโหมและโรงพยาบาลกองทัพอินโดนีเซีย 25 แห่งไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ดูแลผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของการวิจัย การฝึกอบรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านสุขภาพทางทหารอีกด้วย” การมีอยู่ของสถานที่เหล่านี้เป็นเสาหลักในการสนับสนุนความพร้อมและความสามารถในการฟื้นฟูด้านกลาโหมของประเทศ โดยคำนึงถึงภัยคุกคามด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพด้านความมั่นคง
“นี่ไม่ใช่แค่โครงการทางกายภาพ แต่เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อปกป้องอธิปไตยด้านสุขภาพและความมั่นคงของประเทศ” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
โรงพยาบาลเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยใกล้กับฐานทัพทหารทั่วประเทศและยังให้การดูแลขั้นสูงแก่ชุมชนพลเรือน “โรงพยาบาลทหารอย่าง ยุธิษฐิระ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองจีมาฮีที่ผมอาศัยอยู่ เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการพลเรือนและกองทัพและได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้” นายทึคุ เรซาสยา อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปัดจาดจารัน กล่าวกับ ฟอรัม
ประเทศหมู่เกาะนี้ตั้งอยู่ตามแนววงแหวนแห่งไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับพายุโซนร้อนและน้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติทําให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนต่อปีและชาวอินโดนีเซียหลายหมื่นคนต้องพลัดถิ่น โรงพยาบาลใหม่เหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นสถานพยาบาลฉุกเฉินเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย
นอกเหนือจากมาตรการอื่น ๆ แล้ว รัฐบาลได้วางระบบติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานร่วมกับอุตสาหกรรมการแพทย์และผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพพลเรือนเพื่อเปิดใช้งานโรงพยาบาล
“ด้วยมาตรการเหล่านี้ โรงพยาบาลศูนย์กลาโหมและโรงพยาบาลทหารอื่น ๆ สามารถรับรองได้ว่ามีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยและบุคลากรด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อให้บริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดแก่บุคลากรของกองทัพอินโดนีเซีย ข้าราชการ ครอบครัว และชุมชน” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
โรงพยาบาลศูนย์กลาโหมจะทําหน้าที่เป็นโรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซีย และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวในพิธีเปิดใช้งานเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์
เรื่องนี้สอดคล้องกับที่มหาวิทยาลัยกลาโหมเน้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงคณะแพทย์ทหารและเภสัชศาสตร์ทหารใหม่ นายเดฟ ลักโซโน สมาชิกสภานิติบัญญัติของคณะกรรมาธิการ 1 สภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ซึ่งดูแลด้านกลาโหมและกิจการต่างประเทศ กล่าวกับ ฟอรัม
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย