เปิดโปง การสอดแนม ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
วิธีการขโมยความลับทางเทคโนโลยีด้านทหารและอุตสาหกรรมโดยรัฐบาลจีน
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
บอลลูนในชั้นบรรยากาศที่มองเห็นได้ชัดซึ่งเคลื่อนผ่านภาคพื้นทวีปสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ก่อนที่เครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ จะยิงระบบเฝ้าระวังดังกล่าว เป็นสัญญาณเตือนประเทศต่าง ๆ ให้ระวังการสอดแนมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้เทคโนโลยีการเฝ้าระวังประเภทนี้ไปทั่วโลกเพื่อสอดแนมคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น ๆ หลายสิบประเทศ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรือเหาะของจีนที่คล้ายกันนี้ได้ออกปฏิบัติการในเอเชียตะวันออก ยุโรป ลาตินอเมริกา อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พล.จ. แพทริค เอส. ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าว “นี่คือสิ่งที่เราประเมินว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบอลลูนเฝ้าระวังขนาดใหญ่ของจีน” พล.จ. ไรเดอร์กล่าวในงานแถลงข่าวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
แต่บอลลูนสอดแนมเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของยุทธศาสตร์การปกครองของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างกองทัพที่เหนือกว่ากองทัพอื่น ๆ ในโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เหนือกว่าอีกด้วย รัฐบาลของนายสียินดีที่จะใช้ทุกวิธีการที่จำเป็นเพื่อตามให้ทันคู่แข่งและปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะครองสมรภูมิรบและเศรษฐกิจโลก
“จีนอาจเป็นประเทศแรกที่รวมความมุ่งมั่นแบบเผด็จการเข้ากับความสามารถด้านเทคนิคที่ล้ำสมัย ซึ่งเหมือนกับการเฝ้าระวังอย่างเลวร้ายในเยอรมนีตะวันออกซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีของบริษัทซิลิคอนวัลเลย์ร่วมด้วย” นายคริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อํานวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ กล่าวในระหว่างการปราศรัยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ชาวเยอรมันตะวันออกตกอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังโดยสำนักงานตำรวจที่เก็บข้อมูลลับของผู้คนหลายล้านคนเป็นเวลาประมาณ 40 ปีในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20
พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้เทคนิคหลายอย่างตั้งแต่วิธีดั้งเดิม เช่น การสอดแนม การใช้บุคคลเพื่อล่อลวง การขู่กรรโชก และการติดสินบน ไปจนถึงวิธีที่ทันสมัยที่ต้องอาศัยการเจาะระบบทางออนไลน์และการรวบรวมข้อมูลลับ เพื่อจารกรรมข้อมูลด้านอุตสาหกรรมและการทหารที่สําคัญจากองค์กร รัฐบาล กองทัพ และมหาวิทยาลัย นอกจากจะใช้หน่วยงานภาครัฐรวมถึงองค์กรและบริษัทของรัฐแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังหาสมาชิกเพิ่มจากชาวจีนพลัดถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักศึกษา ตลอดจนชาวต่างชาติผ่านทางสถาบันขงจื๊อซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นสถาบันวัฒนธรรม เพื่อเสริมการทำงานของพรรค
การขโมยข้อมูลลับทางทหารและการค้าไม่เพียงแต่ให้ผลประโยชน์เท่านั้น แต่ยังมีความสําคัญเชิงยุทธศาสตร์อีกด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ประเทศต่าง ๆ “ก้าวกระโดดในด้านห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งไม่ต้องเสียต้นทุนทั้งในแง่ของเวลาและเงินในการพึ่งพาความสามารถในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว” นายนิก มาร์โร นักวิเคราะห์จากหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ แผนกวิจัยและวิเคราะห์ของ
ดิอีโคโนมิสต์กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทสื่อระดับโลก กล่าวกับบีบีซี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เช่น บุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานธุรกิจของรัฐบาลจีนได้ขุดเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมจากฟาร์มของสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์ในการวิจัยและพัฒนาเป็นเวลาหลายปี นายเรย์กล่าว
