ประเทืองปัญญาสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผนก

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ 380 สายพันธุ์ใหม่ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

เรดิโอฟรีเอเชีย

กิ้งก่าเปลี่ยนสีท่าทีดุร้าย งูพิษที่ตั้งชื่อตามเทพธิดาในตำนานจีน และกบสีเขียวที่อำพรางตัวได้ซึ่งพบได้เฉพาะในเทือกเขาหินปูนที่ปกคลุมด้วยป่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนามเป็นตัวอย่างสัตว์และพืชหลายร้อยชนิดที่ค้นพบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักวิจัยประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566

ใน พ.ศ. 2564 นักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนจากทั่วโลกได้ค้นพบสัตว์ 175 สายพันธุ์ในกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม และ 205 สายพันธุ์ใน พ.ศ. 2565 ตามรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

“สายพันธุ์สัตว์ที่น่าทึ่งเหล่านี้อาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ แต่มีชีวิตอยู่และวิวัฒนาการมาหลายล้านปีในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเตือนให้มนุษย์รู้ว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ในภูมิภาคนี้มานานแล้วก่อนที่มนุษย์เราจะย้ายเข้ามา” นายเค. โยกานันท์ หัวหน้าฝ่ายสัตว์ป่าขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าว “เรามีหน้าที่ต้องทําทุกวิถีทางเพื่อหยุดการสูญพันธุ์ ปกป้องที่อยู่อาศัย และช่วยฟื้นฟูสายพันธุ์สัตว์เหล่านี้”

สายพันธุ์ที่ประกาศใหม่นี้รวมไปถึงค้างคาวหูหนูที่มีนิ้วหนา ซึ่งตัวอย่างถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ฮังการีเป็นเวลา 20 ปี ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือพืชที่เก็บได้ในช่วงทศวรรษที่ 1930 (พ.ศ. 2473 – 2482) แต่เพิ่งได้รับการยืนยันจากทีมงานวิจัยใหม่ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่

สายพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์ยังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ บ่อนคาสิโน เขื่อน และโครงการพัฒนาของกัมพูชา ได้ทำลายพุ่มไม้เขียวชอุ่มตลอดปี ในขณะที่การบุกรุกเพื่อทำการเกษตร การตัดไม้ และเก็บยารักษาโรค ได้คุกคามกะท่างสายพันธุ์ไทยในเวียดนาม

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบพืชทั้งหมด 290 ชนิด ปลา 19 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 24 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 46 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 1 ชนิด ทําให้จํานวนการค้นพบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสูงถึง 3,389 ชนิดนับตั้งแต่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเริ่มเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2540

จากงานวิจัยใน พ.ศ. 2554 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเพียง 1.6 ล้านสายพันธุ์จากประมาณ 8.7 ล้านสายพันธุ์บนโลก ซึ่งหมายความว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของสายพันธุ์ยังไม่ถูกค้นพบ

กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายังเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการอนุรักษ์สัตว์หายากรวมถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ สายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ “ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากการตัดไม้ทําลายป่า ความเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัย การพัฒนาถนน การสูญเสียลําธารและแม่น้ำ มลพิษ โรคที่แพร่กระจายจากการกระทำของมนุษย์ การแข่งขันกันของสายพันธุ์ที่รุกราน และผลกระทบร้ายแรงจากการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย” ตามรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล “น่าเศร้าที่หลายสายพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วก่อนที่จะถูกค้นพบ”

นักวิทยาศาสตร์อาวุโสชาวเวียดนามกล่าวว่าการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ช่วยเติมเต็มช่องว่างความรู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติ

“สายพันธุ์เหล่านี้ยังทำให้นักวิจัยอย่างเรารู้สึกประหลาดใจและกังวลใจ และเราสงสัยว่ายังมีสายพันธุ์อีกนับไม่ถ้วนที่รอการค้นพบและกลัวว่าไม่มีเวลาพอที่จะค้นพบ ทําความเข้าใจ และปกป้องสายพันธุ์ดังกล่าว” นายเจื่อง คิว. เหงียน รองผู้อํานวยการสถาบันนิเวศวิทยาและทรัพยากรชีวภาพของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเวียดนาม กล่าว

“ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ หรือที่รู้จักกันในชื่อพื้นที่วิกฤตอินโดพม่า” นายเหงียนระบุในบทนำของรายงาน

ภูมิภาคนี้มีสายพันธุ์ที่โดดเด่นและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้างเอเชีย ลิ่นชวา และปลากระเบนน้ำจืดยักษ์ อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางชีวภาพต้องเผชิญกับ “แรงกดดันอย่างมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของประชากร ซึ่งนําไปสู่การตัดไม้ทําลายป่า มลพิษ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ซึ่งเกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายเหงียนกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button