จีนปรับแหล่งน้ำ เป็นอาวุธ
เขื่อนขนาดใหญ่แห่งล่าสุดของจีนก่อให้เกิดอันตรายทางสิ่งแวดล้อมต่ออินโดแปซิฟิก
พรหม เชลลานีย์
นน้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามากที่สุด สาธารณรัฐประชาชนจีนครอบครองน่านน้ำในเอเชีย เนื่องจากจีนได้ควบคุมที่ราบสูงทิเบตซึ่งทำหน้าที่เป็นกันชนกับอินเดีย จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของนายเหมา เจ๋อตง ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในช่วงต้นทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493 – 2502)
ตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2565 รัฐบาลจีนได้เพิ่มความกังวลด้านความมั่นคงด้วยการเพิ่มความพยายามในการปรับกระแสน้ำข้ามพรมแดนของแม่น้ำระหว่างประเทศเป็นอาวุธ โดยมีต้นน้ำจากบนที่ราบสูงซึ่งอุดมไปด้วยน้ำพร้อมกับแผนการสร้างเขื่อนที่เต็มไปด้วยอันตราย
ที่ราบสูงทิเบตเป็นแหล่งต้นน้ำของระบบแม่น้ำสายสำคัญ 10 สายของเอเชีย และเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายที่ทอดไปยังประเทศต่าง ๆ มากกว่าสิบประเทศ ซึ่งตอกย้ำถึงสถานะประเทศริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นเอกลักษณ์ของจีน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะเป็นกุญแจสำคัญในความสัมพันธ์ที่มั่นคงและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศริมฝั่งแม่น้ำ ทว่าก็เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลจีนไม่เคยมีข้อตกลงการแบ่งปันน้ำหรือสนธิสัญญาความร่วมมือกับประเทศปลายน้ำแม้แต่ประเทศเดียว ในทางกลับกัน อินเดียได้มีข้อตกลงการแบ่งปันน้ำร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ รวมถึงบังกลาเทศและเนปาล
ความจริงจังในการสร้างเขื่อนของจีนได้มุ่งความสนใจไปยังแม่น้ำระหว่างประเทศมากขึ้น ความพยายามของรัฐบาลจีนในการใช้ประโยชน์จากการควบคุมที่ราบสูงทิเบตในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศริมฝั่งแม่น้ำนับเป็นส่วนสำคัญสำหรับวัตถุประสงค์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้าง โดยได้มีการใช้สงครามที่ไม่มีต้นแบบแน่นอนหรือสงครามลูกผสมที่รู้จักกันในชื่อ “สงครามไร้ข้อจำกัด” มากขึ้น ซึ่งเป็นคำที่เจ้าหน้าที่ทางทหารของจีนบัญญัติขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
เนื่องด้วยแบบจำลองที่ยอมรับการทำสงครามทางอ้อมทุกรูปแบบนี้เอง จีนจึงได้เดินหน้าวาระการขยายตัวและการบีบบังคับ ถึงกระนั้น จีนก็พยายามที่จะบิดเบือนการกระทำที่แข็งกร้าวของตนว่าเป็นการป้องกันหรือให้ดูเป็นไปอย่างสันติอยู่เสมอ การใช้กับดักน้ำเป็นอาวุธด้วยยุทธศาสตร์การทำสงครามแบบไร้ข้อจำกัดของรัฐบาลจีน
เขื่อนขนาดใหญ่อันหาที่ใดเปรียบ
จีนกำลังสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่แม่น้ำพรหมบุตรในทิเบต อีกทั้งยังเป็นโครงการที่มีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก ความกังวลเกี่ยวกับเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับบังกลาเทศและอินเดียนั้น อย่างน้อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขื่อนนี้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ตำแหน่งดังกล่าวอาจทำให้เกิดระเบิดน้ำบริเวณชุมชนปลายน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ทรงพลังที่สุดในโลกในภูมิประเทศที่ย่ำแย่บนแม่น้ำที่ทอดยาวที่สุดในโลก แม่น้ำพรหมบุตรไหลคดเคี้ยวอย่างรุนแรงรอบเทือกเขาหิมาลัย ก่อให้เกิดหุบเขาลึกที่ยาวที่สุดและสูงชันที่สุดในโลก ซึ่งลึกเป็นสองเท่าของแกรนด์แคนยอนในสหรัฐอเมริกา ช่องเขาที่ลึกลงไป 6,008 เมตรแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนทางธรณีวิทยาที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเชียเคลื่อนปะทะกัน แผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. 