ความร่วมมือโอเชียเนีย

สหรัฐฯ กระชับความร่วมมือกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

เบนาร์นิวส์

หลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในร่างกฎหมายซึ่งรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือ 2.5 แสนล้านบาท (ประมาณ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แก่พันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิก 3 ประเทศ ผู้นำประเทศต่าง ๆ ระบุว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหพันธรัฐไมโครนีเซีย หมู่เกาะมาร์แชลล์ และปาเลา จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

“สหพันธรัฐไมโครนีเซียและสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงกันและผมเชื่อว่าผลลัพธ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศของเรา รวมถึงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้งสองประเทศ อีกทั้งความมั่นคงและเสถียรภาพที่มากขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลก” นายเวสลีย์ ซิมินา ประธานาธิบดีสหพันธรัฐไมโครนีเซีย กล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ทางออนไลน์

ตามข้อตกลงที่เรียกว่าสัญญาความสัมพันธ์เสรี ประเทศหมู่เกาะที่มีประชากรอยู่อาศัยรวมกันประมาณ 200,000 คนจะอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าสู่ดินแดนทางทะเลอันกว้างใหญ่ของตน และอนุญาตให้สหรัฐฯ ปฏิเสธประเทศอื่น ๆ เข้าสู่น่านน้ำระหว่างฮาวายและฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากการจัดหาเงินทุนแล้ว ข้อตกลงเหล่านี้อนุญาตให้พลเมืองของทั้งสามประเทศอาศัยและทำงานในสหรัฐฯ ได้

ในสถานการณ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามมีอิทธิพลในแปซิฟิก ประเทศหมู่เกาะเหล่านี้ได้ลงนามข้อตกลงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจใหม่กับสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2566 โดยมอบเงิน 2.5 แสนล้านบาท (ประมาณ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายใน 20 ปี การอนุมัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และการลงนามของประธานาธิบดีไบเดนถือเป็นการสรุปข้อตกลงเหล่านั้น

นางฮิลดา ไฮน์ ประธานาธิบดีหมู่เกาะมาร์แชล กล่าวว่าสภานิติบัญญัติของประเทศยังคงต้องอนุมัติข้อตกลงที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งรวมถึงการมอบเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่กองทุนรวมแห่งชาติภายในสี่ปี

การอนุมัติกฎหมายของสหรัฐฯ “แสดงถึงก้าวสําคัญของเราด้านความพยายามร่วมกันและยั่งยืนในการเสริมสร้างสัญญา” นางไฮน์กล่าวในแถลงการณ์ ซึ่งสัญญาฉบับนี้ “มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและความปลอดภัยในภูมิภาคของเรา”

หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นสถานที่ที่สหรัฐฯ ดําเนินการทดสอบขีปนาวุธนําวิถีและการเฝ้าระวังอวกาศที่แนวปะการังควาจาลีน ในปาเลา กองทัพสหรัฐฯ กำลังสร้างสถานีเรดาร์เหนือเส้นขอบฟ้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเตือนภัยล่วงหน้า

นายซิมินาและผู้นำประเทศหมู่เกาะคนอื่น ๆ ได้เตือนว่าความไม่แน่นอนของเงินทุนในช่วงแรก “นำไปสู่โอกาสที่ไม่พึงประสงค์ต่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้มีบทบาททางการเมืองที่มีการแข่งขันสูงในแปซิฟิก”

จีนได้สานสัมพันธ์กับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก เนื่องจากจีนพยายามที่จะใช้วิธีการทางการทูตแยกไต้หวันที่ปกครองตนเองออกจากประเทศอื่น ๆ และสร้างพันธมิตรในองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลจีนอ้างว่าไต้หวัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางประชาธิปไตยและศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีระดับโลก เป็นดินแดนของตนและข่มขู่ว่าจะใช้กําลังผนึกไต้หวันเข้าด้วยกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button