ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียใต้

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและไต้หวันแสดงถึงความแน่นแฟ้นที่มากขึ้น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ประเทศที่มีความเป็นไปได้ในการหยุดยั้งการกระทำอันก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนต่อไต้หวันนั้นอยู่ห่างไปทางตะวันตกของเกาะไต้หวันกว่า 4,000 กิโลเมตร นั่นคืออินเดีย ซึ่งได้เผชิญกับข้อพิพาทชายแดนกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างยาวนาน

อินเดียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน และอินเดียยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับจีนใน พ.ศ. 2551 ที่ยืนยันว่านโยบายจีนเดียวของจีนนั้น “ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” และรัฐบาลอินเดียจะ “ต่อต้านกิจกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อ” หลักการดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมากลับไม่มีการประกาศต่อสาธารณะมากนัก หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่สามารถสนับสนุนนโยบายอินเดียเดียวได้ ซึ่งกำหนดให้อรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย การปฏิเสธของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้เกิดข้อพิพาทอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียแห่งนี้ ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นอาณาเขตของตน อีกทั้งนี่ยังเป็นสิ่งที่อาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารของอินเดีย เช่น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 อินเดียได้แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ของไต้หวันโดยฝ่ายเดียว ซึ่งจีนขู่ว่าจะผนวกรวมเข้าด้วยกันโดยใช้กำลัง

ความเปลี่ยนแปลงบางประการระหว่างความสัมพันธ์ของอินเดียและจีนนั้นเกิดขึ้นโดยนัย เช่น ตอนนี้นักการทูตอินเดียได้รับการฝึกอบรมภาษาจีนในกรุงไทเปแทนที่จะเป็นกรุงปักกิ่ง นางแทนวี เมเดน นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันบรูกกิงส์ กล่าวในพอดแคสต์ของโกลบอลอินเดีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ความเป็นไปอื่น ๆ ยังชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แย่ลง ซึ่งรวมถึง

  • การเผยแพร่แผนที่ฉบับใหม่ของรัฐบาลจีนใน พ.ศ. 2566 ที่อ้างว่าอรุณาจัลประเทศเป็นส่วนหนึ่งของจีน อินเดียอยู่ทางตะวันออกสุดของชายแดนที่มีข้อพิพาทระยะทาง 3,380 กิโลเมตรที่รู้จักกันในชื่อเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง ซึ่งการสะสมกำลังทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น และก่อให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังของอินเดียและจีนใน พ.ศ. 2563
  • ใน พ.ศ. 2565 อินเดียกล่าวหาว่าจีนจัดกำลังทหารในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระดับโลกที่สำคัญ นักวิเคราะห์กล่าวว่าการใช้ถ้อยคำที่ดูแข็งกร้าวขึ้นของอินเดียนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อรองใหม่ “อย่างที่รู้กันดีว่าจีนไม่ต้องการให้ความขัดแย้งขยายตัวขึ้นในหลาย ๆ ประเด็นพร้อม ๆ กัน อินเดียจึงใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการกล่าวต่อว่าจีนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน” นาย เวินตี ซุง นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน
  • ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 นายมันฮาร์สินห์ ลักส์มันไบ ยาเดฟ ผู้อำนวยการใหญ่ของสมาคมอินเดียไทเปประจำสถานเอกอัครราชทูตโดยพฤตินัยของรัฐบาลอินเดียในไต้หวัน ได้แสดงความยินดีกับผู้นำคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของไต้หวัน ชัยชนะของนายไล่ ชิงเต๋อ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทำให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายังคงมีอำนาจอยู่เป็นสมัยที่สาม แม้ว่าจีนจะเตือนถึงมุมมองเชิงสนับสนุนอำนาจอธิปไตยของนายไล่ “เมื่อเราร่วมมือกัน พวกเราทั้งอินเดียและไต้หวันรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ต่อค่านิยมด้านประชาธิปไตย และผมเชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้นจะทำให้เราสามารถผลักดันหลักการที่เรามีร่วมกันนี้ไปข้างหน้าได้ และส่งเสริมให้เกิดโลกที่สงบสุขมากขึ้น” นายยาเดฟกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวโฟกัสไต้หวัน

การกล่าวยกย่องกระบวนการทางประชาธิปไตยของไต้หวันและคำมั่นสัญญาถึงความร่วมมือกันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงจุดเปลี่ยนของอินเดีย นายจากานนาธ พันดา หัวหน้าศูนย์สต็อกโฮล์มเพื่อกิจการในเอเชียใต้และอินโดแปซิฟิกที่สถาบันเพื่อความมั่นคงและการพัฒนานโยบายในสวีเดน

นายพันดาเขียนในบทความประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 สำหรับนิตยสารเดอะ ดิโพลแมตไว้ว่า ความคลุมเครือของอินเดียที่มีต่อปัญหาระหว่างจีนและไต้หวันอาจเปลี่ยนไปเป็น “การดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ให้กับการจัดตั้งสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นใหม่กับหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเป้าหมายในการต่อต้านการกระทำเชิงก้าวร้าวทางทหารและเศรษฐกิจของจีน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button