มองภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างแผนก

การปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเล

ประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อควบคุมดูแลขอบเขตทางทะเล

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

มหาสมุทรและทะเลโดยรอบภูมิภาคอินโดแปซิฟิก คือความท้าทายอันใหญ่หลวงด้านการปกป้องอธิปไตยและรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและการค้า ซึ่งเป็นอุปสรรคที่นักวางแผนทางการทหารเรียกว่า “ทรราชย์แห่งระยะทาง”

ดาวเทียม เซ็นเซอร์ อากาศยาน และเรือบนผิวน้ำแบบไร้คนขับ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ ประกอบกับความพยายามในการแบ่งปันข้อมูลอย่างครอบคลุมระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเชื่อมโยงระยะทางเหล่านี้เพื่อควบคุมดูแลขอบเขตทางทะเล

“ขอบเขตการเฝ้าระวังทางทะเลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังเปลี่ยนจากความทะเยอทะยานเชิงนามธรรมไปสู่แนวทางความมั่นคงร่วมที่ใช้งานได้จริงในการจัดการพื้นที่นอกชายฝั่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปของภูมิภาคนี้” ตามที่ระบุไว้ในบทความเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ของแพ็คเน็ต ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของแปซิฟิกฟอรัม สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่ที่รัฐฮาวาย “การประหยัดต้นทุนส่วนใหญ่ในกิจกรรมการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลเป็นผลสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งการเข้าถึงดาวเทียมที่ให้ภาพชัดเจนและแม่นยำยิ่งขึ้น ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์และแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับการติดตามเรือ การคาดการณ์ และการตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติ”

เช่น ฮอว์กอาย 360 ที่ใช้เทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุจากอวกาศเพื่อตรวจจับและตรวจสอบเรือ รวมถึง “เรือมืด” ที่ปิดใช้งานอุปกรณ์ตอบสนองของระบบแสดงตนอัตโนมัติเพื่อปกปิดการทำประมงที่ผิดกฎหมายและกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ บริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อช่วยเหลือสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนในการรักษาความปลอดภัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ทางทะเลอื่น ๆ สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจโดยอาศัยการมีเส้นทางเดินเรือที่ปลอดภัยและมั่นคง

การขนส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 60 เป็นการขนถ่ายมายังท่าเรือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ขณะที่การบรรทุกออกนั้นมีมากกว่าร้อยละ 40 ตามรายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา เนื่องด้วยการค้าทางทะเลเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ ความเสี่ยงของการหยุดชะงักจึงเพิ่มมากขึ้น “ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุจากการขนส่งสินค้า เหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นด้วยอาวุธ การหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรด้วยการขนถ่ายจากเรือสู่เรือ การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือจากความกังวลที่เพิ่มขึ้น การแย่งชิงทะเลแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือการปิดกั้นทางทะเลในบริเวณจุดแออัดที่เปราะบาง” นางแอเรียล สเตเน็ก นักศึกษาปริญญาเอกแห่งสถาบันบัณฑิตแห่งชาติเพื่อการศึกษานโยบายในโตเกียว เขียนในบทความสำหรับแพ็คเน็ต นางสเตเน็กตั้งข้อสังเกตว่า “ภัยคุกคามเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภัยคุกคามข้ามชาติ ได้กระตุ้นให้มีการค้นหาวิธีแก้ปัญหาแบบเครือข่ายและมีส่วนร่วมกันระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน”

ความพยายามเหล่านั้น รวมถึงความร่วมมือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกการเฝ้าระวังขอบเขตทางทะเล ซึ่งเปิดเผยโดยผู้นำของประเทศหุ้นส่วนการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ระหว่างการประชุมร่วมกันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่กรุงโตเกียว โครงการริเริ่มนี้พยายามที่จะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ และขยับขยายการแบ่งปันข้อมูลระหว่างศูนย์บูรณาการระดับภูมิภาคเพื่อ “เปลี่ยนความสามารถของประเทศหุ้นส่วนในหมู่เกาะแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียให้สามารถควบคุมดูแลน่านน้ำนอกชายฝั่งของตนอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในทางกลับกันก็เพื่อรักษาภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างไว้” เหล่าผู้นำกล่าวในแถลงการณ์

