ความเป็นหุ้นส่วนที่คงทน ใน โลกไซเบอร์
ความร่วมมือช่วยปกป้องขอบเขตทางดิจิทัล ตั้งแต่ยูเครนไปจนถึงอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ในตอนที่ พล.ท. ฮิโรเอะ จิโระ แห่งกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น ได้เดินทางไปเยือนยูเครนใน พ.ศ. 2563 การป้องกันทางไซเบอร์อันแสนซับซ้อนของยูเครนได้กลายเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ มีการโจมตีทางไซเบอร์มาตลอดระยะเวลา 6 ปีหลังจากที่รัสเซียเข้ายึดไครเมียและรุกรานยูเครนตะวันออก การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียมุ่งเป้าไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของยูเครน โดยได้ทำลายโครงข่ายไฟฟ้าและปล่อยมัลแวร์ ซอฟต์แวร์ก่อกวนได้ทำลายระบบคอมพิวเตอร์ในสถาบันการเงิน พลังงาน และหน่วยงานภาครัฐของยูเครน ในขณะเดียวกันก็แพร่กระจายไปทั่วโลก
พล.ท. ฮิโรเอะ ผู้บัญชาการแห่งกองบัญชาการฝึกอบรม การประเมินผล การวิจัย และการพัฒนาของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง “ผมรู้สึกประหลาดใจที่เห็นว่ากองกำลังยูเครนได้กำหนดมาตรการทางไซเบอร์อย่างสมบูรณ์แล้ว” พล.ท. ฮิโรเอะกล่าว “หน่วยงานภาครัฐและกองทัพออกกฎระเบียบ … จากนั้นก็แบ่งทั้งประเทศออกเป็นภูมิภาคเล็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถควบคุมแต่ละเครือข่ายและแต่ละระบบได้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดูดีมาก ๆ”
ผู้มีบทบาทแบบเดียวกันกับพล.ท. ฮิโรเอะในยูเครน ได้อธิบายเกี่ยวกับความสำเร็จของพวกเขาไว้ด้วยคำว่า ความร่วมมือ ยูเครนได้พัฒนาระบบการป้องกันทางไซเบอร์ขั้นสูงของตนเองและเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ด้วยความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พล.ท.ฮิโรเอะกล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังทางบกภาคพื้นแปซิฟิกในฮาวาย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
เช่น กองทุนขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต เกี่ยวกับการป้องกันทางไซเบอร์สำหรับยูเครน ได้ให้การสนับสนุนในการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคนิคและสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเจรจาทางไซเบอร์แบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และยูเครนเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2560 โดยเชื่อมโยงยูเครนเข้ากับกระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างการวางแผนการตอบโต้ระดับชาติ ความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน และการแบ่งปันข้อมูล พล.ท. ฮิโรเอะกล่าวว่ายูเครนยังให้ความเชื่อมั่นต่อความช่วยเหลือจากภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเครือข่ายที่แข็งแกร่ง “ดูเหมือนว่ากองกำลังยูเครนจะสามารถโจมตีเพื่อเอาคืนในสิ่งที่พวกเขาเผชิญใน พ.ศ. 2557 ได้แล้ว” พล.ท. ฮิโรเอะกล่าว “ต้องขอบคุณประเทศสมาชิกนาโตและภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ”

การป้องกันล่วงหน้า
กองบัญชาการไซเบอร์สหรัฐฯ ได้ส่งทีมไปทั่วโลกในปฏิบัติการฮันท์ ฟอร์เวิร์ด ซึ่งเป็นภารกิจป้องกันที่ดำเนินการตามคำขอของประเทศหุ้นส่วนในการตรวจจับกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายบนเครือข่ายของประเทศเจ้าบ้าน เป้าหมายคือการทำให้พันธมิตรและหุ้นส่วนเป็นเป้าหมายที่ผู้กระทำการชั่วร้ายเอาชนะได้ยากขึ้น ตามคำกล่าวของ พล.ต. วิลเลียม ฮาร์ทแมน รองผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์สหรัฐฯ และอดีตผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติภารกิจทางไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนพิเศษเพื่อรักษาความปลอดภัยและปกป้องเครือข่ายข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จากการโจมตีทางไซเบอร์ “เรากำลังสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วโลก” พล.ต. ฮาร์ทแมนกล่าวระหว่างการอภิปรายในการประชุมสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังทางบกภาคพื้นแปซิฟิก เกี่ยวกับสงครามไซเบอร์และสงครามข้อมูล “ท้ายที่สุดแล้ว ความร่วมมือนี้จะช่วยให้ทั้งสหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนสามารถป้องกันประเทศตนเองได้ดียิ่งขึ้น”