การขโมยเทคโนโลยีทางการทหาร
การใช้กลยุทธ์ที่คล้ายกันนี้ในด้านการทหารดูเหมือนจะก่อให้เกิดผลเสีย การพัฒนาเครื่องบินขับไล่ล่องหน เจ-20 ของกองทัพจีนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สายลับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขโมยเทคโนโลยีหลักโดยการเจาะระบบเซิร์ฟเวอร์ของสหรัฐฯ หลายครั้งผ่านทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2550, 2552 และ 2554 ตามรายงานของนักวิเคราะห์ด้านการบิน นอกจากนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังได้เข้าถึงข้อมูลของเครื่องบิน เอฟ-117 ของสหรัฐฯ ที่ตกในเซอร์เบียใน พ.ศ. 2542 ซึ่งทําให้รัฐบาลจีนอาจทำการวิศวกรรมย้อนกลับเกี่ยวกับความสามารถของอากาศยานล่องหนนี้ได้ การพัฒนาเครื่องบิน เจ-20 เริ่มต้นขึ้นประมาณ พ.ศ. 2549 และเครื่องบินขับไล่ดังกล่าวก็เข้าประจำการใน พ.ศ. 2560 ขณะที่มีการทดสอบการบินเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2558 รายงานข่าวได้ระบุรายละเอียดถึงความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างเครื่องบินขับไล่ของจีนและ เอฟ-22 แรปเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของสหรัฐฯ
“สิ่งที่เรารู้ก็คือการสอดแนมทำให้เครื่องบิน เจ-20 ของจีนมีความก้าวหน้ามากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญที่เราจะพูดถึงในวันนี้” นายเจมส์ แอนเดอร์สัน อดีตรักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านนโยบาย กล่าวกับช่องฟ็อกซ์นิวส์ดิจิทัล เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 “จีนได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการโจรกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้ดี อีกทั้งยังได้พัฒนาความก้าวหน้าของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5”
“นั่นช่วยให้จีนประหยัดทั้งเวลาและเงิน ในทางปฏิบัติแล้ว เรากลายเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการวิจัยและพัฒนาของจีน เนื่องจากจีนขโมยข้อมูลลับบางอย่างของเราบางส่วนไปได้สำเร็จ” นายแอนเดอร์สันกล่าว “ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งนี้จะทําให้เจ้าหน้าที่ชายและหญิงของเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นในสนามรบ”
แม้ว่าการคำนวณค่าใช้จ่ายทางการเงินของรัฐบาลจีนในการสอดแนมคู่แข่งทางยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ “เห็นได้ชัดว่าจีนกำลังลดทอนความได้เปรียบของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศอย่างรวดเร็ว” นายแอนเดอร์สันกล่าว
นอกจากนี้ “การสอดแนมของจีนได้ทําลายการพึ่งพาความสามารถทางอวกาศของสหรัฐฯ ในการสื่อสาร ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญ ตลอดจนความสามารถของเราในการกระจายกําลังทหารทั่วโลก” นายนิก เอฟติเมียเดส เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่เกษียณแล้วของสหรัฐฯ ระบุในบทความที่เขียนให้กับเบรกกิ้งดีเฟนส์ นิตยสารดิจิทัลด้านยุทธศาสตร์กลาโหม การเมือง และเทคโนโลยี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563
แต่ “ยังขาดข้อมูลการสู้รบจริง” นายแอนเดอร์สันกล่าว เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าเครื่องบิน เจ-20 ดีหรือด้อยกว่า แรปเตอร์ อย่างไร วารสารอินเตอร์เนชั่นแนล ซีเคียวริตี้ ได้ตั้งคำถามถึงความสามารถของเครื่องบินขับไล่จีนรุ่นนี้ในบทความ พ.