วิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน
ผู้บังคับบัญชากองทัพบกฟิลิปปินส์: สถานการณ์ด้านความมั่นคงผลักดันให้มีการฝึกอบรมแบบพหุชาติในอินโดแปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ารยับยั้งสงครามเป็นเหตุผลหลักในการเตรียมพร้อมรับมือสงคราม พล.อ. โรมิโอ บราวเนอร์ ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวกับ ฟอรัม นอกรอบการประชุมสัมมนาและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่รัฐฮาวาย การฝึกอบรมและการฝึกซ้อมแบบพหุชาติมีความก้าวหน้าและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในบรรดากองทัพที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่ว
ทั้งอินโดแปซิฟิก พล.อ. บราวเนอร์กล่าวในระหว่างหัวข้อปราศรัยหลักของตน “ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ กำลังผลักดันให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในภูมิภาคนี้” พล.อ. บราวเนอร์
กล่าวเสริม
กิจกรรมแบบพหุชาตินี้ทำให้กองทัพเข้าถึงแนวคิดการปฏิบัติการและการจัดระเบียบ รวมถึงระบบอาวุธที่ทันสมัย พล.อ. บราวเนอร์กล่าว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยเร่งพัฒนาการในการเรียนรู้ขีดความสามารถที่สําคัญ โดยกองทัพอาจฝึกในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หรือในสถานการณ์จริงที่มีการจำลองศัตรูขึ้นมา การฝึกอบรมแบบพหุชาติยังส่งเสริมการทํางานร่วมกันและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหุ้นส่วนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภารกิจในอนาคต พล.อ. บราวเนอร์กล่าว
“และที่สำคัญกว่านั้น การฝึกซ้อมแบบพหุชาติทำให้กองทัพมีบทบาทมากขึ้นด้วยข้อมูลทางยุทธศาสตร์” พล.อ. บราวเนอร์กล่าวต่อ “การฝึกอบรมแบบพหุชาติแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่มีร่วมกันของประเทศที่เข้าร่วมเพื่อให้การป้องปรามแบบบูรณาการเกิดประสิทธิภาพ” พล.อ. บราวเนอร์กล่าวกับ ฟอรัม ว่ากองทัพฟิลิปปินส์ถือว่าตนเป็นกองกำลังเล็ก ๆ ในเวทีโลก ดังนั้นการฝึกอบรมร่วมกับพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกา ถือเป็นกระบอกเสียงสำหรับเราที่ช่วยให้เราสามารถสื่อสารไปทั่วโลกได้
“เมื่อเราฝึกอบรมร่วมกัน เราจะสร้างขีดความสามารถของเราเอง และสร้างขีดความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้ เมื่อเกิดเหตุจำเป็น” พล.อ. บราวเนอร์กล่าว “จุดมุ่งหมายก็เพื่อยับยั้งสงคราม โดยการทำให้โลกรู้ว่าเรากำลังทำงานร่วมกัน และทำให้รู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องโต้ตอบจนถึงที่สุด”
พื้นที่ส่วนรวม
กองทัพฟิลิปปินส์ได้ขยายการมีส่วนร่วมระดับพหุชาติท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในอินโดแปซิฟิก สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ส่วนใหญ่ โดยฝ่าฝืนคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ทำให้การอ้างสิทธิ์ในดินแดนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลจีนพยายามอย่างหนักเพื่อปฏิเสธการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศชายฝั่งและมักจะคุกคามเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์เป็นประจำ
ความสำคัญของภูมิภาคในกิจการระดับโลกและสถานการณ์ด้านความมั่นคงเป็นตัวกําหนดลักษณะและขอบเขตของการฝึกอบรมแบบพหุชาติ พล.อ. บราวเนอร์กล่าว “เป็นที่แน่นอนแล้วว่าสิบปีที่ผ่านมา อินโดแปซิฟิกได้กลายเป็นศูนย์กลางในกิจการโลกเพิ่มมากขึ้น” พล.อ. บราวเนอร์กล่าว อินโดแปซิฟิกเป็นแหล่งทำธุรกิจของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกสามประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลกบางประเทศ
ภูมิภาคนี้เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน และเป็นช่องทางสําคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งทั่วโลกจะต้องผ่านอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นแหล่งการทำประมงรวมถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ (ดูช่องแคบทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หน้า 32 – 33) “ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต่างก็แข่งขันกันเพื่อเข้าถึงแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ของภูมิภาค ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นเวทีสำหรับการแข่งขันหรือความร่วมมือระดับโลก” พล.อ. บราวเนอร์กล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก “นั่นคือเหตุผลที่เราป้องกันความเสี่ยงโดยการเตรียมพร้อมบทบาทของกองทัพอย่างรอบคอบในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และการฝึกอบรมแบบพหุชาติจะมีส่วนช่วยในการเตรียมพร้อมนี้ได้อย่างมาก”
