ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสิงคโปร์และไทยมีความสำคัญต่อความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ทอม แอบกี

ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสิงคโปร์และไทยก่อตั้งขึ้นมานานหลายทศวรรษและพัฒนาขึ้นไปพร้อม ๆ กับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่แข็งแกร่งที่สุดและครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลที่สุดในภูมิภาค อีกทั้งยังมีความพยายามร่วมกันในการรักษาช่องทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญอย่างช่องแคบมะละกาและช่องแคบสิงคโปร์ และการฝึกซ้อมทางทหารเป็นประจำร่วมกัน

“กองทัพสิงคโปร์ยังคงดำเนินการฝึกซ้อมร่วมที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบการต่อสู้ในสงครามร่วมกับกองทัพต่างประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น” ดร. คอลลิน โกะ นักวิจัยอาวุโสจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ กล่าวกับ ฟอรัม “ไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีประเทศหนึ่ง ดังที่ได้แสดงให้เห็นในการฝึกซ้อมสงครามตามแบบหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการยิงขีปนาวุธจริงด้วย จึงทำให้ความสัมพันธ์เช่นนี้ส่งเสริมองค์ประกอบด้านการป้องปรามให้กับท่าทีด้านกลาโหมของสิงคโปร์ยิ่งขึ้นไปอีก”

เจ้าหน้าที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ กองทัพไทย และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมในการฝึกโคปไทเกอร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2566 การฝึกครั้งที่ 27 นี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความพร้อมและความสามารถในการทำงานร่วมกัน โดยจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566
ภาพจาก: กองทัพอากาศสหรัฐฯ

ในช่วงสงครามเย็น หุ้นส่วนทวิภาคีทำหน้าที่เป็น “กำแพง” ต่อต้านการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ดร. โกะกล่าว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หุ้นส่วนทวิภาคีพยายามที่จะยับยั้งและป้องกันภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัด การโจรกรรมในช่องแคบ และเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันในด้านกลาโหมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้และที่อื่น ๆ ในภูมิภาค

การไปเยือนสิงคโปร์ในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ของ พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือของกองทัพเรือไทย เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้นของกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ การมีส่วนร่วมดังกล่าว ตลอดจน “การเยี่ยมเยือนระดับสูง การแลกเปลี่ยนทางวิชาชีพ หลักสูตร และการฝึกซ้อมทวิภาคี เช่น การฝึกสิงห์สยาม ได้เพิ่มความเป็นมืออาชีพและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างบุคลากรของกองทัพเรือทั้งสองประเทศ” กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุ

สิงห์สยามเป็นการฝึกทวิภาคีของกองทัพเรือที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 การฝึกครั้งล่าสุดจัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีกองเรือฟริเกตจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม รวมถึงเรือลำอื่น ๆ และเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งทำการฝึกซ้อมด้านความมั่นคงทางทะเลและการยิงขีปนาวุธด้วยกระสุนจริง

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กองทัพบกสิงคโปร์และกองทัพบกไทยได้ดำเนินการฝึกคชสีห์ประจำปีเป็นครั้งที่ 23 ซึ่งประกอบไปด้วยการฝึกด้วยกระสุนจริงที่มัลติ-มิชชันเรนจ์คอมเพล็กซ์ของสิงคโปร์ การฝึกภาคสนามระดับกองพันที่สถานที่ฝึกอบรมพื้นที่เมืองมูไร ซึ่งอยู่ในสิงคโปร์เช่นกัน

ในขณะเดียวกัน การฝึกโคปไทเกอร์ประจำปีก็มีกองทัพอากาศของทั้งสิงคโปร์และไทยเข้าร่วมพร้อมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ การฝึกโคปไทเกอร์ครั้งที่ 27 จัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกว่า 2,000 นาย และใช้ยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกับการฝึกนี้กว่า 70 รายการ ซึ่งรวมไปถึง เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์รบ อากาศยานไร้คนขับ และระบบป้องกันภัยทางอากาศภาคพื้นดิน การฝึกนี้ช่วยให้กองกำลังพร้อมสำหรับการวางแผนและดำเนินปฏิบัติการรบทางอากาศครั้งใหญ่สำหรับภารกิจป้องกันและโจมตีทางอากาศ เจ้าหน้าที่กล่าว

กองทัพสิงคโปร์และกองทัพไทยยังได้เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียและมาเลเซียในการลาดตระเวนที่ช่องแคบมะละกาด้วย โครงการเพื่อการรักษาความปลอดภัยให้กับช่องแคบมะละกาและช่องแคบสิงคโปร์นี้ประกอบไปด้วยการลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเล และการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

“เราจำเป็นต้องรักษาความเป็นหุ้นส่วนแบบดั้งเดิมนี้ไว้” ดร. โกะกล่าวถึงการมีส่วนร่วมกันในด้านกลาโหมระหว่างสิงคโปร์และไทย ซึ่งได้รับการมองว่ามีลักษณะเป็น “หัวเรือแห่งการทูตด้านกลาโหมในภูมิภาค … โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ที่ทั้งสองผลักดันโครงการริเริ่มที่สำคัญมากขึ้นทั้งในแง่ของขอบเขตและความลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากในโครงการริเริ่มพหุภาคีขนาดใหญ่”

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button