การแพร่ขยายอาวุธทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ญี่ปุ่นเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังเพื่อรับมือกับการปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือ

มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์

การปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้กระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และเพิ่มความกังวลด้านความมั่นคงให้กับญี่ปุ่นและหุ้นส่วน โดยนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อธิบายว่าการปล่อยดาวเทียมดังกล่าว “เป็นการละเมิดมติขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน”

หลังจากรัฐบาลเกาหลีเหนือปล่อยดาวเทียมดังกล่าวแล้ว ญี่ปุ่นจึงส่งดาวเทียมเฝ้าระวังขึ้นสู่วงโคจรในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีส่วนร่วมในการฝึกซ้อมด้านกลาโหมร่วมกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาคและพยายามร่วมมือกันเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ

จรวดบรรทุกดาวเทียมเฝ้าระวังของญี่ปุ่นปล่อยตัวออกจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567
วิดีโอจาก: เกียวโดนิวส์/รอยเตอร์

การปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เกิดขึ้นหลังจากที่พยายามปล่อยดาวเทียมสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ และเกิดขึ้นพร้อมกับการกล่าวถ้อยคำโอ้อวดมากขึ้นของนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ นายคิมเร่งเร้าให้ประเทศที่โดดเดี่ยวของตนขยายขีดความสามารถทางทหาร ซึ่งได้แก่ ดาวเทียม อาวุธนิวเคลียร์ และยุทโธปกรณ์การรบอัตโนมัติ

“แม้ว่าขีดความสามารถของดาวเทียมสอดแนมเกาหลีเหนือจะค่อนข้างเรียบง่าย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่หลากหลายขึ้นในการเสริมรากฐานและปรับปรุงขีดความสามารถของขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป” นายสตีเฟน นากี อาจารย์ด้านการเมืองและการศึกษาระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติโตเกียว กล่าวกับ ฟอรัม “จรวดปล่อยดาวเทียมสอดแนม ความสามารถในการนำทาง รวมทั้งเทคโนโลยี ล้วนเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป”

ความพยายามปล่อยดาวเทียมสอดแนมของรัฐบาลเกาหลีเหนือสะท้อนให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะใช้ขีดความสามารถด้านขีปนาวุธในช่วงเวลาสงคราม นายฮิโรฮิโตะ โอกิ นักวิจัยอาวุโสของโครงการริเริ่มแห่งเอเชียแปซิฟิกและสถาบันภูมิเศรษฐศาสตร์แห่งสภานานาชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในโตเกียว กล่าว

“แม้เราจะไม่ทราบว่าเกาหลีเหนือใช้ดาวเทียมได้จริง ๆ มากเพียงใด แต่เราจำเป็นต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความสามารถที่เกี่ยวข้องในบริบทของภัยคุกคามที่มาจากการสู้รบด้วยนิวเคลียร์” นายโอกิกล่าวกับ ฟอรัม

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองเกาหลีใต้กล่าวว่ารัสเซียอาจกําลังช่วยเหลือโครงการดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค หุ้นส่วนอินโดแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา กล่าวว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือกําลังแสวงหาเทคโนโลยีทางทหารจากรัฐบาลรัสเซียเพื่อแลกกับการจัดหาอาวุธแบบดั้งเดิมสําหรับการทำสงครามโดยไม่มีเหตุยั่วยุของรัสเซียในยูเครน

มาตรการตอบโต้ของญี่ปุ่นประกอบด้วยการขยายขีดความสามารถในการรับมือและเฝ้าระวัง รวมถึงดาวเทียมรวบรวมข้อมูลออปติคอล 8 ที่เพิ่งปล่อยตัวจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ ในเดือนเดียวกันนั้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้ดําเนินการฝึกซ้อมทางทะเล โดยมีเรือบรรทุกอากาศยานของสหรัฐฯ ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน ซึ่งมุ่งเน้นการรับมือกับภัยคุกคามขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ทั้งสามประเทศยังได้ติดตั้งระบบแบ่งปันข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อตรวจสอบกิจกรรมเกี่ยวกับขีปนาวุธของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

ในความเป็นจริง การปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนืออาจส่งผลตรงกันข้าม พล.ต. โนโซมุ โยชิโทมิ เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นผู้เกษียณอายุ กล่าวกับ ฟอรัม ความสามารถของดาวเทียมอาจด้อยกว่า หรืออย่างดีที่สุดก็อาจใกล้เคียงกับดาวเทียมเฝ้าระวังเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเกาหลีเหนือสามารถซื้อภาพจากดาวเทียมสอดแนมของรัสเซียได้อยู่แล้ว ดาวเทียมของเกาหลีเหนือจึงมีประโยชน์อย่างจำกัด

“ด้วยวิธีนี้ ปฏิบัติการทางทหารของเกาหลีเหนือส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารไตรภาคีระหว่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ รวมถึงปฏิบัติการร่วมมืออีกมากมายเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล การป้องกันขีปนาวุธ และอื่น ๆ” พล.ต. โยชิโทมิ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการความเสี่ยงแห่งมหาวิทยาลัยนิฮอน กล่าว

การเสริมสร้างความร่วมมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นได้รับการเน้นย้ำในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 เมื่อที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ได้ร่วมประชุมกันที่กรุงโซล และประกาศโครงการริเริ่มเพื่อต่อต้านโครงการขีปนาวุธและอวกาศของเกาหลีเหนือ ตลอดจนอาชญากรรมทางไซเบอร์และการฟอกเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล

มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์ เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโตเกียว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button