กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ท่ามกลางการบีบบังคับจากจีน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ข้อความล่าสุดจากเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนในระหว่างการประชุมแบบพบหน้ากันเมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กล่าวคือ สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในนโยบาย “จีนเดียว” ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยมีกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันเป็นแนวทาง
นายไมเคิล เชส รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประจำจีน ไต้หวัน และมองโกเลีย ได้ย้ำถึงความสําคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นน่านน้ำระหว่างประเทศที่มีความสําคัญต่อการค้าโลก ในการประชุมเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กับ พล.ต. ซง หยานจ้าว รองผู้อํานวยการคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางเพื่อความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ
นโยบายจีนเดียวไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่สหรัฐฯ ยอมรับว่าจีนเป็น “รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีน” ใน พ.ศ. 2522 แต่ไม่ได้แสดงจุดยืนต่อสถานะของไต้หวัน
กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันจะมีอายุครบ 45 ปีในวันที่ 10 เมษายน รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน และนายจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยนั้น ได้ลงนามในกฎหมายนี้หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน กฎหมายนี้ให้อํานาจไต้หวันและสหรัฐฯ ในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการ และระบุว่าการรุกรานและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันนี้จะถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของอินโดแปซิฟิกและเป็น “ความกังวลอย่างยิ่งต่อสหรัฐอเมริกา”
กฎหมายดังกล่าวให้การรับประกันไต้หวันและมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้จีนรุกรานไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนและข่มขู่ว่าจะผนวกรวม กฎหมายนี้ระบุว่าสหรัฐฯ จะจัดหา “สิ่งของด้านกลาโหมและบริการด้านกลาโหม” ให้แก่ไต้หวันเพื่อ “รักษาความสามารถในการพึ่งพาตนเอง” สหรัฐฯ มอบเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันสูงสุดถึง 6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี (ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จนถึง พ.ศ. 2570 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันประเทศ พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันยังออกแบบมา “เพื่อแสดงความชัดเจนในการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยตั้งอยู่บนความคาดหวังว่าอนาคตของไต้หวันจะได้รับการกำหนดด้วยสันติวิธี” แม้ว่าสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวัน แต่นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังยึดมั่นในนโยบายที่เรียกว่านโยบายความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์ในการที่จะเข้าแทรกแซงทางการทหารในไต้หวันเมื่อถูกโจมตี
ความพยายามของรัฐบาลจีนในการกลั่นแกล้งไต้หวันรวมถึงยุทธวิธีพื้นที่สีเทา เช่น การส่งเครื่องบินรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชนไปใกล้เกาะไต้หวัน การยิงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามไต้หวัน และการฝึกซ้อมขนาดใหญ่ด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่าเครื่องบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชน 14 ลำและเรือรบจีนได้ “ดําเนินการลาดตระเวนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสู้รบร่วมกัน” รอบเกาะไต้หวัน ตามรายงานของรอยเตอร์ ความพยายามในการบีบบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังรวมถึงการห้ามนําเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารทะเลจากไต้หวัน และมีการปล่อยบอลลูนเฝ้าระวังใกล้กับไต้หวันก่อนการเลือกตั้ง
นักวิเคราะห์กล่าวว่า กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันนี้ได้คาดการณ์ถึงความพยายามดังกล่าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กฎหมายดังกล่าวระบุว่าความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยไต้หวัน “ต่อต้านการใช้กําลังหรือการบีบบังคับรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ระบบสังคม หรือระบบเศรษฐกิจ” ของประชาชนชาวไต้หวัน