ความร่วมมือโอเชียเนีย

ออสเตรเลียให้คำมั่นว่าจะจัดหาเงินทุนสำหรับความร่วมมือทางทะเลเมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียนเริ่มต้นขึ้น

เรดิโอฟรีเอเชีย

รัฐบาลออสเตรเลียจะลงทุนเป็นมูลค่า 1.4 พันล้านบาท (ประมาณ 41.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 4 ปีข้างหน้าเพื่อขยายความร่วมมือทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวในช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

นางหว่องได้ให้คำมั่นสัญญานอกรอบการประชุมสุดยอดพิเศษระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน กับออสเตรเลียที่เมลเบิร์น ซึ่งนับเป็นการครบรอบ 50 ปีของความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ การประชุมสุดยอดนี้จัดขึ้นท่ามกลางท่าทีเชิงรุกรานที่มากขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในทะเลจีนใต้ และสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้นในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน

นางหว่องกล่าวว่าเงินทุนใหม่จะช่วยสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาค “สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ในช่องแคบไต้หวัน ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก ล้วนส่งผลกระทบต่อเรา” นางหว่องกล่าวในคำปราศรัยหลักของเธอ

นางหว่องกล่าวว่า “อัตลักษณ์” ของภูมิภาคกำลังถูกท้าทาย และต้องไม่มีประเทศใดที่มีอำนาจครอบงำเหนือผู้อื่น

“เราเผชิญกับการทำลายเสถียรภาพ การกระทำเชิงยั่วยุและบีบบังคับ รวมถึงการดำเนินการที่ไม่ปลอดภัยในทะเลและทางอากาศ ตลอดจนการจัดกำลังทหารในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท” นางหว่องกล่าว โดยไม่ได้เจาะจงถึงประเทศใด

จีนทำการอ้างสิทธิ์ในอำนาจอธิปไตยในพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นน่านน้ำที่มีการค้าทางเรือมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล่นผ่านเข้ามาในแต่ละปี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อ้างสิทธิ์รายอื่น ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม

ใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้คัดค้านพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการอ้างสิทธิ์ที่กว้างขวางของจีนทั้งทางทะเลและดินแดนเกือบทั้งหมด โดยระบุว่าการที่รัฐบาลจีนยืนกรานที่จะยึดถือ “สิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณกาล” ต่อน่านน้ำดังกล่าวนั้นไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล

รัฐบาลจีนไม่เคยยอมรับคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

นายเอนริเก้ มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ได้กล่าวในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่า หลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานสำหรับความร่วมมือทางทะเล

“ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลทะเลและมหาสมุทรในภูมิภาคนี้ทำให้เราจำเป็นต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อรักษาความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะได้รับผลลัพธ์ที่เสมอภาคและยั่งยืน” นายมานาโลกล่าว

ภายใต้การนำของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ได้แสดงจุดยืนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการรับมือกับรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังได้เสริมความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรของฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนาน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลจีนได้นำไปสู่การเผชิญหน้ากันหลายครั้ง รวมถึงการคุกคามจากกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนต่อเรือของฟิลิปปินส์ที่กำลังส่งมอบเสบียงให้กับกองกำลังที่ด่านทหารชั้นนอกในสันดอนโทมัสที่สองในทะเลจีนใต้

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ได้ส่งเรือลาดตระเวนไปยังเบนแฮมไรซ์ ซึ่งเป็นที่ราบสูงใต้ทะเลที่อุดมไปด้วยทรัพยากรจำนวนมากที่อยู่นอกชายฝั่งทางตะวันออกของหมู่เกาะของฟิลิปปินส์ ท่ามกลางรายงานที่ระบุว่ามีเรือวิจัยของจีนอยู่ในที่ดังกล่าว เรือ บีอาร์พี อาเบรลลา ซีลัง ก็จะไปยังหมู่เกาะบาตาเนสทางตอนเหนือที่อยู่ใกล้กับไต้หวันด้วยเช่นกัน กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ระบุ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button