แคนาดาและฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม
รอยเตอร์
แคนาดาและฟิลิปปินส์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวว่าการดำเนินการนี้อาจนําไปสู่ข้อตกลงกองกําลังทวิภาคี
“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ยินว่าทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกระชับและเสริมความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ของเรา ด้วยการสร้างความก้าวหน้าใหม่ ๆ ในความสัมพันธ์ด้านกลาโหมของเราให้ไปสู่จุดสูงสุด ซึ่งอาจทำเช่นนั้นได้ด้วยข้อตกลงกองกำลังเยือน” นายกิลแบร์โต เตโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ กล่าวในแถลงการณ์
รัฐบาลฟิลิปปินส์มีข้อตกลงดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ หมุนเวียนเข้าและออกจากฟิลิปปินส์เพื่อการฝึกซ้อมและการซ้อมรบ
กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ระบุว่า บันทึกข้อตกลงนี้จะเริ่มดำเนินการความร่วมมือกับแคนาดาในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมทางทหาร การแบ่งปันข้อมูล ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ตลอดจนการรับมือกับภัยพิบัติ
“ยุทโธปกรณ์ที่ทรงพลังที่สุดที่เรามีคือความไว้วางใจและความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน … เนื่องจากเราติดต่อสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดกว้าง และยึดตามกฎเกณฑ์ ความไว้วางใจนี้จึงแข็งแกร่งขึ้นและจะอยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและบททดสอบของเวลา” นายเตโอโดโรกล่าว
เมื่อเผชิญกับความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ แคนาดาจึงได้ให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์ และสนับสนุนคําตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ว่าการอ้างสิทธิ์ในเส้นทางน้ำเชิงยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวางของรัฐบาลจีนไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย แต่จีนเพิกเฉยต่อการตัดสินใจดังกล่าว และกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกําลังติดอาวุธทางทะเลของจีนได้คุกคามลูกเรือประมงและเรือของฟิลิปปินส์ที่ปฏิบัติภารกิจส่งกำลังบำรุงทางทหาร
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้ฟิลิปปินส์ใช้ระบบตรวจจับเรือมืดของแคนาดาเพื่อต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมที่ดําเนินการโดยเรือที่ปิดเครื่องส่งสัญญาณระบุตําแหน่งเพื่อหลบหนีการตรวจจับ
ระบบนี้ยังช่วยยกระดับความตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเลในน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์มีการเผชิญหน้ากับจีนหลายครั้ง