2551 ที่เกิดขึ้นริมที่ราบสูงทิเบตทางตะวันออกได้คร่าชีวิตประชาชนไป 87,000 คน โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและสหรัฐฯ บางคนได้โทษว่าเป็นเพราะเขื่อนสีปิงปู ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อสี่ปีก่อนหน้านี้พร้อมกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าน้ำหนักของน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเขื่อนนี้กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว
ด้วยเหตุนี้ การสร้างเขื่อนบนที่ราบสูงของจีนจึงทำให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่มีอยู่จริง หากเขื่อนขนาดใหญ่ดังกล่าวพังทลายพื้นที่ปลายน้ำจะเสียหายอย่างหนัก เมื่อ พ.ศ. 2563 เหตุการณ์น้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อเขื่อนสามผาที่มีข้อพิพาทของจีนในแม่น้ำแยงซี ทำให้ชาวจีน 400 ล้านคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
เขื่อนสามผาเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแต่จะดูเล็กลงเมื่อเทียบกับโครงการเขื่อนที่แม่น้ำพรหมบุตร เขื่อนขนาดยักษ์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ใกล้แนวชายแดนที่มีการจัดกำลังทหารถัดจากอินเดีย ทั้งสองประเทศต่างก็ได้เผชิญหน้ากับความตึงเครียดทางทหารตลอดแนวพรมแดนหิมาลัยเป็นเวลากว่าสามปีหลังจากการรุกรานอย่างลับ ๆ ของรัฐบาลจีนในดินแดนลาดักห์ทางตอนเหนือสุดของอินเดีย เขื่อนขนาดยักษ์นี้จะเป็นอาวุธให้จีนมีอำนาจเหนืออินเดีย ในปลาย พ.ศ. 2563 หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดีย “ประเมินว่าจีนจะสร้างอาวุธจาก” แม่น้ำข้ามพรมแดนที่ “ขัดขวางเศรษฐกิจของอินเดีย” ได้อย่างไร
แม่น้ำพรหมบุตร เป็นที่ทราบกันของชาวทิเบตในชื่อแม่น้ำยาร์ลุงซังโป ชื่อนี้ได้มาจากหุบเขายาร์ลุง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมทิเบตและเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิทิเบตแห่งแรก หุบเขาเล็ก ๆ แต่เป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งนี้ควบคุมเส้นทางการค้าโบราณสู่ภูฏานและอินเดีย
ในวัฒนธรรมทิเบต แม่น้ำพรหมบุตรเป็นตัวแทนของกระดูกสันหลังขององค์เทพี ดอร์เจ พักโม ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างจุติขั้นสูงที่สุดในพุทธศาสนาทิเบต ภูเขา หน้าผา และถ้ำที่สำคัญในบริเวณหุบเขาเป็นตัวแทนของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายขององค์เทพี
เขื่อนขนาดใหญ่นี้กำลังจะสร้างขึ้นในเมืองเปมาโค ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในทิเบต เปมาโค คือ “เบยุล” ซึ่งเป็นสถานที่ที่โลกมนุษย์และโลกวิญญาณทับซ้อนกัน การเคารพธรรมชาตินั้นคือรากฐานของวัฒนธรรมทิเบต การเคารพเกิดจากภูมิทัศน์ที่โดดเด่นของที่ราบสูงแห่งนี้ และวัฒนธรรมนี้ยังทำหน้าที่พิทักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม การปกครองของจีนได้ทำลายความเสียหายทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางในทิเบต ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ด้วยโครงการขนาดใหญ่นี้ จีนกำลังจะทำลายล้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของทิเบต ซึ่งก็คือบริเวณหุบเขาที่เป็นตัวแทนของเทพผู้ปกป้องของทิเบต พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งกำลังเสื่อมเสียจากเขื่อนขนาดใหญ่นี้
