ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การปล่อยจรวดและการลงจอดบนดวงจันทร์ของญี่ปุ่นส่งเสริมความทะเยอทะยานด้านอวกาศ

ฟีลิกซ์ คิม

ญี่ปุ่นได้ยกระดับสถานะของตนในฐานะประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศด้วยการปล่อยจรวดเอช3 รุ่นใหม่ไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งเป็นประเทศที่ห้าที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ความสำเร็จครั้งนี้สนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงด้านกลาโหม โดยเป็นการแสดงความสามารถทางเทคโนโลยีและมีส่วนส่งเสริมท่าทีในการป้องปรามในอวกาศ

ยานลงจอดอัจฉริยะเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่นได้ปรากฏโฉมก่อนปล่อยขึ้นไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ปล่อยจรวดเอช 3 จากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะในเดือนกุมภาพันธ์
วิดีโอจาก: นิปปงเทเลวิชัน/รอยเตอร์

จรวดเอช3 ได้รับการปล่อยจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1,000 กิโลเมตร และได้นำดาวเทียมสองดวงขึ้นสู่วงโคจร จรวดขนส่งนี้ได้รับการพัฒนาโดยองค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่นและผู้รับเหมาหลักอย่างมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ การปล่อยจรวดทดสอบครั้งนี้ช่วยให้โครงการสามารถพัฒนาไปสู่ปฏิบัติการในเชิงพาณิชย์ได้

มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์สามารถผลิตจรวด เอช3 ได้สูงสุดหกลูกต่อปี แต่มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึง 10 ลูกต่อปี นายมาซายูกิ เอกุจิ หัวหน้าแผนกกลาโหมและอวกาศของบริษัท กล่าวกับหนังสือพิมพ์นิกเคอิเอเชียของญี่ปุ่น

ภารกิจเอช3 นี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ยานลงจอดอัจฉริยะเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่นได้ลงจอดบนดวงจันทร์ไปเมื่อปลายเดือนมกราคม หลังจากประสบปัญหาช่วงแรกในการผลิตพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ยานลงจอดอัจฉริยะเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ก็ได้ส่งภาพและข้อมูล รวมทั้งมีการวางแผนภารกิจเกี่ยวกับดวงจันทร์มากขึ้น ตามรายงานขององค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยานลงจอดอัจฉริยะเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ยังได้พา โซระ-คิว หุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ขนาดเท่าลูกเบสบอลไปด้วย ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ และทาคาระ โทมี่ บริษัทผู้ผลิตของเล่นทรานส์ฟอร์เมอร์ยอดนิยม

ญี่ปุ่น “ค่อย ๆ ยกระดับตัวเองเป็นผู้มีบทบาทรายใหญ่ด้านอวกาศ” ดร. เจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม “นี่เป็นสถานการณ์ที่ได้เปรียบสำหรับญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่มุ่งเน้นด้านพลเรือนเป็นหลัก เรื่องนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านการทหารใด ๆ ที่ญี่ปุ่นตั้งข้อจำกัดไว้ ภาคเอกชนพร้อมกับธุรกิจเกิดใหม่มากมายมีส่วนร่วมอย่างมากในโครงการนี้ และผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ”

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการตระหนักรู้สถานการณ์อวกาศ เพื่อปกป้องสินทรัพย์ในอวกาศของตนและพันธมิตรของตนอย่างนาซาและองค์การอวกาศยุโรปจากการโจมตีสกัดกั้นดาวเทียมที่อาจเกิดขึ้นและเศษซากอวกาศที่เป็นอันตราย ตามข้อมูลจาก ดร. ฮอร์นัง

“การตระหนักรู้สถานการณ์ในอวกาศมีประโยชน์ด้านกลาโหม เพราะคุณสามารถทำทุกสิ่งที่คุณต้องการและเพียงแค่ติดตามตำแหน่งของศัตรู แต่ไม่มีเรื่องการทำลายล้างเข้ามาเกี่ยวข้อง” ดร. ฮอร์นังกล่าว

แม้ว่าองค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่นจะร่วมมือกับองค์กรด้านกลาโหมและการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานได้สองทาง แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังยึดมั่นในระบบการควบคุมเทคโนโลยีขีปนาวุธพหุภาคี ที่พยายามป้องกันการแพร่ขยายของเทคโนโลยีขีปนาวุธที่สามารถยิงอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงได้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเอช3 และยานลงจอดอัจฉริยะเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในความสามารถของจรวดที่ใช้งานได้สองทาง

“นี่เป็นสิ่งสำคัญหากญี่ปุ่นจริงจังกับห่วงโซ่สังหารอิสระ” ดร. ฮอร์นังกล่าว โดยอ้างถึงแนวคิดแบบแบ่งช่วงที่จำแนกการปฏิบัติการเชิงรุกตามระยะของการโจมตีเพื่อป้องกันภัยคุกคามดังกล่าว

“ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีขีดความสามารถที่ซับซ้อนอย่างยิ่งตั้งแต่ต้นจนจบ” ดร. ฮอร์นังกล่าว “และหนึ่งในนั้นคือความสามารถในการปล่อยจรวด”

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button