การแพร่ขยายอาวุธความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การเพิ่มจำนวนฐานปล่อยขีปนาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อให้เกิดความกังวลในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเสริมกำลังทางทหารที่เป็นภัยคุกคามของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนฐานปล่อยขีปนาวุธอย่างรวดเร็วและไม่โปร่งใสนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวลไปทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเกี่ยวกับเจตนาของรัฐบาลจีนในการเสริมสร้างคลังแสงอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ความกังวลเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นจากการที่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กวาดล้างผู้นำทหารและนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านจรวดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณภาพและการควบคุมสินทรัพย์นิวเคลียร์และขีปนาวุธทิ้งตัวของจีน

“ภายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จีนได้ขยายขอบเขตของโครงการปรับปรุงความทันสมัยให้นิวเคลียร์ที่กำลังดำเนินอยู่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการเพิ่มประเภทและจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ให้มากขึ้นกว่าที่เคยมีมา” ตามรายงานของนักวิจัยจากโครงการข้อมูลนิวเคลียร์แห่งสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเมื่อไม่นานมานี้

ซึ่งรวมถึงการพัฒนา “พื้นที่สำหรับฐานปล่อยขีปนาวุธใหม่สามแห่งสำหรับขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง” อย่างต่อเนื่อง และการขยายการก่อสร้างฐานปล่อยขีปนาวุธสำหรับขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป ดีเอฟ-5 ที่ใช้เชื้อเพลิงเหลว นักวิจัยประเมินว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนสะสมหัวรบนิวเคลียร์ไว้กว่า 500 ลูก ซึ่งจะนำมาใช้งานผ่านเครื่องบินทิ้งระเบิดและขีปนาวุธทิ้งตัวทั้งทางบกและทางทะเล

“โดยรวมแล้ว การมุ่งพัฒนาด้านนิวเคลียร์ของจีนถือเป็นหนึ่งในการรณรงค์การปรับปรุงให้ทันสมัยครั้งใหญ่ที่สุดและรวดเร็วที่สุดท่ามกลางประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งเก้าประเทศ” ตามรายงานในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ที่เผยแพร่ในกระดานข่าวออนไลน์ของ อะตอมมิก ไซแอนทิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างฐานปล่อยขีปนาวุธหลายร้อยแห่งสำหรับขีปนาวุธที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันเป็นอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายห้ามชิงโจมตีก่อนอันยาวนานของจีน”

ความวุ่นวายในองค์กรทางการทหารของจีนก็ยิ่งทวีความไม่แน่นอนขึ้นไปอีก ในเดือนมกราคม ผู้นำหน่วยงานของจีนที่เป็นหัวหอกในการพัฒนา ทดสอบ และผลิตขีปนาวุธและยานพาหนะปล่อยตัวถูกไล่ออกโดยไร้คำอธิบาย พล.ท. หวัง เสี่ยวจวิน ผู้นำแห่งสถาบันเทคโนโลยียานพาหนะปล่อยตัวแห่งประเทศจีน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในอุตสาหกรรมทหารและกลาโหมคนล่าสุดจากบรรดาเจ้าหน้ามากกว่าสิบคนที่ถูกกวาดล้างโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตขึ้นจำนวนมากในกลุ่มผู้นำระดับสูงของกองทัพปลดปล่อยประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังจรวดลับ ซึ่งดูแลขีปนาวุธทางยุทธวิธีและขีปนาวุธนิวเคลียร์ของจีน รอยเตอร์รายงานว่า ผู้บัญชาการห้าในเก้านายที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 ต่างก็เป็นอดีตผู้บัญชาการหรือผู้บัญชาการคนปัจจุบันของกองกำลังจรวด ในขณะที่ผู้บริหารสามคนในบริษัทผลิตระบบขีปนาวุธซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมก็ถูกหน่วยงานที่ปรึกษาทางการเมืองชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนปลดออกเช่นเดียวกัน

ความระส่ำระสายกำลังกัดกร่อนความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการทำสงคราม โดยรายงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่า เกิดข้อผิดพลาดที่ฝาปิดของพื้นที่สำหรับฐานปล่อยขีปนาวุธขนาดใหญ่ในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งทำให้การยิงขีปนาวุธไม่บรรลุผล ในขณะที่ขีปนาวุธอื่น ๆ กลับเต็มไปด้วยน้ำแทนที่จะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ภูมิภาคนี้เผชิญกับ “ความเสี่ยงของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นความขัดแย้ง” ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากข้อพิพาทของดินแดนทางบกและทางทะเล รวมถึงจุดที่เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง เช่น ช่องแคบมะละกาและช่องแคบไต้หวัน ตามรายงานของนางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลจีนอาจเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธเพื่อป้องปรามสหรัฐฯ และประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันจากการแทรกแซงในกรณีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนรุกรานไต้หวัน โดยอ้างสิทธิ์ว่าเป็นดินแดนของตนและขู่ว่าจะผนวกรวมไต้หวันเข้ากับจีน

“ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเผชิญกับการเสริมกำลังทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน โดยปราศจากความโปร่งใสและการรับรองที่ภูมิภาคนี้ต้องการจากประเทศผู้เป็นมหาอำนาจ” นางหว่องกล่าวในคำปราศรัยหลักต่อที่ประชุมมหาสมุทรอินเดียที่กรุงเพิร์ธ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566ว่า จีนมีแนวโน้มที่จะมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้มากกว่า 1,000 ลูกภายใน พ.ศ. 2573 และรัฐบาลจีนอาจกำลังสำรวจการพัฒนาระบบขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีปแบบดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยให้จีนสามารถคุกคามด้วยการโจมตีตามแบบแผนต่อเป้าหมายในทวีปสหรัฐอเมริกา

ท่าทีในเรื่องนิวเคลียร์ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่มีต่อยุทธศาสตร์ “การป้องปรามขั้นต่ำ” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว

ในปัจจุบัน คลังเก็บหัวรบนิวเคลียร์ของจีนเป็นรองเพียงแค่รัสเซียและสหรัฐฯ ซึ่งมีคลังเก็บหัวรบประมาณ 4,500 และ 3,700 ลูกตามลำดับ ตามรายงานของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน

หลังจากที่ปฏิเสธคำขอของสหรัฐฯ ที่ต้องการหารือเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์มากว่าห้าปี ในที่สุดรัฐบาลจีนก็กลับมาเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้งในปลาย พ.ศ. 2566 แม้ว่าจะยังไม่ได้ตกลงที่จะเจรจาเรื่องการควบคุมอาวุธอย่างเป็นทางการก็ตาม

“สิ่งที่เราคาดหวังคือ การเจรจาครั้งนี้อาจนำไปสู่การที่รัฐบาลจีนเห็นคุณค่าของประโยชน์ของการเจรจาและความโปร่งใส อีกทั้งยังหวังว่าจะนำไปสู่การหยุดพัฒนาด้านนิวเคลียร์ หรืออย่างน้อยก็ในแง่ของความสัมพันธ์” ดร. ราเจสวารี พิไล ราชโกปาลัน ผู้อำนวยการศูนย์ความมั่นคง ยุทธศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งมูลนิธิผู้สังเกตการณ์วิจัยในกรุงนิวเดลี เขียนในนิตยสาร เดอะ ดิโพลแมต ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 “หากไม่ระงับการดำเนินการดังกล่าว การขยายขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของจีนอาจนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธที่ทวีความรุนแรงขึ้นในแง่ของการขยายคลังแสงนิวเคลียร์”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button