การก่อสร้างได้รับการอนุมัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เมื่อรัฐสภาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อนุมัติการตัดสินใจโดยรัฐบาลของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อนการอนุมัติ จีนได้เผยแผนการระยะห้าปีฉบับที่ 14 ซึ่งได้ระบุว่าโครงการขนาดใหญ่นี้จะดำเนินการภายในห้าปี
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลท้องถิ่นทิเบตได้อนุมัติ “ข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับบริษัทพาวเวอร์ไชน่า ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หนึ่งเดือนต่อมา นายเหยียน จือหยง ประธานบริษัทพาวเวอร์ไชน่า ได้กล่าวกับสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ว่าเขื่อนขนาดใหญ่นี้จะเป็น “ภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในเรื่องของทรัพยากรไฟฟ้าพลังน้ำ” โดยเรียกแผนสร้างเขื่อนพรหมบุตรดังกล่าวว่า “โอกาสสำคัญทางประวัติศาสตร์”
เขื่อนขนาดใหญ่นี้จะสร้างขึ้นในเขตปกครองเมทอกหรือที่รู้จักกันในชื่อเมดอก ใจกลางเปมาโค ก่อนแม่น้ำจะไหลเข้าสู่อินเดีย โดยเขื่อนนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 3 แสนล้านกิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งมากกว่าเขื่อนสามผาเกือบสามเท่า ระหว่าง พ.ศ. 2537 ถึง พ.ศ. 2555 การก่อสร้างเขื่อนสามผาทำให้มีผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 1.3 ล้านคน
ในอดีต แม่น้ำพรหมบุตรตัดผ่านเขตแดนระหว่างอินเดียและทิเบตในเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก แม่น้ำพรหมบุตรมาจากธารน้ำแข็งทางตะวันตกของทิเบต โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 5,000 เมตร จึงเป็นแม่น้ำที่สูงที่สุดในโลกขณะที่ไหลผ่านภูเขา
ก่อนที่จะไหลเข้าสู่อินเดีย แม่น้ำนี้มีความยาวกว่า 2,700 เมตรเพื่อสร้างหุบเขาที่ไม่มีใครเทียบได้ ซึ่งเชื่อมระหว่างยอดเขาหิมาลัยที่สูงที่สุดสองยอดคือยอดเขานัมจาบาร์วาและยอดเขาเกียลาเปริ ผู้สร้างเขื่อนชาวจีนต้องการควบคุมพลังงานน้ำโดยการเบี่ยงเส้นทางน้ำผ่านอุโมงค์ภูเขา
ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการขนาดใหญ่นี้จะเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และยิ่งไปกว่านั้นคือบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ไกลจากปลายน้ำมากที่สุด ประเทศบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ราบต่ำเป็นส่วนใหญ่ประสบภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนของจีนจะทำให้เรื่องนี้เลวร้ายขึ้นไปอีก
ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีการอพยพผู้ลี้ภัยไปยังอินเดียมากขึ้น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบังกลาเทศที่ตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายนับล้านคน แม่น้ำพรหมบุตรเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่รบกวนรัฐบาลของนายสี
อำนาจครอบงำทางน้ำ
ด้วยโครงการนี้จีนยังสามารถใช้ประโยชน์จากการควบคุมการไหลของน้ำเพื่อยกระดับข้อเรียกร้องของตนไปยังรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียซึ่งมีพรมแดนติดกับทิเบต เพื่อยั่วยุอินเดีย รัฐบาลจีนเรียกภูมิภาคนี้ว่าทิเบตใต้
โดยพื้นฐานแล้ว เขื่อนดังกล่าวจะช่วยให้จีนสามารถควบคุมทรัพยากรที่สำคัญสำหรับผู้คนหลายสิบล้านคนนอกพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ตอนบนของแม่น้ำพรหมบุตรเป็นที่ตั้งของเขื่อนจีนขนาดเล็กหรือขนาดกลางหลายสิบเขื่อน กิจกรรมต้นน้ำของจีนได้จุดชนวนให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในรัฐชายแดนของอินเดียและเมื่อไม่นานมานี้ ได้เปลี่ยนเส้นทางสายหลักของแม่น้ำพรหมบุตรอย่างแม่น้ำซีอังซึ่งครั้งหนึ่งเคยใสบริสุทธิ์ให้สกปรกและเป็นสีเทา
