ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อพิพาททางดินแดนในตะวันออกไกลเป็นบททดสอบความสัมพันธ์ของจีนและรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ด้วยรัฐบาลเผด็จการที่โดดเดี่ยวและอ่อนกำลังอยู่แล้วจากการรุกรานยูเครนโดยไร้เหตุสมควร ตอนนี้ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้จุดชนวนความบาดหมางกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียที่สำคัญที่สุดจากไม่กี่รายที่เหลืออยู่

ความบาดหมางครั้งนี้เกิดจากข้อพิพาททางดินแดนที่เกิดขึ้นในตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการกองเรือแปซิฟิกของรัฐบาลรัสเซียในวลาดิวอสต็อก และถือเป็นประตูทางยุทธศาสตร์สู่อาร์กติกที่อุดมไปด้วยทรัพยากร แม้ว่าจะมีการลงนามในสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศหลายประการมาตั้งแต่เกือบสองศตวรรษก่อน นักชาตินิยมจีนบางคนยืนยันว่ารัสเซียขโมยภูมิภาคนี้ไปจากจักรวรรดิจีน ในขณะเดียวกัน พลเมืองรัสเซียในแคว้นห่างไกลคลางแคลงใจกับการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นโดยบริษัทที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน

GRAPHIC CREDIT: เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 นายปูตินได้กล่าวถึงการอ้างสิทธิในอดีตที่ไร้ความน่าเชื่อถืออีกครั้งเพื่อใช้เป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการรุกรานยูเครนเมื่อสองปีก่อน ซึ่งเป็นการโจมตีที่ทำให้ยุโรปถลำตัวในความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และจุดชนวนความโกลาหลในตลาดโลก

ความคิดเห็นบางส่วนของนายปูตินได้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในจีน โดยมีผู้ใช้บางรายที่สามารถหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและได้แสดงความเห็นดูถูกเหยียดหยามต่อการหลอกลวงของนายปูติน ตามรายงานของนิตยสารนิวส์วีค “ตามประวัติศาสตร์แล้ว รัสเซียควรจะคืนวลาดิวอสต็อกและดินแดนอันกว้างใหญ่ที่ขโมยไปจากเราเมื่อ 100 กว่าปีก่อน” ผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์

การอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสื่อสังคมออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีนได้เผยแพร่แผนที่ที่แสดงให้เห็นว่าเกาะบอลชอย อุสซูริสกีที่อยู่บริเวณชายแดนรัสเซียและจีนเป็นดินแดนของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในการกระทำการแบ่งเขตแต่เพียงฝ่ายเดียวและตามอำเภอใจหลาย ๆ ประการของจีน แผนที่ดังกล่าวเมินเฉยต่อข้อตกลงระหว่างจีนและรัสเซียเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนที่แบ่งเกาะที่มีพื้นที่ 350 ตารางกิโลเมตรออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ตามรายงานของนิวส์วีค เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน รัฐบาลจีนตกลงที่จะไม่อ้างสิทธิในดินแดนใด ๆ ของรัสเซียเพิ่มอีก

แผนที่ฉบับก่อนหน้ายังได้เปลี่ยนชื่อดินแดนของรัสเซียใหม่ด้วย รวมถึงการเปลี่ยนชื่อวลาดิวอสต็อกเป็นชื่อภาษาจีน

ข้อพิพาทนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2403 เป็นอย่างน้อย เมื่อราชวงศ์จีนที่ปกครองอยู่ได้ยกดินแดนในภูมิภาคดังกล่าวให้กับพระเจ้าซาร์ของจักรวรรดิรัสเซียหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง หนึ่งศตวรรษถัดมา กองกำลังคอมมิวนิสต์ของจีนและสหภาพโซเวียตได้ปะทะกันตามแนวชายแดนทางตอนเหนือของวลาดิวอสต็อก

