อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การสำรวจผู้หลบหนีบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตที่แย่ลงในเกาหลีเหนือ

เรดิโอฟรีเอเชีย

การสำรวจผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือกว่า 6,300 คน สะท้อนภาพชีวิตที่มืดมนในประเทศที่โดดเดี่ยวแห่งนี้ ทั้งการขาดแคลนอาหารมากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการทุจริตที่รุนแรง

ผู้หญิงมีบทบาทสูงขึ้นในครอบครัวและสังคม ไม่ใช่เพราะการตระหนักถึงความเท่าเทียมที่มากขึ้นแต่เป็นเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ตามข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์

รายงานนี้รวบรวมโดยกระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ระหว่าง พ.ศ. 2556 ถึง 2565 บ่งชี้ว่าคุณภาพชีวิตในเกาหลีเหนือแย่ลงนับตั้งแต่นายคิม จองอึน ผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือ ขึ้นสู่อำนาจใน พ.ศ. 2554 หลังจากที่บิดาเสียชีวิต

นางฮัน ซงมี อายุ 19 ปีตอนที่เธอหนีออกมาใน พ.ศ. 2554 เธอเป็นหนึ่งในผู้คนมากกว่า 30,000 คนที่หนีออกจากเกาหลีเหนือตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“ทางการควบคุมเด็ก ๆ เกี่ยวกับเสื้อผ้าและทรงผม” นางซงมีกล่าว “เด็ก ๆ จะพูดกันว่า ‘เราทำแบบนี้ไม่ได้’ แต่เราไม่สามารถพูดแบบนั้นต่อหน้าผู้ใหญ่ได้ ผู้ใหญ่มักจะบอกว่า ‘ระวังหน่อย เธออาจทำให้พ่อแม่ถูกจับนะ'”

การสำรวจนี้พบว่าสภาพเศรษฐกิจในเกาหลีเหนือแย่ลง ในช่วงเวลาก่อนถึงทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) ประชาชนต้องอาศัยการปันส่วนอาหารจากรัฐบาล แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายและความช่วยเหลือจากรัฐบาลรัสเซียขาดหายไป ความอดอยากที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน

ในหมู่ผู้ตอบแบบสำรวจที่หนีออกจากเกาหลีเหนือระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 กว่าร้อยละ 72 กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยได้รับการปันส่วนอาหารเลย ทางการอ้างว่าได้มอบการเข้าถึงการปันส่วนอาหารผ่านงานที่มอบหมายจากรัฐบาลและค่าจ้างที่สามารถนำไปใช้ซื้ออาหารในราคาที่ถูกลงได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานดังกล่าวช่วยสนับสนุนเพียงเล็กน้อย

มากกว่าหนึ่งในสามของผู้ที่หลบหนีก่อน พ.ศ. 2543 กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับการปันส่วนอาหารหรือค่าจ้างในสถานที่ทำงานอย่างเป็นทางการของตนเอง ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่หลบหนีระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 ก็กล่าวในทำนองเดียวกัน

ผู้หญิงเริ่มซื้อขายสินค้า เช่น ผักและอาหารสำเร็จรูปที่ลักลอบนำเข้าจากจีน กว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขาต้องพึ่งพาการค้าขายเช่นนี้เพื่อความอยู่รอดหลังจากที่นายคิมขึ้นสู่อำนาจ

ในขณะที่ประชาชนประกอบธุรกิจเสริมเพื่อความอยู่รอด ผู้นำเกาหลีเหนือกลับใช้สถานะของตนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยการเรียกเก็บเงินที่หักจากกำไรของธุรกิจดังกล่าวหรือโดยการเรียกสินบน

ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจที่หลบหนีตั้งแต่นายคิมขึ้นสู่อำนาจร้อยละ 41 กล่าวว่าพวกเขาถูกปล้นรายได้มากกว่าร้อยละ 30 ต่อเดือน ในบรรดาผู้ที่หลบหนีระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 กว่าร้อยละ 54 กล่าวว่าพวกเขาเคยจ่ายสินบน

“ในขณะที่การปราบปรามของทางการทวีความรุนแรงขึ้น ผู้อยู่อาศัยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจ่ายสินบนในงานที่พวกเขาทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ” นางอี ฮยอนซึง ผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือใน พ.ศ. 2557 แล้วไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา กล่าว เธอไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในการสำรวจครั้งนี้

“ประเทศเราไม่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นใครที่ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย” นางฮยอนซึงกล่าว “จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองหรือหลีกเลี่ยงการลงโทษจากผู้มีอำนาจ”

การสนับสนุนระบอบการปกครองนี้ได้เสื่อมกำลังลง ในหมู่ผู้ตอบแบบสำรวจที่หลบหนีก่อน พ.ศ. 2554 ประมาณร้อยละ 30 กล่าวว่าพวกเขามีความรู้สึกเชิงลบต่อระบอบการปกครองนี้ ความรู้สึกในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53 ในหมู่ผู้ที่หลบหนีหลัง พ.ศ. 2555 สำหรับผู้ที่หลบหนีระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 มีจำนวนผู้ที่รู้สึกเช่นนี้สูงกว่าร้อยละ 56

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button