ทีมปฏิบัติการฮันท์ ฟอร์เวิร์ด ได้ปฏิบัติภารกิจอย่างน้อย 47 ภารกิจในกว่า 20 ประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อตรวจจับและป้องกันภัยคุกคาม “เมื่อเราได้รับข้อมูลจากต่างประเทศ เราจะแบ่งปันข้อมูลนั้นกับใครก็ตามที่เราสามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรที่ได้รับการคุ้มครองจะมีจำนวนมากที่สุด” พล.ต. ฮาร์ทแมนกล่าว
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ปฏิบัติการฮันท์ ฟอร์เวิร์ดในยูเครนมีบุคลากร 40 คนและเป็นการส่งกำลังไปยังยูเครนเป็นครั้งที่สามของกองกำลังปฏิบัติภารกิจทางไซเบอร์แห่งชาติ ในเวลานั้น ทหารรัสเซียได้เคลื่อนตัวไปยังชายแดนยูเครนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรุกรานโดยไร้ซึ่งเหตุผลซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนถัดไป ทีมของสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับทีมของยูเครนเพื่อเปิดโปงความพยายามในการลอบโจมตีของรัสเซีย “ทีมได้เข้าประจำการในช่วงกลางเดือนมกราคม ในขณะเดียวกันเราก็เริ่มเห็นการโจมตีไวเปอร์ของรัสเซียที่ทำลายล้างหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมุ่งเป้าไปยังเครือข่ายของยูเครน” พล.ต. ฮาร์ทแมนกล่าว โดยอ้างถึงการโจมตีทางไซเบอร์ที่ทำลายล้างข้อมูลที่เก็บไว้ในเครือข่าย “ทีมสามารถให้การสนับสนุนหุ้นส่วนชาวยูเครนในการแก้ไขเครือข่ายให้เป็นปกติได้ทันที… เราสามารถรวบรวมข้อมูลตัวบ่งชี้การโจมตีได้ เราสามารถรวบรวมข้อมูลซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายที่รัสเซียใช้กับยูเครนได้” ขั้นตอนต่อไปคือการแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวกับอุตสาหกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือนและระบบการป้องกันประเทศ
“ภัยคุกคามจากรัสเซียต่อยูเครนเป็นภัยคุกคามสำหรับเราทุกคน” พล.ต. ฮาร์ทแมนกล่าว “ภัยคุกคามจากจีนที่มีต่อประเทศใดก็ตาม … ก็มักเป็นภัยคุกคามสำหรับเราทุกคน ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว ความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลจึงมีความสำคัญ”
ความพยายามของกองกำลังทางไซเบอร์ยังคงดำเนินต่อไปหลังจากที่กองกำลังรัสเซียรุกรานยูเครน ในขณะที่อุตสาหกรรมภาคเอกชน รัฐบาลต่างประเทศ และหุ้นส่วนประเทศอื่น ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่ยูเครน สหรัฐฯ ได้วิเคราะห์และส่งต่อข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดเกี่ยวกับช่องโหว่ทางดิจิทัลที่ยูเครนจำเป็นต้องแก้ไข
“นี่เป็นเรื่องความร่วมมือ” พล.ต. ฮาร์ทแมนกล่าว “เราได้แบ่งปันข้อมูลตัวบ่งชี้การโจมตีกว่า 5,000 รายการ ทั้งจากยูเครนถึงเราหรือจากเรากลับไปยังยูเครน เพื่อทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าสหรัฐฯ หุ้นส่วน และพันธมิตรของเราได้รับการคุ้มครองจากสิ่งที่รัสเซียกำลังทำในยูเครน อีกทั้งยังเพื่อให้แน่ใจว่ารัสเซียจะโจมตีและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของยูเครนต่อไปได้ยากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองกำลังปฏิบัติภารกิจทางไซเบอร์แห่งชาติได้รับเชิญให้เข้าร่วมปฏิบัติการฮันท์ ฟอร์เวิร์ดในแอลเบเนีย โดยร่วมมือกับสำนักงานข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติของแอลเบเนีย ในเอสโตเนียโดยร่วมกับบุคลากรทางไซเบอร์ในท้องถิ่น ในลัตเวียโดยทำงานร่วมกับแคนาดาและสถาบันรับมือเหตุการณ์ด้านความมั่นคงของลัตเวีย ในลิทัวเนียพร้อมด้วยกองกำลังทางไซเบอร์ของประเทศ และในพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นตอนใต้ ซึ่งครอบคลุมหลายสิบประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน
นอกจากนี้ ทีมยังปฏิบัติภารกิจฮันท์ ฟอร์เวิร์ดร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตามรายงาน พ.ศ. 2564 หัวข้อ “ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” จากศูนย์วิจัยความมั่นคงระดับโลกที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาในแคลิฟอร์เนียที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ หน่วยงานของสหรัฐฯ ใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเครือข่ายของหุ้นส่วน โดยพิจารณาจากการยอมรับของพันธมิตรในการแสดงความร่วมมือทางไซเบอร์ต่อสาธารณชน รายงานดังกล่าวระบุ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์หลัก ๆ ของภูมิภาคนี้มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามมาด้วยเกาหลีเหนือ รัสเซีย และอิหร่าน ศูนย์วิจัยความมั่นคงระดับโลกกล่าวอ้างถึงกิจกรรมทางไซเบอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับแคมเปญการบิดเบือนข้อมูล การแทรกแซงการเลือกตั้ง การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา และความพยายามในการปั่นหัวทางการเมืองทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก การพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจและภัยคุกคามจากการตอบโต้ทำให้บางประเทศลังเลที่จะบันทึกข้อมูลในการกระทำทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายของจีนอย่างเป็นสาธารณะหรือดำเนินการตามนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มุ่งร้าย อย่างไรก็ตาม พันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “ไม่ได้มีเวลาเหลือเฟือ” ศูนย์วิจัยความมั่นคงระดับโลกกล่าวเตือน “ผลกระทบของการรอคอยแนวทางการแก้ปัญหาทางการทูตเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นมีมากกว่าประโยชน์ของการหาจุดยืนร่วมในระยะสั้น” รายงานดังกล่าวระบุว่า เป้าหมายที่สามารถบรรลุได้คือการที่พันธมิตรและหุ้นส่วนบรรลุความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับหนึ่งที่สื่อสารไปถึงศัตรูได้ว่า “หากต้องการเอาชนะประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ต้องเอาชนะพวกเราทุกประเทศ”
ที่การประชุมสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังทางบกภาคพื้นแปซิฟิก พล.ท. มาเรีย บาร์เร็ตต์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการไซเบอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างสงครามไซเบอร์และสงครามข้อมูล รวมถึงบทบาทความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับการใช้ข้อมูลเป็นอาวุธ กองกำลังที่ทำงานร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจว่าอิทธิพลมุ่งร้ายจากต่างประเทศนี้มาจากที่ใด และวิธีการที่อิทธิพลดังกล่าวเข้าครอบงำนั้นไม่เพียงแต่มีความพร้อมมากขึ้นต่อการทำสงครามข้อมูล แต่ยังได้เปรียบในการต่อต้านแคมเปญมุ่งร้ายอีกด้วย พล.ท. มาเรีย บาร์เร็ตต์กล่าว “ความร่วมมือที่เราพัฒนาขึ้นจะต้องยั่งยืนและมีอยู่จริง เพื่อหลีกเลี่ยงและลดทอนภัยคุกคามต่ออธิปไตยในดินแดนด้วยสิ่งที่เรากำลังทำอยู่”

บูรณาการขั้นสูง
นายเจมส์ ลูอิส รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ยูเครนเป็นข้อขัดแย้งที่สำคัญครั้งแรกของโลกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ การป้องกันทางไซเบอร์ที่รวมหน่วยงานระดับชาติ ต่างประเทศ ภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยให้ยูเครนสามารถตรวจสอบการโจมตี ปิดกั้นผู้ไม่หวังดี และรับมือกับช่องโหว่ได้ นายลูอิสได้เขียนไว้ในบทวิจารณ์เมื่อ พ.ศ. 2565 ซึ่งตีพิมพ์โดยสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ โดยระบุว่า “บทเรียนที่ได้รับคือการพัฒนาความสัมพันธ์และบูรณาการหุ้นส่วนผ่านการดำเนินการที่นอกเหนือจากการประชุมและการสัมมนาเพื่อรวมการวางแผนเข้ากับการฝึกซ้อมล่วงหน้าก่อนเกิดการโจมตีใด ๆ”
การฝึกไซเบอร์ แฟลก ประจำปีของกองบัญชาการไซเบอร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดโอกาสดังกล่าว การฝึกไซเบอร์ แฟลก 23-1 ซึ่งจัดขึ้นในเวอร์จิเนียในช่วงปลาย พ.ศ. 2565 และมุ่งเน้นไปยังภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ได้นำพาประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนให้มารวมตัวกันสำหรับ “การฝึกอบรมที่ต้องใช้การวิเคราะห์และเทคโนโลยี” ที่สมจริงในการตรวจจับ ระบุ และลดการมีอยู่ของศัตรูบนเครือข่ายดิจิทัล การฝึกไซเบอร์ แฟลก 23-1 ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมความพร้อมและความสามารถในการทำงานร่วมกันในด้านการป้องกันทางไซเบอร์ โดยการฝึกนี้มีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 250 คนจากออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้สหราชอาณาจักร ตลอดจนกองเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ และกองบัญชาการไซเบอร์กองกำลังนาวิกโยธิน นอกเหนือจากการประชุมสัมมนาและการฝึกซ้อมการวางแผนระยะเวลาสองวันแล้ว การฝึกนี้ยังประกอบไปด้วยการบรรยายสรุป การอภิปรายแบบประสานงานและช่วงการฝึกซ้อมด้านโลกไซเบอร์ในอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้มุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคนี้