ดร. อาร์นับ ดาส ผู้บัญชาการกองทัพเรืออินเดียที่เกษียณอายุราชการแล้ว และผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยทางทะเลในเมืองปูเน อินเดีย ระบุว่า ความสามารถของศูนย์บูรณาการเหล่านั้น รวมถึงในอินเดีย สิงคโปร์ และวานูอาตู ในการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพสูงจะช่วยเพิ่มขอบเขตการเฝ้าระวังทางทะเลในภูมิภาคได้อย่างมหาศาล “ระบบอัตโนมัติและการเรียนรู้ของเครื่องจักร มีความสำคัญต่อการระบุพฤติกรรมที่น่าสงสัยตามเวลาจริงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย” ดร. ดาสเขียนในบทความสำหรับ ฟอรัม

สำหรับกองทัพเรือ กองกำลังรักษาชายฝั่ง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลอื่น ๆ ของภูมิภาคนี้ การเข้าถึงเส้นทางการสื่อสารทางทะเลที่สำคัญกำลังได้รับการทดสอบจากท่าทีอุกอาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้อันเป็นข้อพิพาท เช่น เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 กองเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่ง กองทัพเรือ และพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พยายามปิดกั้นเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ 2 ลำและเรืออีก 2 ลำไม่ให้ส่งมอบอาหารและเสบียงแก่กองทัพฟิลิปปินส์ที่ประจำการอยู่ที่สันดอนโทมัสที่สองในทะเลจีนใต้ เรือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปะทะเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์และเรือเสบียงในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการประท้วงทางการทูตจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เกี่ยวกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เรียกว่า “การกระทำอันเป็นอันตรายและผิดกฎหมาย” ของรัฐบาลจีน

“ด้วยการใช้ยุทธวิธีพื้นที่สีเทา เช่น พลเรือนติดอาวุธทางทะเล กองกำลังรักษาชายฝั่งที่มีการจัดกำลังทางทหาร และการดำเนินคดีกับเรือและแพลตฟอร์มทางการค้าที่แข่งขันอย่างถูกกฎหมาย จีนค่อย ๆ พยายามที่จะท้าทายพื้นที่ร่วมทางทะเลที่เสรีและเปิดกว้างในหมู่เกาะกลุ่มแรก โดยอ้างอิงถึงไต้หวันว่าเป็น ‘พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการคืนอำนาจของจีน’ และเป็น ‘รากฐานสู่มหาสมุทรแปซิฟิก’ ในรายงานทางการทหารของทางการ” ร.ท. ซามูเอล ฮีแนน ไวน์การ์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ เขียนไว้ในวารสาร โปรซีสดิงส์ ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวารสารของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ

ซึ่งทำให้ความต้องการเครือข่ายของเซ็นเซอร์ในการตรวจจับและป้องปรามกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น “ทั้งในช่วงเวลาสงบสุขและระหว่างเกิดสงคราม” ร.ท. ไวน์การ์ระบุ ดาวเทียมและเซ็นเซอร์สามารถ “จัดหาอุปกรณ์การโจมตีด้วยการตระหนักรู้ในพื้นที่การสู้รบได้ดีเกินขอบเขตทางยุทธวิธีของแต่ละประเทศ และสามารถนำเสนอขีดความสามารถด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวนในพิสัยสำคัญทั่วโลก” ร.ท. ไวน์การ์เขียน “เซ็นเซอร์ที่ใช้งานโดยเรือและทรัพยากรการโจมตีอื่น ๆ อาจไม่สามารถให้ข้อมูลแบบกำหนดเป้าหมายทั่วไปที่เพียงพอสำหรับเป้าหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่ยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อแพลตฟอร์มของประเทศ การวางตำแหน่งเซ็นเซอร์แบบเครือข่ายในหมู่เกาะกลุ่มแรกจะเป็นการขยายเชิงตรรกะของการวางแผนปฏิบัติการของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในปัจจุบันและที่วางแผนไว้ในภูมิภาค”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button