ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันเสริมสร้างความสามัคคีในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

นานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเต็มใจที่จะดําเนินการในประเด็นที่ต้องมีการป้องกันและอาศัยความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งเห็นได้จากการเจรจาในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ที่กรุงฮานอยระหว่างนายหวอ วัน เถือง ประธานาธิบดีเวียดนาม และนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลและธุรกิจร่วมกัน ผู้นําของทั้งสองประเทศได้ “ย้ำถึงความสําคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ … ตลอดจนเสรีภาพในการเดินเรือ” ในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท ตามรายงานของเบนาร์นิวส์

สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างสิทธิ์ในทะเลอย่างกว้างขวางและยังคงเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่ตัดสินให้การอ้างสิทธิ์เหล่านี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายวิโดโดเดินทางเยือนกรุงฮานอย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่รวมถึงบรูไนและฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่เคยประสบกับการรุกรานดินแดนทางทะเลจากเรือจีนเช่นเดียวกับเวียดนาม

การเจรจาระหว่างอินโดนีเซียและเวียดนามยังคงดําเนินต่อไปใน พ.ศ. 2565 ทั้งสองประเทศตกลงที่จะจำกัดหรือกําหนดพรมแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน หลังจากการเจรจาเป็นเวลา 12 ปี นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการลดข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และแสดงเจตจำนงที่จะรักษาบรรทัดฐานทางทะเลที่มีอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 ในการประชุมครั้งล่าสุด อินโดนีเซียและเวียดนามได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง รวมทั้งในด้านต่าง ๆ เช่น พลังงานและการสื่อสาร ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยังได้พบปะกับนายเถืองในกรุงฮานอยเมื่อปลายเดือนมกราคมอีกด้วย คาดว่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งของประเทศของตน ตามรายงานของซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นรากฐานสำหรับอาเซียนที่ไม่เพียงแต่นำเสนอแนวร่วมในข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับรัฐบาลจีน แต่ยังแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกด้วย นักวิเคราะห์กล่าว อาเซียนส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศ

นายมาร์กอสและนายวิโดโดได้ร่วมประชุมกันในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานและการป้องกัน รวมถึงการพัฒนาทะเลจีนใต้และการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้อง “ยึดความคิดริเริ่มนี้ไว้ และร่วมกันแสดงบทบาทของตนในการกำหนดระเบียบของภูมิภาคในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง” นาย หวู เลอ ไท ฮวง นักวิชาการชาวเวียดนาม และนายโง ดี ลัน นักวิจัย เขียนลงในนิตยสารเดอะดิโพลแมตเมื่อกลาง พ.ศ. 2566

อาเซียนและประเทศสมาชิกได้เพิ่มความพยายามของตนมาโดยตลอด เช่น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 อาเซียนได้เปิดสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคเพื่อการวิจัยและความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในสิงคโปร์ “ภัยคุกคามจากพื้นที่ไซเบอร์ไม่คำนึงถึงพรมแดนทางภูมิศาสตร์ และจะต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมือข้ามชาติเพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายเอิง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวในพิธีเปิด ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์

ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย กําลังเพิ่มความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงในทะเลจีนใต้ เช่น หน่วยลาดตระเวนบริเวณช่องแคบมะละกา ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2547 เพื่อจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติทางทะเล

ความพยายามร่วมกันดังกล่าว “จะช่วยสร้างความมั่นใจ ป้องกันความเข้าใจผิด และสามารถมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงของภูมิภาคได้อย่างมาก” นายเฮง ชี ห่าว รัฐมนตรีอาวุโสว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวใน พ.ศ. 2566

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button