การแพร่ขยายอาวุธทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

เกาหลีใต้เสริมสร้างขีดความสามารถของดาวเทียมป้องกันเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ

ฟีลิกซ์ คิม

เกาหลีใต้กำลังยกระดับขีดความสามารถในการสื่อสารทางทหารและติดตามกิจกรรมที่เลวร้ายของรัฐบาลเกาหลีเหนือด้วยข้อตกลงล่าสุดเพื่อให้สามารถใช้ดาวเทียมสื่อสารพลเรือนในวงโคจรระดับต่ำเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร และการปล่อยดาวเทียมลาดตระเวนที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศดวงแรกของรัฐบาลเกาหลีใต้

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขีดความสามารถใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทำให้มั่นใจว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศและการป้องปรามรัฐบาลเกาหลีเหนือ ตลอดจนสร้างโอกาสสำหรับความร่วมมือด้านกลาโหมกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค

จรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ นำส่งดาวเทียมลาดตระเวนทางทหารที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศดวงแรกของเกาหลีใต้จากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 การสตรีมสดของสเปซเอ็กซ์แสดงให้เห็นว่าช่องว่างบริเวณใต้จรวดได้แยกตัวออกและจรวดเชื้อเพลิงหลักได้ย้อนกลับมายังโลก
วิดีโอจาก: สเปซเอ็กซ์/รอยเตอร์

จรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ได้นำดาวเทียมลาดตระเวนทางทหารขึ้นสู่วงโคจรจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

เกาหลีใต้หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐเกาหลี ในอดีตเคยพึ่งพาสินทรัพย์เชิงพาณิชย์และการทหารของสหรัฐฯ เพื่อดูข้อมูลภาพถ่ายภาคพื้นดินที่มีความละเอียดสูงของเกาหลีเหนือ ทว่าก็ต้องการสร้างเครือข่ายดาวเทียมทางทหารของตนเองเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป ซึ่งเป็นสำนักข่าวในเครือของรัฐบาลเกาหลีใต้

รัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงพัฒนาโครงการอาวุธของตนเอง ซึ่งรวมถึงการยิงขีปนาวุธหลายครั้ง โดยเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลเกาหลีเหนือยังขู่ว่าจะดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งเป็นการละเมิดข้อห้ามขององค์การสหประชาชาติ

ดาวเทียมลาดตระเวนดวงใหม่ของเกาหลีใต้ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับแสงและอินฟราเรด ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป ดาวเทียมสี่ดวงที่จะปล่อยภายใน พ.ศ. 2568 จะใช้เรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ที่สามารถทะลุผ่านก้อนเมฆได้

“ที่ผ่านมากองทัพสาธารณรัฐเกาหลีสามารถพึ่งพาดาวเทียมของสหรัฐฯ ได้ในหลายกรณี แต่ผมคิดว่าเกาหลีใต้ได้ข้อสรุปแล้วว่าพวกเขาต้องการพึ่งพาตนเอง” ดร. บรูซ เบนเน็ตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม

ในขณะเดียวกัน คณะบริหารโครงการการจัดซื้อด้านกลาโหมของรัฐบาลเกาหลีใต้จะร่วมมือกับ ฮันฮวา ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านกลาโหมของเกาหลีใต้เพื่อใช้เครือข่ายดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำของพลเรือน “เพื่อดำเนินปฏิบัติการแบบบูรณาการกับแพลตฟอร์มการสู้รบต่าง ๆ ในพื้นที่ปฏิบัติการที่ขยายออกไป” เครือข่ายดังกล่าวจะ “ให้บริการการสื่อสารที่ไม่สะดุดด้วยการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดการเชื่อมต่อสื่อสารในพื้นที่ภูเขาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้งานระบบการสื่อสารภาคพื้นดิน” กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566

การยกระดับดาวเทียมของเกาหลีใต้เกิดขึ้นไม่นานหลังการปล่อยดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนืออ้างว่าการปล่อยดาวเทียมครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ทว่าผู้เชี่ยวชาญกลับตั้งคำถามถึงระดับความอันตรายของภัยคุกคามที่เกิดจากดาวเทียมดังกล่าว เนื่องจากมีขีดความสามารถในการเฝ้าสังเกตการณ์ที่จำกัด

“ถึงแม้จะใช้งานได้ปกติ ดาวเทียมดวงดังกล่าวก็จะแสดงให้เห็นพื้นที่ในเกาหลีใต้เพียงบางช่วงเท่านั้น” ดร. เบนเน็ตต์ ระบุ “การเฝ้าติดตามประเทศที่คุณเตรียมจะไปทำสงครามด้วยคงไม่มีประสิทธิภาพ หากคุณเห็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเพียง 10 นาที วันละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ดังนั้นการดำเนินการนี้จึงไม่ได้ทำให้เกาหลีเหนือได้รับขีดความสามารถด้านการเตือนและการลาดตระเวนตามที่เกาหลีเหนือต้องการ”

ชุดดาวเทียมลาดตระเวนที่วางแผนไว้ของเกาหลีใต้จะทำหน้าที่คอยจับตาดูระบบการชิงโจมตีก่อนที่ชื่อว่า คิลเชน ซึ่งช่วยให้สามารถระบุและแจ้งเตือนล่วงหน้าถึงการโจมตีด้วยนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่อาจเกิดขึ้นได้

ดร. เบนเน็ตต์ระบุว่า การขยายเครือข่ายดาวเทียมป้องกันที่เป็นเจ้าของเองถือเป็นสถานการณ์ที่ดีสำหรับบทบาทของเกาหลีใต้ในฐานะหุ้นส่วนด้านกลาโหมในระดับภูมิภาค

“ข้อตกลงเมื่อต้นปีนี้ระหว่างผู้นำของสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่ว่าด้วยการแบ่งปันข้อมูลการแจ้งเตือนขีปนาวุธถือเป็นโอกาสที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือ” ดร. เบนเน็ตต์ระบุ “ยิ่งดาวเทียมและเรดาร์ทำการติดตามภัยคุกคามที่เฉพาะเจาะจงจากหลากหลายมุมมากเท่าใด ข้อมูลข่าวกรองก็จะยิ่งทันท่วงทีและแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น”

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button