มีประชาชนประมาณ 8 ล้านคนอาศัยอยู่ในตะวันออกไกลอันกว้างใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ รวมทั้ง น้ำมัน ถ่านหิน ทองคำ และปลา มณฑลสามแห่งของจีนที่มีชายแดนติดกับภูมิภาคดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนประมาณ 90 ล้านคน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ วลาดิวอสต็อกอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของกรุงมอสโกประมาณ 6,500 กิโลเมตร ซึ่งไกลกว่าจากกรุงปักกิ่งถึงวลาดิวอสต็อกเกือบห้าเท่า

สถานการณ์นี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ระเบิดเวลาทางภูมิรัฐศาสตร์”

ในขณะที่จีนยังคงดำเนินการสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียต่อไปนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนเกิดขึ้น นักวิเคราะห์ก็ได้ตั้งคำถามถึงความมุ่งมั่นและแรงจูงใจของรัฐบาลจีน นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการทำให้ตนได้รับการมองว่าเป็นมหาอำนาจของอาร์กติก แม้ว่าส่วนเหนือสุดของจีนนั้นอยู่ห่างจากวงกลมอาร์กติกมาทางตอนใต้ถึง 1,500 กิโลเมตร

“จีนได้ประกาศว่าตนเองเป็น ‘รัฐใกล้อาร์กติก’ ซึ่งเป็นคำนิยามที่จีนคิดขึ้นมาเพื่อผลักดันให้ตนเองมีบทบาทมากขึ้นในการกำกับดูแลอาร์กติก” ตามเนื้อความที่ปรากฏในบทความประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่เผยแพร่โดยแรนด์คอร์ปอเรชัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้นายปูตินและนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศมิตรภาพ “ที่ไร้ขีดจำกัด” รัฐบาลจีนก็อาจหาทางฉกฉวยโอกาสจากรัฐบาลรัสเซียที่ถูกลดทอนอำนาจและกำลังไขว้เขวเพื่อผลักดันการอ้างสิทธิของตนเหนือตะวันออกไกล ภูมิภาคที่เป็นข้อพิพาทนั้นแบ่งแยกจีนออกจากทะเลญี่ปุ่นและเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือตลอดแนวชายฝั่งอาร์กติกของรัสเซีย ซึ่งสามารถลดระยะทางการขนส่งระหว่างยุโรปและอินโดแปซิฟิกลงได้ประมาณร้อยละ 40

“เราควรพิจารณาการกระทำของจีนตามบริบท” ตามที่ระบุไว้ในบทความของอินเทอร์เนชันแนลโพลิซีไดเจสต์ “แม้ว่าจะมีการเน้นย้ำและรับประกันถึงการสนับสนุนร่วมกัน แต่จีนกลับไม่เต็มใจที่ให้รัสเซียเข้าถึงขีปนาวุธขั้นสูง เทคโนโลยีโดรน … หรือการขยายข้อตกลงด้านก๊าซธรรมชาติและท่อส่ง”

“จีนไม่ปิดบังความต้องการในการได้รับภูมิภาคตะวันออกไกลรอบ ๆ วลาดิวอสต็อกกลับมา” ตามที่ระบุในบทความประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566

ประวัติการรุกล้ำอาณาเขตและช่วงชิงดินแดน ตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปจนถึงชายแดนอินเดียและจีนในเทือกเขาหิมาลัย มีแต่จะเพิ่มความกังวลของรัสเซียเกี่ยวกับการยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตย

“การที่จีนฉวยโอกาสจากความเปราะบางของรัสเซียไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ” ตามที่ระบุไว้ในบทความประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ยูราเซีย เดลี มอนิเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ของสถาบันวิจัยมูลนิธิเจมส์ทาวน์ในสหรัฐอเมริกา “ผู้เชี่ยวชาญได้สังเกตเห็นว่า … รัฐบาลจีนสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียก็เพื่อผลประโยชน์ของจีนเท่านั้น เช่น การใช้ประโยชน์จากเรื่องราวการต่อต้านตะวันตกของรัสเซียในโฆษณาชวนเชื่อของตนเอง และปฏิบัติต่อตะวันออกไกลของรัสเซียในฐานะ ‘อาณานิคมทรัพยากร’ จีนจะไม่สนับสนุนรัสเซียหากนั่นทำให้จีนต้องเสียหาย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button