“ไร้รอยต่อคือเป้าหมาย”
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียมองว่าวิทยาศาสตร์และความร่วมมือเป็นปัจจัยสำคัญต่อเสถียรภาพและสันติภาพ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ภาพถ่ายจากกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียให้ความสําคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมกับมุ่งมั่นที่จะรักษาระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาทั่วโลกและอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ดร. ไนเจล แมคกินตี้ เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของกระทรวงกลาโหมที่รับผิดชอบด้านกลยุทธ์ทางวิทยาศาสตร์ การสื่อสาร และการมีส่วนร่วมระหว่างประเทศ ดร. แมคกินตี้ ซึ่งเป็นผู้ร่วมอภิปรายในการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิกประจำ พ.ศ. 2566 ที่ฮาวายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์กับ ฟอรัม เกี่ยวกับภารกิจของตนในการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมแนวคิดดั้งเดิมและความร่วมมือระดับพหุภาคีในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการเรียบเรียงบทสนทนาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

ภาระงานของคุณมีอะไรบ้างและคุณคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายใด?
บทบาทของผมคือการพัฒนาและกำกับกลยุทธ์ทางวิทยาศาสตร์ขององค์กร ทั้งวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่นำไปประยุกต์ใช้ในด้านกลาโหมและความมั่นคง ออสเตรเลียตั้งเป้าหมายไปในทิศทางใดและเป้าหมายของเรามีอะไรบ้าง? สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในลักษณะนี้ เราต้องอธิบายความสำคัญที่งานของเรามีต่อรากฐานของงานด้านกลาโหมของออสเตรเลีย โดยเรามุ่งมั่นที่จะชี้แจงถึงทิศทางที่เราจะก้าวไปอย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือเสมอ
ซึ่งผลงานระดับนานาชาตินี้มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เรามุ่งหวังที่จะบรรลุผลลัพธ์ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ และการช่วยสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในบทบาทของผม โดยขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เราได้สร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ แคนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ฝรั่งเศส และสวีเดน การสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับประเทศที่มีค่านิยมร่วมกันถือเป็นสิ่งสำคัญ เราจะสามารถรักษาระเบียบสากลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาได้เมื่อร่วมมือกันเท่านั้น ผมมีทีมงานที่ทำงานร่วมกันกับผมเพื่อช่วยชี้นำและส่งเสริมในสิ่งที่กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมดำเนินการร่วมกัน
เราต้องการให้ความสําคัญกับขีดความสามารถยุคใหม่มากขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผม ในวันหนึ่งที่ผมต้องยุติบทบาทนี้ ผมอยากจะพูดว่าเราได้ช่วยสร้างให้สิ่งนี้ยิ่งใหญ่ขึ้น ดีขึ้น และแข็งแกร่งขึ้นในออสเตรเลีย
การรับมือกับความท้าทายแบบพหุภาคีมีความคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับการให้แต่ละประเทศคิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเพียงลำพัง?
อาจคุ้มค่ามากกว่าในมุมมองแบบพหุภาคี แต่ก็อาจต้องใช้เวลามากขึ้นเช่นกัน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ สมมติให้มีคน 3 – 4 คนอยู่ในห้องเดียวเดียวกัน พยายามที่จะออกแบบบางสิ่งบางอย่าง ทุกคนก็จะพยายามนำแนวคิดของตนมาใช้ในโครงการใช่ไหมครับ? อีกวิธีหนึ่งในการสร้างแรงขับเคลื่อนคือ ให้คนหนึ่งเริ่มลงมือทำแล้วคนอื่น ๆ ก็เข้าร่วมและสานต่อ ทำให้โครงการพัฒนาเมื่อเวลาผ่านไป คุณได้รับแม่แบบจากบุคคลหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง จากนั้นคนอื่น ๆ ก็เข้าร่วมด้วย เราต้องเปิดกว้างเพื่อเปิดรับผู้คนเข้ามาทำงานร่วมกัน
โครงการความร่วมมือต้องตอบโจทย์ประเทศหุ้นส่วนทั้งหมด และวิธีที่ง่ายที่สุดคือการรวมเข้ากับโครงสร้างของกองทัพ โครงการนี้ต้องพัฒนาไปโดยยึดแนวคิดของการออกแบบร่วมกัน ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางการพัฒนาที่ใช้ได้จริงและสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้น หากมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากเสนอความต้องการ คุณก็จะติดอยู่กับระบบที่ซับซ้อนเกินไป และเราต้องปลดสิ่งเหล่านี้ออกไป
ความร่วมมือที่ทุกคนทำงานร่วมกันในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์และวิวัฒนาการคืออนาคตของเรา ตัวอย่างเช่น โครงการความร่วมมือทางเทคนิคที่ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริการ่วมมือกันในโครงการริเริ่มทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้กลยุทธ์เป็นตัวนำ ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความเชี่ยวชาญเพื่อขยายผลสัมฤทธิ์ด้านการวิจัยและพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานซ้ำซ้อนและปรับปรุงการทำงานร่วมกัน
การแบ่งปันข้อมูลกันเป็นอันตรายต่อ ความมั่นคงของชาติหรือไม่?
