ญี่ปุ่นวางกรอบลำดับความสำคัญด้านกลาโหมท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์
นักวิเคราะห์กล่าวว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะยังคงเป็นปัจจัยที่กำหนดลำดับความสำคัญด้านกลาโหมของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามภายนอกประเทศจากเกาหลีเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนความท้าทายภายในประเทศ เช่น ทรัพยากรมนุษย์และการยกระดับเทคโนโลยี
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพัฒนามาตรการป้องกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนจากผู้รุกราน พร้อมกับสนับสนุนความก้าวหน้าด้านกลาโหมภายในประเทศ นายฮิโรฮิโตะ โอกิ นักวิจัยอาวุโสของโครงการริเริ่มแห่งเอเชียแปซิฟิกและสถาบันภูมิเศรษฐศาสตร์แห่งสภานานาชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงโตเกียวกล่าวว่า พ.ศ. 2567 จะเป็นปีที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเตรียมที่จะนำเอาขีดความสามารถด้านกลาโหมขั้นสูงที่ให้คำมั่นไว้ในเอกสารยุทธศาสตร์กลาโหมใน พ.ศ. 2565 มาใช้งาน
วิดีโอจาก: นิปปงเทเลวิชัน/รอยเตอร์
“แม้ว่าการวิจัยและพัฒนารวมถึงการจัดซื้อจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น แต่การส่งมอบจำเป็นต้องรอเวลาสองปี” นายโอกิกล่าวกับ ฟอรัม “ในช่วงเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคิดวิธีการใช้งานขีดความสามารถเหล่านั้น”
ความพยายามเหล่านั้นประกอบด้วยหลักการใหม่ในการปฏิบัติการ การจัดตั้งกองบัญชาการปฏิบัติการร่วมที่วางแผนไว้ และการทบทวนกลไกความร่วมมือการบัญชาการทวิภาคีกับกองกำลังสหรัฐอเมริกา
พล.ต. โนโซมุ โยชิโทมิ ผู้เกษียณอายุจากกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น คาดหวังให้รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากรอบความคิดที่บูรณาการข้อมูลจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือจากกระทรวงกลาโหม
“ทุกนโยบายกลาโหมไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมเพียงอย่างเดียว ดังนั้น แนวทางและกรอบความคิดของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายกลาโหมจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไป” พล.ต. โยชิโทมิ ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการจัดการความเสี่ยงแห่งมหาวิทยาลัยนิฮอน กล่าวกับ ฟอรัม “นี่เป็นงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่จำเป็นต้องได้รับความสนใจมากกว่านี้”
ประเด็นนี้จะมีความสำคัญเป็นพิเศษในด้านการสรรหาบุคลากร ซึ่งรวมถึงโครงการริเริ่มที่สนับสนุนให้ผู้หญิงและเยาวชนเข้าร่วมกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมากขึ้น พล.ต. โยชิโทมิ กล่าว นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเผชิญความท้าทายในการขยายขนาดกองกำลังสำรองให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่มีอยู่ 60,000 คนในปัจจุบัน สงครามในยูเครนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทหารกองหนุนในยามที่เกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ พล.ต. โยชิโทมิกล่าว นอกจากนี้ ทหารกองหนุนยังมีความสำคัญในการบรรเทาและตอบสนองต่อภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงแผ่นดินไหว
ลำดับความสำคัญหลักต้องประกอบด้วยการขยายขีดความสามารถต่าง ๆ เช่น การวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการเสริมความสามารถบุคลากรด้านกลาโหมของประเทศ พล.ร.ต. ยาสุฮิโระ คาวาคามิ ผู้เกษียณอายุจากกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม
“การพัฒนาและการใช้ยุทโธปกรณ์กลาโหมใต้น้ำ เช่น แผนการที่เพิ่งประกาศไปเกี่ยวกับหุ่นยนต์อัตโนมัติใต้น้ำหรือโดรนใต้น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับญี่ปุ่นในการรับมือกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” พล.ร.ต. คาวาคามิ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาความมั่นคงของมูลนิธิสันติภาพซาซาคาวะ กล่าว
นายสตีเฟน นากี ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการเมืองและนานาชาติศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติโตเกียว กล่าวว่า ขีดความสามารถในการป้องปรามในภูมิภาคที่กว้างขึ้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ช่องแคบไต้หวัน และข้อพิพาททางอาณาเขตในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ จะต้องได้รับการพิจารณา นายนากีกล่าวกับ ฟอรัม
“ญี่ปุ่นจะต้องพิจารณาและหารือว่าจะลงทุนในขีดความสามารถในการตอบโต้ใดเพื่อห้ามปรามการยั่วยุ” นายนากีกล่าว “ซึ่งรวมถึงขีดความสามารถทางกายภาพ เช่น ขีปนาวุธโทมาฮอว์ก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในความมั่นคงทางไซเบอร์และขีดความสามารถทางไซเบอร์ทั่วไปด้วยเช่นกัน”
ลำดับความสำคัญด้าน “อำนาจอ่อน” สำหรับญี่ปุ่นประกอบด้วยการประสานงานทางการทูต ความพยายามที่จะมีส่วนร่วมแก้ปัญหาในอินโดแปซิฟิกผ่านเวทีการประชุมต่าง ๆ เช่น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศและนาโต รวมถึงการสนับสนุนด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่องและความร่วมมือกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ นายนากีกล่าว
มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์ เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโตเกียว