ทรัพยากรส่วนรวมของโลกสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซียบุกเบิกแนวทางการจัดหาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบอุทกภัย

ทอม แอบกี

การจัดหาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลอินโดนีเซีย รวมถึงภาคส่วนกลาโหมของอินโดนีเซียด้วย เนื่องด้วยมีบ้านหลายล้านหลังที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 4 ของโลกแห่งนี้ มหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซียหรือที่รู้จักกันในชื่ออันฮันรี ได้เริ่มดำเนินโครงการสร้างบ้านลอยน้ำและบ้านที่มีเสาค้ำยันยกสูงในหมู่บ้านชาวประมงทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา โครงการนี้ให้สัญญาว่าจะเป็นต้นแบบสำหรับการจัดหาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียหรือเคมฮัน

มีประชาชนเกือบ 200 คนเสียชีวิต และที่อยู่อาศัยกว่า 1 ล้านแห่งถูกทำลายโดยอุทกภัยในอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2565 ตามรายงานของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกา บ้านลอยน้ำและบ้านที่มีเสาค้ำยันยกสูงมีความทนทานต่อการเกิดอุทกภัยและน้ำขึ้น ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

บ้านลอยน้ำเป็นบ้านที่สร้างขึ้นบนฐานรองแล้วยึดไว้กับที่ แต่สามารถลอยสูงขึ้นและต่ำลงได้ตามระดับน้ำ ทำให้บ้านลักษณะนี้เหมาะกับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยหรือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามฤดูกาล บ้านที่มีเสาค้ำยันยกสูงสร้างขึ้นบนฐานรองที่ยกสูงขึ้นหรือเสาค้ำยัน และเป็นแบบบ้านดั้งเดิมในกรุงจาการ์ตาและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยอื่น ๆ ในหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย

เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซียได้สร้างบ้านลอยน้ำ 12 ยูนิตเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน 51 คน และบ้านลอยน้ำ 6 ยูนิตสำหรับประชาชนอีก 21 คนที่อยู่ในหมู่บ้านพลูอิตในเขตเปินจาริงกัน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางสวนสาธารณะและกีฬาขึ้นให้กับชุมชนชาวประมง โดยมีแผนที่จะสร้างสะพานลอยน้ำสำหรับการเดินเท้า 8 แห่ง และสะพานลอยน้ำสำหรับยานพาหนะอีก 2 แห่ง

การจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่จะช่วยเหลือชาวบ้านในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอุทกภัย และช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาด ช่วยให้พวกเขารักษาวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตของตนเองต่อไปได้ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีชาวประมงมากกว่า 12 ล้านคน และเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากการประมงรายใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาคส่วนการประมงได้สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของอินโดนีเซียเป็นมูลค่ามากกว่า 9.61 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี ตามรายงานของกองทุนเพื่อการลงทุนเอซีเวนเจอส์ ในกรุงจาการ์ตา

มหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซียยังได้สร้างระบบการผลิตไฟฟ้าแบบออฟกริด สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลและการบำบัดน้ำเสีย เพื่อรองรับการพัฒนาการจัดหาที่อยู่อาศัย

“โครงการนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซียในการมีส่วนสนับสนุนชุมชนผ่านกิจกรรมการบริการที่มีการวางแผนและจัดทำโครงสร้างมาเป็นอย่างดี” กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียระบุในการแถลงข่าว “ด้วยความพยายามนี้ มหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซียคาดหวังว่าสภาพความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชาวประมงในหมู่บ้านพลูอิตจะพัฒนาขึ้น และผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจะมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น”

โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของนายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียและประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้ง สำหรับโครงการบริการชุมชนของมหาวิทยาลัยกลาโหมอินโดนีเซีย กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียระบุ

งบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการจัดหาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ตาโพสต์ กองทุนเพื่อการจัดหาเงินทุนให้บ้านที่มีราคาถูกมูลค่า 3.91 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นมากกว่า 4.27 พันล้านบาท (ประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button