พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อช่วงชิงข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่าอนุสัญญาระหว่างประเทศเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมักจะส่งผลเสียต่อประเทศอื่น ๆ นักวิเคราะห์กล่าวว่าการใช้ยุทธวิธี “นิติสงคราม” แต่เพียงฝ่ายเดียวเหล่านี้เป็นหนึ่งในกลวิธีพื้นที่สีเทาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการแสวงหาความเป็นใหญ่ระดับโลก
พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้นิติสงครามมากขึ้นเพื่อให้ได้อิทธิพลในน่านน้ำอินโดแปซิฟิก รวมถึงช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก นอกจากนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตทางทะเลในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญต่อการค้าและความมั่นคงระหว่างประเทศผ่านเส้นทางน้ำเหล่านั้น ตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีสิทธิอธิปไตยในทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปลา น้ำมันและก๊าซ และแร่ธาตุในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนแต่เพียงผู้เดียว
นายสีและพรรคคอมมิวนิสต์จีนละเลยหรือตีความกฎหมายที่ขัดแย้งกับเป้าประสงค์ของตนอย่างบิดเบือน เพื่อทำการบีบบังคับโดยไม่ต้องใช้สงครามแบบเดิม “การใช้นิติสงครามที่เพิ่มขึ้นสามารถปกป้องทรัพยากรทางทหาร ป้องกันความเสียหายต่อทรัพย์สินของพลเรือน และช่วยชีวิตพลเรือนและบุคลากรทางการทหาร” นายจิล โกลเดนเซียล อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่วิทยาลัยสารสนเทศและโลกไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติ เขียนลงในคอร์เนลล์ลอว์รีวิวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 “กฎหมายเป็นอาวุธที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิตแต่ทรงพลัง และทำให้มีผู้เสียชีวิตในสนามรบน้อยลง”
นายสีอ้างว่าจีนมีสิทธิอธิปไตยและเขตอํานาจศาลในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งกั้นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน โดยไต้หวันเป็นเกาะที่ปกครองตนเองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทั้งยังข่มขู่ว่าจะผนวกรวมกับไต้หวันโดยใช้กำลัง โดยอาศัยกฎหมายที่คลุมเครือของจีนและการตีความเข้าข้างตนเองตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ทว่าหลายประเทศยืนยันว่าอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ช่องแคบดังกล่าวมีความกว้างถึง 400 กิโลเมตร และถือเป็นน่านน้ำสากล จึงเป็นช่องทางเดินเรือที่สําคัญทั่วโลก
กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ผลักดันการอ้างสิทธิ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างแข็งขัน รวมถึงการส่งเรือติดอาวุธเพื่อเผชิญหน้ากับเรือของประเทศอื่น ๆ ในช่องแคบ การเผชิญหน้าครั้งนี้เป็นที่จับตามองจากทั่วโลก เมื่อเรือของกองทัพเรือจีนลําหนึ่งแล่นผ่านหัวเรือของเรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ขณะที่เรือทำการเดินเรือตามกิจวัตรในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า การกระทําที่บุ่มบ่ามเช่นนี้เป็นการละเมิด “กฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยของการเดินเรือในน่านน้ำสากล”
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลจีนสร้างความไม่พอใจให้กับไต้หวัน เมื่อรัฐบาลจีนเปลี่ยนเส้นทางของสายการบินพาณิชย์เพื่อข้ามเส้นมัธยฐานของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดนอย่างไม่เป็นทางการระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันมายาวนาน พรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวว่าไม่ยอมรับเส้นมัธยฐานดังกล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์ เจ้าหน้าที่ไต้หวันกล่าวว่า เส้นทางการบินใหม่นี้ละเมิดความปลอดภัยในการบิน ไม่เคารพไต้หวัน และพยายาม “ลักลอบใช้” การบินพลเรือนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือการทหาร
“ตลอด พ.ศ. 2565 กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้เพิ่มปฏิบัติการยั่วยุทั้งภายในและโดยรอบช่องแคบไต้หวัน รวมถึงขีปนาวุธทิ้งตัวที่จะยิงข้ามน่านฟ้าไต้หวัน การเพิ่มจำนวนการบินเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศที่ไต้หวันประกาศไว้ ตลอดจนการดําเนินการฝึกทางทหารครั้งใหญ่หลายครั้งรอบไต้หวัน” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงาน พ.ศ. 2566 ที่ยื่นต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพัฒนาทางทหารและความมั่นคงในจีน
พล.ต. ซุน หลี่ฟาง หัวหน้าโฆษกกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวว่าการกระทําของจีนอาจส่งผลกระทบร้ายแรง ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรสในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 “การกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างไร้เหตุผลอาจเพิ่มความตึงเครียดและทำลายเสถียรภาพในบริเวณช่องแคบไต้หวันได้อย่างง่ายดาย” พล.ต. ซุนกล่าว
การอ้างสิทธิ์ของจีนในพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ตามแผนที่ที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง ได้ก่อให้เกิดข้อพิพาทกับบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งต่างก็ระบุว่าเรือจีนได้บุกรุกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน
รัฐบาลเวียดนามได้ขอให้รัฐบาลจีนนำเรือวิจัย เรือกองกำลังรักษาชายฝั่ง และเรือประมงของจีนออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามหลายครั้ง หลังจากที่มีการรุกรานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ตามรายงานของรอยเตอร์ การรุกรานน่านน้ำเวียดนามของพรรคคอมมิวนิสต์จีน “ได้กลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว” นายเรย์ พาวเวลล์ หัวหน้าโครงการเมียวชูของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในทะเลจีนใต้ กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกา
ฟิลิปปินส์และเวียดนามต่างก็อ้างสิทธิ์ในอาณาเขตที่ทับซ้อนกันในทะเลจีนใต้ และทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งของทั้งสองประเทศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 และพยายามแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มปกคลุมข้อตกลงนี้ “เรามีความแน่วแน่ในการปกป้องอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจศาลของเราจากการยั่วยุทุกรูปแบบ” นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวก่อนการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับกับนายหวอ วัน เถือง ประธานาธิบดีเวียดนาม
เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนและเรือของกองกำลังกึ่งทหารได้คุกคามเรือของฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่าทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2566 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้พุ่งเข้าชน ยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และชี้เป้าเลเซอร์ที่ได้มาตรฐานทหารไปยังเรือของฟิลิปปินส์เพื่อพยายามขัดขวางการปฏิบัติภารกิจเติมเสบียงไปยังด่านทหารชั้นนอกของฟิลิปปินส์บริเวณสันดอนโทมัสที่สอง จำนวนเรือของจีนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2566 ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567
พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของศาลระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ตัดสินให้ “การอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์” ของรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ประณามเรือของจีนที่บุกรุกน่านน้ำของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออกอีกด้วย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นปะทะกับเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนที่อยู่ใกล้กับเรือประมงญี่ปุ่นใกล้หมู่เกาะเซ็งกะกุของญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลจีนอ้างว่าหมู่เกาะเซ็งกะกุเป็นดินแดนของตน ตามรายงานของรอยเตอร์
จากการเผชิญหน้าครั้งดังกล่าว พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาศัยการทำนิติสงคราม โดยการสร้างกฎหมายหรือเลือกตีความบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่ เพื่อพิสูจน์การอ้างสิทธิ์ของตนเอง “พวกเขามักจะลงมือทำอะไรบางอย่างเมื่อมีสิ่งที่พวกเขาไม่พึงพอใจเกิดขึ้น” พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวในระหว่างการประชุมที่ฮาวายเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567