มากกว่าครึ่งหนึ่งของกองทัพและกองกําลังป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก 25 แห่งปฏิบัติการอยู่ในภูมิภาคนี้ ตามการจัดอันดับของโกลบอล ไฟร์พาวเวอร์ พ.ศ. 2566 ที่ติดตามการใช้จ่ายด้านกลาโหม ความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดจากการเข้ามามีบทบาทของของมหาอํานาจเหล่านี้ยังเป็นการเปิดโอกาสในการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพของภูมิภาค “ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการทำงานร่วมกันบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้โดยการทำงานร่วมกับกองทัพที่มีอุดมการณ์เดียวกันในบริษัทยักษ์ใหญ่” พล.อ. บราวเนอร์กล่าว
สภาพแวดล้อม ความรับผิดชอบ และค่านิยมที่มีร่วมกันจะช่วยส่งเสริมความสําคัญของการฝึกอบรมแบบพหุชาติต่อไป
สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคมีข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนที่ก่อให้เกิดยุทธวิธีต่อต้านการเข้าถึงและต่อต้านการยึดครองพื้นที่ที่ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยการฝึกอบรมร่วมกันจะทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถประสานมาตรการรับมือ แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพิ่มขีดความสามารถ และพัฒนาแนวทางร่วมกันในการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง
ภัยคุกคามที่มีร่วมกัน ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และจากธรรมชาติ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันข่าวกรอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกัน และพัฒนากลยุทธ์ร่วมกัน
บทบาทของกองทัพในภูมิภาคประกอบด้วยความรับผิดชอบรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ในการปกป้องประชาชนและดินแดน
วิสัยทัศน์ร่วมกัน เช่น อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ให้ความสำคัญกับกฎหมายระหว่างประเทศ เสรีภาพในการเดินเรือและการบินข้ามน่านฟ้า การระงับข้อพิพาทอย่างสันติ และการพัฒนาเศรษฐกิจ
ปัจจัยเหล่านี้ “เป็นประเด็นเร่งด่วนสำหรับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน” ซึ่งกองทัพของประเทศเหล่านี้ต้องรวมตัวกันเพื่อฝึกอบรมในขณะที่ยังมีเวลาในการยับยั้งหรือชะลอภัยคุกคาม พล.อ. บราวเนอร์กล่าว
“ความสัมพันธ์ที่เรากําลังสร้างขึ้นร่วมกันนั้นมีคุณค่าอย่างแท้จริง” พล.อ. บราวเนอร์กล่าวกับ ฟอรัม “ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาขีดความสามารถ ไม่ใช่เพียงแค่การทำงานร่วมกัน แต่ความสัมพันธ์ที่เราต้องการนั้นมีความหมายอย่างยิ่งเมื่อเราร่วมกันรับมือกับภัยคุกคาม”
การสร้างความร่วมมือ
การมีส่วนร่วมระหว่างประเทศถือเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากกองกำลังจะได้เพิ่มขีดความสามารถ เสริมการสนับสนุนการปฏิบัติการ และวิเคราะห์จุดอ่อน ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะ กองทัพฟิลิปปินส์ยังคงขยายการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ในฐานะผู้เข้าร่วมที่ค่อนข้างเป็นหน้าใหม่ในการฝึกอบรมแบบพหุชาติ พล.อ. บราวเนอร์กล่าว อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงได้สร้างประโยชน์ให้กับฟิลิปปินส์แล้ว ทั้งการแก้ปัญหาอาวุธยุทโธปกรณ์ การเสริมสร้างขีดความสามารถ โครงการลดภัยคุกคาม โครงการความมั่นคงทางทะเล ตลอดจนการฝึกอบรมและการศึกษา
การฝึกบาลิกาตัน พ.ศ. 2566 ถือเป็นการฝึกทางทหารประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของกองทัพฟิลิปปินส์และกองทัพสหรัฐฯ โดยมีกำลังพลมากกว่า 17,000 นาย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถหลายด้านตั้งแต่การปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกยิงด้วยกระสุนจริง การทำสงครามในเมือง การป้องกันภัยทางอากาศ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย ไปจนถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการเตรียมการบรรเทาภัยพิบัติ โดยมีบุคลากรจากบรูไน แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย อังกฤษ และเวียดนามเข้าร่วมสังเกตการณ์