ผมเข้าใจดีว่าทุกประเทศต้องปกป้องสุดยอดเทคโนโลยีของตน ทว่าแก่นแท้ของหลักวิทยาศาสตร์คือการตีพิมพ์และผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดวิทยาการแบบเปิด เราจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันในภายหลังเมื่อเราเริ่มคิดเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์จะสร้างความได้เปรียบด้านขีดความสามารถทางการทหารหรือไม่
ในบรรดากระทรวงกลาโหมของเรา เราจําเป็นต้องมีอิสระมากขึ้นในการใช้ข้อมูลของเรา เพื่อให้เรามีช่วงเวลาที่ทำงานอย่างไร้รอยต่อ ร่วมมือกัน คิดค้นนวัตกรรม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งโครงการพัฒนานี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ เราอยู่กันคนละประเทศ แต่ค่านิยมและความเชื่อของเราเป็นไปในทางเดียวกัน ในระดับนานาชาติสิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือเรามีความคล่องตัวมากขึ้นและทุกฝ่ายมีแรงผลักดันที่จะทำให้มากยิ่งกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก
คุณบอกว่านวัตกรรมถือเป็นงานที่สร้างสรรค์ แต่ก็จําเป็นต้องทําให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แนวคิดนี้ขัดแย้งกันหรือไม่?
ผมคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น จำไว้ว่าเรามีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาและใช้งานนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี สงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้เวลาไม่นานนัก แต่จะเห็นได้ว่ามีสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับการคิดค้นและสร้างขึ้นภายในช่วงเวลานั้น เราต้องมองไปที่การพัฒนาที่เกิดขึ้นได้จริง แต่ต้องมองด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรให้รวดเร็ว เปรียบเสมือนเราเริ่มลงมือจากรถยนต์ โมเดล ที และค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นโรลส์-รอยซ์ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการพัฒนา ผมคิดว่าเราจะหมดเวลาไปกับการพัฒนาเป็น 10 ปีหากเราคํานวณปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหมดที่เราต้องใช้ในการทําบางสิ่งบางอย่าง แทนที่จะเริ่มลงมือทำงานร่วมกันเพื่อทําความเข้าใจองค์ประกอบของการออกแบบร่วมกัน รู้ไหมเราจะดำเนินการอย่างไรให้รวดเร็ว? เราจะสามารถทำสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงเกือบทั้งหมดสักร้อยละ 90 ได้หรือไม่? คำตอบคือเราอาจจะทำได้สำเร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่การจะทำให้เสร็จสมบูรณ์เต็มร้อยนั้นต้องใช้เวลา 5 ปี
วิธีการพัฒนาขีดความสามารถของกระทรวงกลาโหมค่อนข้างเป็นวิธีตามแบบฉบับเดิม แต่วิธีการตามแบบฉบับเดิมนี้อาจช้าและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น เราจึงต้องศึกษาวิธีการเร่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านขีดความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสํา

หรับออสเตรเลียหรือประเทศเล็ก ๆ เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและขีดความสามารถที่มีผลกระทบเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีข้อได้เปรียบที่แตกต่างจากผู้อื่นได้อย่างไร?
เราจำเป็นต้องสำรวจวิธีการที่แปลกใหม่เพื่อผนึกกำลังกันและกำหนดเป้าหมายสิ่งที่เราสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถนั้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่าพยายามที่จะผลิตโรลส์-รอยซ์ตั้งแต่แรก โดยพื้นฐานแล้ว การพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมไปถึงโลกใบใหญ่ที่เราอาศัยอยู่นี้ ดังนั้นเราต้องมีขีดความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผมให้การสนับสนุนอยู่
ขณะนี้มีการสื่อสารระหว่างรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมและอุตสาหกรรมเอกชนมากขึ้นหรือไม่?
การสื่อสารดังกล่าวคือจุดประสงค์ของการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิกครั้งนี้ ตอนนี้มีความสัมพันธ์มากขึ้นหรือไม่? มีการให้ความสําคัญมากขึ้นกับการให้อุตสาหกรรมเอกชนทํางานร่วมกับรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่? มีแน่นอน ใน พ.ศ. 2559 กระทรวงกลาโหมของเราได้เปลี่ยนทิศทางการดำเนินการ เราสัญญาว่าอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐานของขีดความสามารถ ซึ่งหมายความว่าเราได้สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมทุกกิจกรรมของกระทรวงกลาโหม และที่แน่นอนที่สุดคือ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีความสําคัญมาก ใน พ.ศ. 2559 ออสเตรเลียได้ลงทุนด้านนวัตกรรมโดยการสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมกลาโหมและกองทุนเทคโนโลยียุคใหม่ เราสามารถยกระดับมาตรฐานด้วยโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างอุตสาหกรรมขนาดเล็กและบริษัทขนาดเล็ก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับพันธมิตรทางการค้าเพื่อหาโอกาสที่อาจเป็นไปได้ บริษัทต่าง ๆ กําลังจัดตั้งขึ้นด้วยรูปแบบธุรกิจดังกล่าว เรามาถึงทุกวันนี้ได้เพราะบริษัทต่าง ๆ ได้สร้างระบบนวัตกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ตัวเร่งขีดความสามารถด้านกลยุทธ์ขั้นสูงเป็นการปฏิวัติยุคใหม่ของระบบนวัตกรรมกลาโหมของออสเตรเลีย
ปัญหาท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคืออะไร?
เป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเรื่องเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกเสมอ ปัญหาท้าทายใหญ่หลวงที่สุดคือการหาคนที่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จ คนที่สามารถเข้าใจสิ่งที่เราต้องทำ และผสมผสานเข้ากับศิลปะทางเทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นเรื่องของกระบวนการสร้างสรรค์ และจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษเท่านั้นที่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ได้ชัดเจนแล้วเริ่มลงมือทำให้ใช้งานได้จริง สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทำงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี
หากคุณสามารถแสดงวิสัยทัศน์ให้น่าสนใจ ก็จะสามารถทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม จัดการเงินทุน จัดตั้งบริษัท ตลอดจนเปิดรับทหารและนักวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมได้ นั่นคือการเชื่อมถึงกัน เส้นทางใดบ้างที่เราสามารถก้าวเดินไปได้? หากภารกิจได้รับการอธิบายอย่างละเอียดและชัดเจนสำหรับทุกคน และมีบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่ง สิ่งต่าง ๆ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนและเริ่มเดินหน้าต่อไป คุณสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้เลย
ออสเตรเลียเองก็กําลังลงทุนในนวัตกรรม ระบบของออสเตรเลียสามารถซึมซับนวัตกรรมได้มากขึ้นและตอนนี้มีระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่เติบโตมากขึ้น
การประชุมเช่นเดียวกับการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิกสร้างคุณค่าหรือไม่?
คำตอบคือ ใช่อย่างแน่นอน เราต้องจัดงานแบบนี้ให้มากขึ้น เราต้องสร้างความสัมพันธ์กันให้มากขึ้น เทคโนโลยีทำให้เราได้พบปะกันอยู่เสมอและทำให้เราหากันพบง่ายขึ้น แต่การพบปะกันต่อหน้าและการสร้างความสัมพันธ์ถือเป็นสิ่งสำคัญ การสนทนาเหล่านี้ทำให้กระบวนการจัดทำบันทึกความเข้าใจและการจัดเตรียมโครงการง่ายขึ้น ผมสร้างมิตรภาพกับเพื่อนร่วมงานมากมายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิกและการประชุมเสมือนจริง ซึ่งมากกว่าที่ผมเคยทำมาก่อนการระบาดของโควิด-19
สถานการณ์โควิด-19 บังคับให้เราต้องสื่อสารกันมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถพบปะตัวจริงกันได้ตลอดเวลา ก่อนการระบาด เราจะมารวมตัวกันในห้องประชุมปีละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อพูดคุยถึงโอกาสต่าง ๆ จากนั้นเราจึงเดินทางกลับไปยังประเทศของตนและเริ่มจัดการกับกิจการภายในประเทศ ในช่วงโควิด มีหลายกิจกรรมในลักษณะคล้ายกันนี้ที่ไม่ได้จัดขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องหาหนทางใหม่ ๆ ในการสื่อสาร เราได้เห็นประโยชน์ของการพูดคุยกันบ่อย ๆ และตอนนี้เราเปิดกว้างกับทุกฝ่ายมากขึ้น การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้มแข็งและเกิดประสิทธิผลจำเป็นต้องอาศัยการรวมงานกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการแปซิฟิก เข้ากับกิจกรรมออนไลน์ จริง ๆ แล้วผมต้องบอกว่าการประชุมทางออนไลน์ทำให้คนที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างผมต้องเริ่มงานเร็วกว่าปกติเล็กน้อย แต่วิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงเขตเวลาได้
เราจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด?
เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและกำลังพลิกโฉมกองทัพ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัม การขับเคลื่อนด้วยความเร็วเหนือเสียง และการเชื่อมถึงกันในทุกมิติเป็นพื้นฐานของการพลิกโฉมนี้ ทุกสิ่งดูเป็นไปได้ แม้ว่าอาจจะน่ากลัวก็ตาม โลกของเราต่างออกไปเล็กน้อย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในการจัดการ และแม้ว่าการสื่อสารระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงมั่นใจได้เลยว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกก็สื่อสารกันได้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน เราจำเป็นต้องทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่เป็นระบบราชการให้น้อยลงและมีประสิทธิผลมากขึ้น ด้วยความโปร่งใสมากขึ้น ไร้รอยต่อคือเป้าหมาย