ศ. 2562 เรื่อง “เหตุใดจีนยังไล่ตามไม่ทัน: ความเหนือชั้นของเทคโนโลยีการทหารและข้อจำกัดของการเลียนแบบ วิศวกรรมย้อนกลับ และการสอดแนมทางไซเบอร์” นักวิจัยพบว่า “ยังคงมีข้อสงสัยอย่างมากว่าประสิทธิภาพของเครื่องบิน เจ-20 นั้นใกล้เคียงกับ เอฟ-22 หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว แหล่งข่าวของจีนที่ไม่เปิดเผยชื่อยอมรับว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนรีบนําเครื่องบิน เจ-20 ไปใช้เพื่อรับมือกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ แม้ว่าจะมีช่องว่างของความสามารถที่ทําให้ เจ-20 ด้อยกว่า เอฟ-22 โดยงานวิจัยดังกล่าวสรุปว่า ความพยายามของจีนในการพัฒนาเครื่องยนต์ของอากาศยานภายในประเทศทําให้เกิดคําถามเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่าจีนได้ปิดช่องว่างของเทคโนโลยีการทหารดังกล่าวจนเท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกาด้วยเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 และที่สำคัญกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นข้อดีว่าการที่จีนชอบเลียนแบบนั้นพบกับข้อจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลอกเลียนแบบหรือทำการวิศวกรรมย้อนกลับเทคโนโลยีจํานวนมากจากกองทัพอื่น ๆ รอสเทค คอร์ป ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย กล่าวหารัฐบาลจีนใน พ.ศ. 2562 ว่าลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของตน เช่น เครื่องยนต์อากาศยาน เครื่องบินซุคฮอย เครื่องบินไอพ่นโดยสาร ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบเคลื่อนที่ และระบบป้องกันภัยภาคพื้นดินสู่อากาศระยะปานกลาง ตามรายงานของนิกเคอิ เอเชียน รีวิว นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ก่อตั้งรอสเทคใน พ.ศ. 2550
นักวิเคราะห์กล่าวว่ารัฐบาลจีนยังคงมุ่งเป้าไปที่รัสเซียเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีทางทหารที่สำคัญ ตามรายงานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ของเช็กพอยท์ ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของอิสราเอลและสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามแทรกซึมเข้าไปในสถาบันวิจัยการสื่อสารผ่านดาวเทียม เรดาร์ และเทคโนโลยีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของรัสเซียผ่านการหลอกลวงทางออนไลน์และการเจาะระบบ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์
ภัยคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงของสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้เตือนผู้นําธุรกิจ โดยเฉพาะผู้นําธุรกิจในประเทศตะวันตกว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยคุกคาม “อย่างยิ่ง” ต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ นายเรย์บอกกับผู้บริหารธุรกิจและมหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันในลอนดอนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งใจที่จะครองภาคธุรกิจที่สำคัญมากมาย ตามรายงานของบีบีซี พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็น “ภัยคุกคามร้ายแรงต่อธุรกิจของชาติตะวันตกมากกว่าที่นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์หลายคนจะตระหนักได้” นายเรย์กล่าว พรรคคอมมิวนิสต์จีนกําลังสอดแนมบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก “ตั้งแต่เมืองใหญ่ไปจนถึงเมืองเล็ก ๆ ตั้งแต่บริษัท 100 อันดับแรกตามนิตยสารฟอร์จูนไปจนถึงบริษัทเกิดใหม่ และสอดแนมความสนใจของผู้คนตั้งแต่การบิน ปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงเภสัชกรรม” นายเรย์กล่าว ตามรายงานของบีบีซี งานวิจัยของรัฐบาลสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2561 ระบุว่าการโจรกรรมข้อมูลลับทางการค้าของจีนอาจทําให้สหรัฐฯ เสียหายมากถึง 19 ล้านล้านบาท (ประมาณ 5.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี
“ปฏิบัติการด้านข่าวกรองของจีนเป็นปฏิบัติการแรกในยุคปัจจุบันที่ใช้ทุกส่วนของสังคมเป็นรากฐานของปฏิบัติการ” นายเอฟติเมียเดสระบุในนิตยสารเบรกกิ้งดีเฟนส์ “ด้วยเหตุนี้ กลยุทธ์การสอดแนมของจีนบางครั้งจึงแยบยลมาก โดยแทบจะไม่ใช้วิธีการสอดแนมแบบทั่วไป (การสื่อสารที่เข้ารหัส เดดดร็อป ฯลฯ) แต่อาศัยปฏิบัติการสอดแนมจํานวน มากที่ดําเนินการโดยพลเมืองต่าง ๆ และการลอยนวลพ้นผิดที่ขาดการลงโทษที่เป็นรูปธรรมเมื่อพบตัวสายลับชาวจีน”