นอกจากการฝึกบาลิกาตันแล้ว ยังมีทหารฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ราว 3,000 นายเข้าร่วมการฝึกซ้อมซาลักนิบใน พ.ศ. 2566 ซึ่งพันธมิตรทั้งสองกำลังพัฒนาเป็นการฝึกซ้อมแบบพหุชาติ พล.อ. บราวเนอร์กล่าว ญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การฝึกซ้อมซาลักนิบที่ยกระดับขึ้น ซึ่งในภาษาอีโลกาโนของฟิลิปปินส์ ซาลักนิบ แปลว่า โล่ และมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการป้องกัน
การมีส่วนร่วมในระดับพหุชาติอีกครั้งหนึ่งที่ศูนย์เตรียมความพร้อมข้ามชาติร่วมแปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้เปิดโอกาสให้บุคลากรของฟิลิปปินส์ได้ร่วมฝึกกับกองกำลังของอินโดนีเซียและไทย รวมถึงกองกำลังร่วมของสหรัฐฯ ในปลาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีบุคลากรเข้าร่วมการฝึกซ้อมกว่า 6,000 คน และมีประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ได้แก่ ออสเตรเลีย
บังคลาเทศ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ศูนย์ฝึกซ้อมการรบของฮาวายยังมีวิทยาเขตในอะแลสกาและมีความสามารถในการฝึกอบรมที่สามารถส่งออกได้สําหรับส่วนอื่น ๆ ของอินโดแปซิฟิก ซึ่งจะจำลองสถานการณ์จริงสำหรับการรบกับศัตรูในระดับเดียวกันและระดับใกล้เคียงกันที่อาจเกิดขึ้นในสมรภูมิรบ
พล.อ. บราวเนอร์ยังกล่าวถึงการฝึกซ้อมคาราบารู ซึ่งกองทัพออสเตรเลียเป็นผู้จัด โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เพิ่มขีดความสามารถด้านอาวุธร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานร่วมกันในด้านการสู้รบ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเพิ่มความพร้อมรบ การฝึกซ้อมคาราบารู เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมในโครงการพรีเดเตอร์รันและเซาเทิร์นไทเกอร์ และโครงการแลกเปลี่ยนคาร์ติคาเบอร์รา ซึ่งมีกองกำลังจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์มะนิลาบูลเลติน
กองทัพฟิลิปปินส์ได้ร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมยามะซากุระร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นและกองทัพสหรัฐฯ พล.อ. บราวเนอร์กล่าวว่าประเทศของตนหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ การฝึกซ้อมยามะซากุระ เป็นส่วนสำคัญของแนวทางปฏิบัติการของกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังทำลายล้างของกองกำลังร่วมระหว่างกองทัพของหลายประเทศ
พล.อ. บราวเนอร์ได้แนะนำแนวทางปฏิบัติที่คล่องตัวเพื่อรองรับประเทศหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการฝึกอบรมแบบพหุชาติมากขึ้น โดยกล่าวว่า “เราควรดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อเปิดรับกองทัพที่มีอุดมคติร่วมกันของเราที่ยึดถือระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา” พล.อ. บราวเนอร์ได้สนับสนุนกลไกการแบ่งเบาภาระหน้าที่เพื่อให้ประเทศขนาดเล็กมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องและเรียกร้องให้ผู้นําคนอื่น ๆ ยอมรับช่องว่างในความก้าวหน้าของกองทัพอินโดแปซิฟิกและตระหนักถึงคุณค่าของความพยายามที่คล้ายคลึงกันเพื่อเสริมสร้างการทํางานร่วมกันอย่างเต็มที่
บทเรียนจากประวัติศาสตร์
พล.อ. บราวเนอร์และ พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ได้เดินทางไปเยือนเกาะกอร์เรฮีดอร์ของฟิลิปปินส์เมื่อกลาง พ.ศ. 2566 เพื่อเยี่ยมชมสถานที่ที่รำลึกถึงการเสียสละร่วมกันของกองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ที่ปกป้องประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 80 ปีก่อน ในขณะที่ทั้งสองอ่านป้ายบันทึกข้อความทางประวัติศาสตร์ของสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษ 1900 (พ.ศ. 2443 – 2452) ซึ่งพล.อ. ฟลินน์ได้ตั้งข้อสังเกตที่สอดคล้องกับ พล.อ. บราวเนอร์ว่า “เขากล่าวว่าตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2448 เราและกองกำลังของเรากำลังเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในอีกสี่สิบปีต่อมา
“พล.อ. ฟลินน์พูดกับผมว่า ‘โรมิโอ เราอาจจะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่นี่เพราะวันนี้เราได้ทำงานร่วมกัน ฝึกอบรมร่วมกัน และเตรียมความพร้อมรับมือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกครั้ง และสิ่งนั้นอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าครบรอบสี่สิบปี’ ”
ดังที่ พล.อ. บราวเนอร์กล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกว่า “เราต้องเตรียมพร้อมรับมือสงครามโดยเร็วที่สุด และวิธีการเตรียมพร้อมรับมือสงคราม หรือวิธีการยับยั้งสงคราม ก็คือการฝึกซ้อมร่วมกัน”