ความโปร่งใสและการทำงานร่วมกันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์อย่างสันติสุขต่อสิทธิในน้ำ แต่จีนไม่ยอมรับหลักการเหล่านี้ โดยปกติจะปกปิดโครงการเขื่อนที่สำคัญอย่างเป็นความลับจนกว่าหลักฐานจะไม่สามารถซ่อนจากดาวเทียมเชิงพาณิชย์ได้อีกต่อไป สิ่งนี้อธิบายได้ว่าเหตุใดรัฐบาลจีนจึงไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนขนาดใหญ่นี้นับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ
ในช่วงหลายปีก่อนการอนุมัติของเขื่อนขนาดใหญ่ จีนได้เพิ่มการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานรอบ ๆ หุบเขาเพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศความสำเร็จในการสร้าง “ทางหลวงผ่านหุบเขาลึกที่ลึกที่สุดในโลก” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ทางหลวงสิ้นสุดใกล้กับหมู่บ้านบิชชิงของอินเดียบริเวณชายแดนทิเบต
ในเดือนต่อมา จีนได้เปิดตัวทางรถไฟไฟฟ้าแห่งแรกของทิเบตซึ่งเริ่มจากเมืองหลวงของภูมิภาคลาซาไปจนถึงเมืองยางตรีถัดจากหุบเขาพรหมบุตร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่จีนเรียกทางรถไฟระดับความสูงนี้ว่าเป็นของขวัญครบรอบหนึ่งร้อยปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ทางรถไฟและทางหลวงนี้ใช้เพื่อขนส่งเครื่องจักรกลหนัก วัสดุ และคนงานไปยังพื้นที่ห่างไกลของเขื่อนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ภูมิประเทศที่ย่ำแย่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทางรถไฟยังมีผล กระทบทางทหารซึ่งจะได้รับการเสริมกำลังเมื่อสายที่สองจากมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังชายแดนอินเดียเสร็จสมบูรณ์ ทางรถไฟจากลาซาไปจนถึงยางตรีเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างไปยังเฉิงตู เมืองหลวงของมณฑลเสฉวนที่อยู่ใกล้เคียง
ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
โครงการเขื่อนพรหมบุตรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ทำให้จีนยกระดับการปรับโครงสร้างการไหลของแม่น้ำข้ามพรมแดนโดยใช้ประโยชน์จากการควบคุมที่ราบสูงทิเบต ในขณะที่การขาดแคลนน้ำจืดกำลังบดบังอนาคตทางเศรษฐกิจของเอเชีย การจัดสรรน้ำที่ใช้ร่วมกันของจีนมุ่งเน้นที่การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตามแนวแม่น้ำข้ามพรมแดน จีนพยายามแปลอำนาจครอบงำทางน้ำเป็นการควบคุมน้ำต้นทางเพื่อได้คุมจุดจ่ายน้ำในเอเชียอย่างมั่นคง
การสร้างเขื่อนมากเกินไปในแม่น้ำภายในของจีนได้ทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง ทำให้แม่น้ำไหลขาดตอนและลดลง สิ่งนี้ยังขัดขวางวัฏจักรน้ำท่วม ซึ่งช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติโดยการแพร่กระจายตะกอนที่อุดมด้วยสารอาหาร คำถามคือจีนสามารถหยุดยั้งไม่ให้สร้างความเสียหายที่คล้ายคลึงกันต่อแม่น้ำระหว่างประเทศที่กำลังสร้างเขื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างไร
ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างควรเป็นเหมือนสัญญาณเตือน แต่หลังจากก่อให้เกิดความแห้งแล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศปลายน้ำโดยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีก 11 แห่งบนแม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบเสมือนสายโลหิตของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้จีนได้เล็งเห็นถึงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสายสำคัญที่สูงที่สุดในโลก นั่นคือแม่น้ำพรหมบุตร
เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของการขยายดินแดนและการขยายขอบเขตทางทะเลของรัฐบาลจีน จึงมีการใช้ยุทธศาสตร์การจัดสรรทรัพยากรน้ำนี้อย่างไม่ละเว้นไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรหรือใจดี ตั้งแต่กัมพูชา ลาว และไทย ไปจนถึงเนปาล อันที่จริงการยึดครองดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้และเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งจีนยังมุ่งเป้ากระทั่งภูฏานขนาดเล็กด้วย พร้อมทั้งการยึดครองน้ำจืดที่แทบจะไม่เป็นที่สังเกตเห็นในแม่น้ำข้ามพรมแดน ด้วยแนวทางปฏิบัติดังกล่าว การที่จีนกำหนดเป้าหมายเป็นแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำอื่น ๆ ที่ไหลเข้าสู่อินเดียที่เป็นคู่แข่งจึงไม่น่าแปลกใจเลย
การละเมิดความไว้วางใจ
จีนยังปรับแหล่งน้ำเป็นอาวุธด้วยการระงับข้อมูลทางอุทกวิทยาในช่วงฤดูมรสุมวิกฤติ ซึ่งมักจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ใน พ.ศ. 2560 หลังจากที่อินเดียคว่ำบาตรการประชุมสุดยอดครั้งแรกของโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของนายสี รัฐบาลจีนได้เริ่มปกปิดข้อมูลกับรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายระบบเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าของอินเดีย
แม้ในปีนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจะมีฝนมรสุมน้อยกว่าปกติ ทว่าภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำพรหมบุตรไหลผ่านหลังจากออกจากทิเบตและก่อนเข้าสู่บังกลาเทศกลับต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐอัสสัม จีนได้กลับมาแบ่งปันข้อมูลทางอุทกวิทยากับอินเดียอีกครั้งใน พ.ศ. 2561 แต่ถึงกระนั้น การปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลครั้งดังกล่าวก็ได้คร่าชีวิตของผู้คนในรัฐอัสสัมไปซึ่งเป็นชีวิตที่ควรปกป้องได้
ในส่วนนี้จะเน้นย้ำให้เห็นถึงการดูหมิ่นข้อผูกพันทางกฎหมายของรัฐบาลจีน การระงับข้อมูลครั้งดังกล่าวได้ละเมิดข้อตกลงทวิภาคีสองฉบับที่กำหนดให้จีนมอบข้อมูลทางอุทกวิทยาเป็นประจำทุกวัน ซึ่งอินเดียได้ชำระเงินล่วงหน้าในส่วนนี้ไปแล้ว
ข้อตกลงต่าง ๆ ถูกยุติการมีผลผูกพันเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนรู้สึกไม่สะดวกใจในทางการเมืองอีกต่อไป เช่น ความขัดแย้งทางทหารระหว่างอินเดียและจีนเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนละเมิดข้อตกลงทวิภาคีซึ่งห้ามไม่ให้มีกองกำลังจำนวนมากบริเวณแนวชายแดนที่มีข้อพิพาท
โครงการเขื่อนขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นของจีนในการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่สูงที่สุด ใหญ่ที่สุด ลึกที่สุด ยาวที่สุด และคุณภาพสูงที่สุดในโลก แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือระบบนิเวศก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องพื้นที่ลุ่มน้ำหิมาลัยขนาดใหญ่อันเป็นแหล่งกำเนิดของธารน้ำแข็งหลายพันแห่งและต้นกำเนิดของระบบแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก การกร่อนโดยธารน้ำแข็งถือเป็นปัญหาอยู่แล้ว ความเป็นอยู่ที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของเอเชียส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของจีนต่อความร่วมมือเชิงสถาบันเกี่ยวกับแม่น้ำข้ามพรมแดน รวมถึงการปกป้องเขตเปราะบางทางนิเวศวิทยาและความโปร่งใสเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงมีอำนาจ รัฐบาลจีนก็มีแนวโน้มที่จะยังคงลักลอบทำสงครามทางน้ำต่อไป