ผู้เชี่ยวชาญโต้แย้งว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนบีบบังคับและคุกคามพลเมือง หน่วยงานเชิงพาณิชย์ และชาวต่างชาติ รวมถึงนักวิชาการชาวจีนและนักวิจัยต่างชาติให้มีส่วนร่วมในเครือข่ายการรวบรวมข่าวกรอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดําเนินโครงการพัฒนาทักษะความสามารถอย่างน้อย 500 โครงการเพื่อดึงดูดนักวิชาการตะวันตกและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจให้เข้าร่วมในโครงการนี้ นายเอฟติเมียเดสกล่าว สายลับส่วนใหญ่ทํางานในหน่วยข่าวกรองร่วมของคณะกรรมการทหารกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กระทรวงความมั่นคง ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองพลเรือนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือสำหรับรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ นายเอฟติเมียเดสระบุ
ทว่าแนวทางแบบใช้ทุกส่วนของสังคมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของพรรคเท่านั้น นอกจากนี้ยังใช้การสอดแนมทางไซเบอร์เพื่อ “หลอกลวงและขโมยครั้งใหญ่” นายเรย์กล่าว “ระดับของแผนการเจาะระบบของจีนและจำนวนข้อมูลส่วนบุคคลและองค์กรที่แฮกเกอร์ของจีนขโมยมานั้น มีมากกว่าทุกประเทศรวมกัน” นายเรย์กล่าวกับเอ็นบีซีนิวส์
ความพยายามในการควบคุมแผนการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยทั่วไปมักไม่ประสบความสําเร็จ แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2558 โดยให้คำมั่นว่าจะไม่มีส่วนร่วมใน “การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาทางไซเบอร์ รวมถึงข้อมูลลับทางการค้าหรือข้อมูลลับทางธุรกิจอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า” แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อตกลงดังกล่าวภายในหนึ่งปี
สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ได้แบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วน 37 ประเทศ นายเคน แมคคัลลัม ผู้นำของหน่วยเอ็มไอไฟว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหราชอาณาจักร กล่าว ตามรายงานของบีบีซี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการโจมตีทางไซเบอร์จํานวนมากกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับรัฐบาลจีนโดยการติดตามเส้นทางดิจิทัล ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ ใน พ.ศ. 2563 สหรัฐฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกลุ่มแฮกเกอร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนซึ่งแทรกซึมเข้าไปในธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และหน่วยงานรัฐบาลมากกว่า 100 แห่งในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เพื่อขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลข่าวกรอง กลุ่มแฮกเกอร์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับ เอพีที41 ซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าวจนถึงกลาง พ.ศ. 2566
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังได้มุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจในอินโดแปซิฟิก ซิสโก้ ทาลอส บริษัทรักษาความปลอดภัยของสหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่มแฮกเกอร์ชื่อ มัสแตงแพนด้า ได้โจมตีองค์กรต่าง ๆ ในอินเดีย เมียนมา และไต้หวันรวมถึงสถานที่อื่น ๆ จากฐานปฏิบัติการในประเทศจีน ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ ในขณะเดียวกัน ซีเคียวเวิร์ค บริษัทรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 – 2560 กลุ่มบริษัท บรอนซ์ บัตเลอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีนได้พยายามขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทเทคโนโลยีในญี่ปุ่น บรอนซ์ บัตเลอร์ใช้ประโยชน์จากข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์และช่องว่างด้านความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อปลอมตัวเป็นหน่วยงานที่เชื่อถือได้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ตามรายงานของซีเคียวเวิร์ค
