การแพร่ขยายอาวุธเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

รายงานจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า เกาหลีเหนือจัดหาทุนสนับสนุนโครงการอาวุธโดยใช้อาชญากรรมทางไซเบอร์

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากองค์การสหประชาชาติกล่าวว่าเกาหลีเหนือได้ขโมยเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อใช้เป็นเงินทุนสําหรับอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของรัฐบาล องค์การสหประชาชาติได้ค้นพบการโจมตีทางไซเบอร์ที่ต้องสงสัยว่ามาจากเกาหลีเหนือ 58 ครั้งระหว่าง พ.ศ. 2560 ถึง 2566 ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท (ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติกล่าวว่ากลุ่มแฮกเกอร์ที่ทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองต่างประเทศหลักของรัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงดําเนินการโจมตีทางไซเบอร์ต่อไป

ไม่กี่วันก่อนที่รายงานฉบับนี้จะออก เกาหลีใต้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือ แนวทางของรัฐบาลเกาหลีใต้มีพื้นฐานมาจากยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 หลังจากการจัดตั้งคณะทํางานไตรภาคีกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์จากเกาหลีเหนือที่เพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์ใหม่นี้เน้นการเสริมสร้างความสามารถในการชิงลงมือก่อนและโจมตีมากขึ้น

ไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่กล่าวว่า ทางบริษัทได้ทำลายความพยายามของเกาหลีเหนือและประเทศอื่น ๆ รวมทั้งอิหร่าน สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย ในการละเมิดเครือข่ายโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างสรรค์ แฮกเกอร์ชาวเกาหลีเหนือได้เจาะระบบอีเมลผู้ช่วยคนหนึ่งของนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก่อนที่จะเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของบีบีซี

“ยุทธศาสตร์ที่ปรับปรุงใหม่นี้ระบุอย่างชัดเจนถึงยุทธศาสตร์การตอบโต้เชิงรุกในระดับประเทศเพื่อรับมือกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติและรัฐบาล ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ของเกาหลีใต้ และรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายจากเกาหลีเหนือ” นายคิม โซจอง ผู้อำนวยการการศึกษาด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นใหม่ของสถาบันยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติในกรุงโซล กล่าวกับเอ็นเคนิวส์ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน รวมถึงประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต และประเทศในอินโดแปซิฟิกเพื่อยับยั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือ

“การพยายามรับมือกับปัญหาท้าทายเหล่านี้ด้วยตนเองมีข้อจำกัด” นายคิมกล่าว “ความร่วมมือเชิงรุกกับประชาคมโลกมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือ”

ความพยายามของเกาหลีเหนือในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงอาวุธและปัญญาประดิษฐ์ ถูกขัดขวางจากการคว่ำบาตรของนานาชาติมาเป็นเวลานาน แฮกเกอร์ทำการขโมยเงิน ซึ่งมักจะเป็นสกุลเงินดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร รวมถึงการใช้งานทางทหาร เช่น การทำสงครามและการเฝ้าระวัง ตลอดจนการปรับปรุงความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยเตือนว่าการใช้งานด้านพลเรือนนี้อาจเปลี่ยนเป็นการใช้งานทางทหารได้ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติกล่าวว่าเครื่องปฏิกรณ์น้ำมวลเบาของโรงงานนิวเคลียร์หลักในยองบยอนของเกาหลีเหนือ “ดูเหมือนจะทํางานอยู่” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้สงสัยว่ารัฐบาลเกาหลีเหนืออาจใช้เครื่องปฏิกรณ์นี้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

นายฮยอก คิม นักวิจัยจากศูนย์การศึกษานานาชาติเพื่อการศึกษาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สถาบันมิดเดิลเบอรี กล่าวว่า เกาหลีเหนือร่วมมือกับจีนในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานและความปลอดภัยของนิวเคลียร์

“ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างเกาหลีเหนือและนักวิชาการต่างชาติทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตร” นายคิมเขียนระบุในบทความที่ตีพิมพ์ใน 38 นอร์ท เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 สำหรับศูนย์วิจัยสติมสันเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ “นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของพลเรือนไปใช้งานทางทหารจะนํามาซึ่งความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีการประมวลผลบนระบบคลาวด์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะทาง”

ยุทธศาสตร์ไซเบอร์ใหม่ของเกาหลีใต้เป็นความพยายามร่วมกันของสํานักงานความมั่นคงแห่งชาติ สํานักข่าวกรองแห่งชาติ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แผนงานประกอบด้วยการสร้างระบบตอบสนองที่รวดเร็วและการสนับสนุนนวัตกรรมของบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากความร่วมมือกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับสหราชอาณาจักรเมื่อเร็ว ๆ นี้และจะแสวงหาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกนาโตอื่น ๆ

“ในอดีต แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเราเป็นการป้องกันจากมุมมองด้านความปลอดภัยเป็นหลัก” นายลิม จองอิน ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลีและที่ปรึกษาพิเศษของนายยุน กล่าวกับเอ็นเคนิวส์ นายลิมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ “สอดคล้องกับทิศทางที่สหรัฐฯ รักษาความสามารถในการโจมตีและใช้ท่าทีเชิงรุก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button