การฝึกบาลิกาตันที่ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนการจัดได้เริ่มดำเนินการฝึกป้องกันทางไซเบอร์อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์จากกองทัพฟิลิปปินส์และกองทัพสหรัฐฯ ใช้แพลตฟอร์มแบบโต้ตอบที่ค่ายอากีนัลโดนอกกรุงมะนิลา เพื่อป้องกันเครือข่ายของกองทัพและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนจากมีผู้ไม่หวังดีในโลกไซเบอร์แบบจำลอง ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการทำความเข้าใจขั้นตอนที่ประเทศหุ้นส่วนใช้ และผสานแนวทางปฏิบัติเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นการป้องกันทางไซเบอร์ร่วมกันที่ประสบความสำเร็จ “ประเทศอื่น ๆ ที่ใช้งานขีดความสามารถในการทำสงครามไซเบอร์ประเภทนี้สามารถสร้างความเสียหายได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระสุนจริง” น.ท. เรย์นัน คาร์ริโด จากกองทัพเรือฟิลิปปินส์ กล่าวกับ ฟอรัม ในระหว่างการฝึกบาลิกาตัน “พื้นที่ไซเบอร์สามารถใช้เป็นสงครามรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นหยุดชะงักได้ สถานการณ์ต่าง ๆ ภายในการฝึกป้องกันทางไซเบอร์มีอยู่จริงในโลกปัจจุบัน และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข”
ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในอินโดแปซิฟิกก็เติบโตและเข้มแข็งขึ้น กองทัพไทยได้เข้าร่วมกับสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 5 ปีเพื่อจัดการฝึกอบรมทางไซเบอร์ในระหว่างการฝึกซ้อมแบบพหุภาคีคอบร้าโกลด์ การฝึกไซเบอร์เดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ที่อาคารม้าแดงของไทยประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมจากออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ การฝึกซ้อมล่าสุดมุ่งเน้นไปที่การปกป้องเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ พ.ท. เจสัน ซิลฟ์ส จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ผู้อำนวยการฝึก กล่าวกับ ฟอรัม ว่าการฝึกอบรมนี้ผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่อาจช่วยยกระดับประสิทธิภาพได้ “ว่ากันตามตรงแล้ว มีคำถามบางคำถามที่เราจำเป็นต้องถามและหาคำตอบกันตอนนี้ในการฝึก … เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เราก็จะมีภารกิจในการทำแบบเดียวกันนั้น” พ.ท. ซิลฟ์สกล่าว
ประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและพื้นที่อื่น ๆ ก็กำลังสร้างกรอบการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันปกป้องระบบการสื่อสารและการดำเนินงานที่สำคัญ หุ้นส่วนการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ซึ่งประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ก็มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันและแบ่งปันข้อมูลในขอบเขตไซเบอร์ ทั้งสี่ประเทศกำลังพัฒนาระบบเพื่อแบ่งปันรายงานด่วนเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์และความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
ที่การประชุมและนิทรรศการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันทางไซเบอร์ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่ประเทศต่าง ๆ พัฒนาความพยายามอันเป็นหนึ่งเดียวกันก่อนที่ผู้ไม่หวังดีจะมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐาน หรือใช้เครื่องมือไซเบอร์เพื่อใช้การสร้างเรื่องเท็จให้เป็นอาวุธ “หากเราจะร่วมกันเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในพื้นที่นี้แต่รวมถึงทั่วทั้งโลก จะต้องอาศัยความร่วมมือ … ในหมู่ผู้มีความสามารถที่มาจากทุก ๆ ประเทศของพวกเรา” พล.ต. ฮาร์ทแมน รองผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการทหารไซเบอร์สหรัฐฯิ กล่าว “เวลาที่ต้องจัดการกับภัยคุกคามและทำงานร่วมกันมาถึงแล้ว”