จีนถูกกล่าวหาว่าพยายามสอดแนมและมุ่งเป้าไปที่ภาคส่วนเทคโนโลยีที่สําคัญ เช่น ยุทโธปกรณ์การบินและอวกาศ การพัฒนาด้านเภสัชกรรม วิศวกรรมชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี เพื่อผลิตวัสดุสำหรับใช้ในภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น การแพทย์ สิ่งทอ และยานยนต์ นายเรย์ หวัง ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ คอนสเตลเลชัน รีเสิร์ช บริษัทที่ปรึกษาใน
ซิลิคอนวัลเลย์ กล่าวกับบีบีซี การสอดแนมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะให้ความสําคัญกับเทคโนโลยีที่เข้ากันได้กับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของตน เช่น นโยบายอุตสาหกรรม เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นแผนเศรษฐกิจ 5 ปีและเอกสารนโยบายอื่น ๆ ที่ระบุช่องว่างในวิสาหกิจด้านเทคโนโลยี การค้า และการทหาร นายเอฟติเมียเดสได้วิเคราะห์การรวบรวมข่าวกรองเกือบ 600 ฉบับที่ได้รับการอนุมัติจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนในงานวิจัย พ.ศ. 2563 เรื่อง “ชุดข้อมูลการสอดแนมของจีน — ปฏิบัติการและยุทธวิธี” โดยกล่าวว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายปฏิบัติการของจีนแบบเปิดเผยและที่เป็นความลับ”
การสอดแนมเพื่อการทำสงคราม
การสอดแนมถือเป็นส่วนสําคัญของสงครามและเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่บ่อนทําลายความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของฝ่ายตรงข้ามในหลาย ๆ ด้าน นักวิเคราะห์ชี้ว่าการโจรกรรมข้อมูลลับทางการค้าจะทําให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศที่ตกเป้าหมายลดลงและนําไปสู่การว่างงานในที่สุด การขโมยข้อมูลทางธุรกิจที่เป็นกรรมสิทธิ์ไม่เพียงแต่จะนํามาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังทําให้ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของคู่แข่งลดลงเรื่อย ๆ
พันธมิตรและหุ้นส่วนต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับการสอดแนมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้ว่าประเทศต่าง ๆ ได้ลองใช้มาตรการนโยบายต่างประเทศและเจรจานโยบายการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น แต่มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการสอดแนมทั่วทุกมุมโลกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้น ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันจึงพยายามขยายการประสานงานระหว่างประเทศ รวมถึงใช้ประโยชน์และขยายพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างบรรทัดฐานระหว่างประเทศและเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้ขัดขวางความพยายามในการโจรกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับความสนใจอย่างมากและได้ดําเนินคดีกับการกระทำดังกล่าวมากขึ้น เช่น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 สหรัฐฯ ได้ตัดสินให้จําคุกนายเจิ้ง เสี่ยวชิง สองปีในข้อหาขโมยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำ รวมถึงใบมีดและซีลที่เป็นกรรมสิทธิ์จากเจเนรัล อิเล็กทริก พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทนายจ้างของเขาในขณะนั้น
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เริ่มการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับจีนทุก 10 ชั่วโมง และขณะนี้มีมากกว่า 2,000 คดีที่กําลังดําเนินการอยู่ นายเรย์ระบุ นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 สหรัฐฯ ยังได้ตัดสินจําคุกนายซู เอี้ยนจุน พลเมืองจีน เป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาสมคบคิดที่จะขโมยข้อมูลลับทางการค้าของบริษัทการบินและอวกาศของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงบริษัทเจเนรัล อิเล็กทริก มีรายงานว่านายซูเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองจีนคนแรกที่ถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาคดี โดยเขาขโมยข้อมูลดังกล่าวและปกปิดข้อมูลซึ่งเข้ารหัสไว้ในไฟล์ข้อมูลอื่นและส่งไปยังจีน นายอลัน โคห์เลอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยงานต่อต้านข่าวกรองของเอฟบีไอ เรียกการกระทําของนายซูว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การสอดแนมทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนโดยรัฐ” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามรายงาน
ของฟ็อกซ์บิสเนสนิวส์ “เรื่องนี้ควรทำให้ผู้ที่สงสัยในเป้าหมายที่แท้จริงของจีนได้ตาสว่าง พวกเขากําลังขโมยเทคโนโลยีของอเมริกาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการทหารของตนเอง” นายโคห์เลอร์กล่าว
ในทำนองเดียวกัน หน่วยเอ็มไอไฟว์เองก็ได้เพิ่มความพยายามอย่างมากในการต่อต้านการสอดแนมของจีน ใน พ.ศ. 2565 หน่วยงานความมั่นคงได้ดําเนินการสอบสวนเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้นเป็นเจ็ดเท่าของ พ.ศ. 2561 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายแมคคัลลัมกล่าวกับบีบีซี
การเพิ่มมาตรการตอบโต้
เนื่องจากรัฐบาลจีนได้รับประโยชน์อย่างมากจากการขโมยข้อมูลลับทางการค้าและเทคโนโลยี พันธมิตรและหุ้นส่วนจึงต้องกําหนดโทษให้สูงขึ้นสําหรับบุคคลและองค์กรที่มีส่วนร่วมในการลักลอบทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ในส่วนของสหรัฐฯ เองก็กำลังตอบโต้ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการขโมยเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 สหรัฐฯ ได้ประกาศควบคุมการส่งออกโดยกําหนดให้ผู้ผลิตชิปรายใดก็ตามที่ใช้ซอฟต์แวร์หรือเครื่องมือของสหรัฐฯ ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนที่จะส่งออกชิปไปยังจีน
มาตรการเหล่านี้ยังปิดกั้นไม่ให้พลเมืองอเมริกันและผู้อยู่อาศัยถาวรทํางานให้กับบริษัทชิปของจีนบางแห่ง
และในบรรดามาตรการใหม่เหล่านี้ “การใช้กฎควบคุมผลิตภัณฑ์โดยตรงจากต่างประเทศจะป้องกันไม่ให้บริษัทใด ๆ ในโลกขายชิปที่มีความก้าวหน้าให้กับบริษัทหรือองค์กรของจีนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ หากบริษัทเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการผลิตชิป เช่นเดียวกับบริษัทผลิตสารกึ่งตัวนำเกือบทุกแห่งทั่วโลก” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ มาตรการเหล่านี้จะทําให้บริษัทและองค์กรทางทหารของจีนเข้าถึงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ผลิตจากต่างประเทศโดยใช้เครื่องมือและการออกแบบของสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น ตามรายงานของเดอะวอชิงตันโพสต์
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ดําเนินมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อขัดขวางการสอดแนมทางไซเบอร์โดยเพิ่มความพยายามในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ละเอียดอ่อน อีกทั้งยังร่วมมือกับภาคเอกชนในการลดกิจกรรมที่เป็นอันตรายในโลกไซเบอร์
นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับพันธมิตรและหุ้นส่วนได้กลายเป็นสิ่งสําคัญมากขึ้นในการปกป้องเครือข่ายและหยุดการสอดแนมทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ประเทศสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือควอด ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลในด้านไซเบอร์ ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยังร่วมมือกันในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การฝึกซ้อมทางทหารที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถในการรับมือกับการโจรกรรมทางไซเบอร์และภัยคุกคามอื่น ๆ
กองทัพและประเทศต่าง ๆ ได้ตระหนักว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ของประเทศในปัจจุบันและอันตรายนี้มีแต่จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เจ้าหน้าที่กล่าวว่าเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามเหล่านี้ สหรัฐฯ รวมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนกําลังมองหาวิธีที่ดีกว่าในการกําหนดโทษทางการทูต เศรษฐกิจ และข้อมูล ต่อฝ่ายตรงข้ามที่มีส่วนร่วมในการสอดแนมทางไซเบอร์และเศรษฐกิจ การร่วมกันตอบโต้ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติอาจเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและควบคุมการสอดแนมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน