ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือโอเชียเนีย

ออสเตรเลียและญี่ปุ่นร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถด้านการสื่อสารใต้ทะเลและด้านกลาโหม

ฟีลิกซ์ คิม

ออสเตรเลียและญี่ปุ่นกำลังร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถในการต่อสู้ใต้ทะเล เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนขยายกองเรือดำน้ำอย่างรวดเร็วและออกปฏิบัติการรุกรานทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก ซึ่งมักจะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ การประกาศนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในวงกว้างของออสเตรเลียในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านความมั่นคง อูกัส กับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

คาดว่าภายใน พ.ศ. 2568 จีนจะมีเรือดําน้ำ 65 ลํา และใน พ.ศ. 2578 จะมี 80 ลํา ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนใกล้กับหมู่เกาะเซ็งกะกุของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566
วิดีโอจาก: นิปปงเทเลวิชัน/รอยเตอร์

เมื่อพิจารณาถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วและความทันสมัยของขีดความสามารถใต้ทะเลของรัฐบาลจีน กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมของออสเตรเลีย และสำนักงานจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยี และการส่งกำลังบำรุงของญี่ปุ่นได้เปิดตัวโครงการวิจัยเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ในการสื่อสารใต้ทะเลและการทํางานร่วมกันของทั้งสองประเทศ หน่วยงานเหล่านี้ “มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเสียงใต้น้ำสําหรับการทำงานร่วมกันระหว่างยานพาหนะไร้คนขับใต้น้ำ” โดยเฉพาะ ตามประกาศของสำนักงานจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยี และการส่งกำลังบำรุงเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2567

โครงการริเริ่มระยะเวลา 4 ปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความร่วมมือระดับทวิภาคีให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางทะเลที่ก้าวร้าวของจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุนของญี่ปุ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้ร่วมประชุมกันนอกรอบการประชุมสุดยอดด้านกลาโหม แชงกรีลา ที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อยืนยันความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านการต่อสู้ใต้ทะเลและด้านอื่น ๆ

ความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์กลาโหมและเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระดับพิเศษของทั้งสองประเทศและปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับล่าสุดที่ลงนามใน พ.ศ. 2565

เจ้าหน้าที่กล่าวว่าโครงการใหม่นี้เป็นโครงการแรกภายใต้กรอบการวิจัย การพัฒนา การทดสอบ และการประเมินระดับทวิภาคีที่ลงนามในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 “เมื่อร่วมมือกันทำให้เราบรรลุผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เราไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง” ดร. ธันยา มอนโร หัวหน้านักวิทยาศาสตร์กลาโหมของออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์ “โครงการนี้จะวางรากฐานสําหรับการวิจัยร่วมกันในด้านหุ่นยนต์และการทํางานร่วมกันอย่างอิสระในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดความสามารถขั้นสูงเพื่อให้มีข้อได้เปรียบที่แตกต่างจากผู้อื่น”

ทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประณามกิจกรรมทางทะเลเมื่อเร็ว ๆ นี้ของจีน

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นายแอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่าเรือรบของจีนใช้ระบบโซนาร์ในการปฏิบัติการที่ “อันตราย ไม่ปลอดภัย และไม่เป็นมืออาชีพ” ใกล้กับเรือของกองทัพเรือออสเตรเลียในน่านน้ำญี่ปุ่น ทำให้นักประดาน้ำของกองทัพเรือออสเตรเลียสี่คนที่กําลังนำอวนจับปลาออกจากใบพัดเรือของตนได้รับบาดเจ็บ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้คุกคามเรือประมงญี่ปุ่นสองลําใกล้กับหมู่เกาะเซ็งกะกุของญี่ปุ่น และเพิกเฉยต่อคําสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่นนานกว่าสามวันหลังจากที่สั่งให้ออกจากน่านน้ำของญี่ปุ่น รัฐบาลจีนกล่าวว่าจะยังคงส่งเรือเข้าไปใกล้หมู่เกาะเหล่านี้ตลอด พ.ศ. 2567 และขู่ว่าจะตรวจสอบเรือประมงญี่ปุ่นในบริเวณดังกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบต่อสู้ใต้ทะเล ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติขนาดใหญ่พิเศษ โกสต์ชาร์ค ที่ผลิตโดยบริษัท อันดูริล ของออสเตรเลีย และยานพาหนะใต้น้ำอัตโนมัติ โอแซดแซด-5 ที่ผลิตโดยบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ ในญี่ปุ่น

ความร่วมมือล่าสุดของทั้งสองประเทศเป็นการเสริมโครงการระบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์ใต้น้ำภายใต้ความร่วมมืออูกัส ตามรายงานของสื่อ InnovationAus.com โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือไตรภาคีที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารขั้นสูง โดยจะใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับระบบตรวจจับของออสเตรเลียบนเครื่องบิน พี-8เอ โพไซดอน และทุ่นลอยใต้ทะเล เพื่อเฝ้าระวังภัยคุกคามจากเรือดำน้ำ

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button