ออสเตรเลียสนับสนุนโครงการความมั่นคงด้านอาหารทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก
ทอม แอบกี
ออสเตรเลียกำลังแก้ปัญหาความหิวโหยและความไม่มั่นคงด้านอาหารตั้งแต่ในกัมพูชาไปจนถึงปาปัวนิวกินีด้วยโครงการทางการเกษตรที่ก้าวล้ำและการจัดการประมงเชิงนวัตกรรม หัวใจสำคัญสำหรับความพยายามของรัฐบาลออสเตรเลียคือ ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2525 และทำงานร่วมกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 200 แห่งเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนภูมิภาคแปซิฟิก
ผู้คนมากกว่า 370 ล้านคนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกขาดสารอาหาร ซึ่งจำนวนนี้คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรงทั่วโลก ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
โครงการ “วิจัยเพื่อการพัฒนา” ล่าสุดที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียในปาปัวนิวกินี มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิวัติการเพาะเลี้ยงปลาในประเทศ โครงการมูลค่า 58 ล้านบาทนี้ (ประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์) มุ่งเน้นไปที่การเพาะเลี้ยงปลานิล ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่อุดมไปด้วยโปรตีนไขมันต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการทางโภชนาการที่สำคัญพร้อมกับยกระดับวิถีชีวิตในท้องถิ่น งานวิจัยนี้นำโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียและร่วมมือกับสำนักงานประมงแห่งชาติปาปัวนิวกินี เพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาใกล้เมืองและเขตเมืองอื่น ๆ ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านอาหารพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียระบุว่าโครงการนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พ.ศ. 2593 ของปาปัวนิวกินี และแผนพัฒนาระยะกลาง พ.ศ. 2566-2570 ของออสเตรเลีย ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
นาย เจสมอนด์ สัมมุท รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย กล่าวว่าเขาได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากการแนะนําการเพาะเลี้ยงปลา ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของปาปัวนิวกินีเติบโตขึ้นจากที่มีฟาร์ม 11,000 แห่งใน พ.ศ. 2552 จนมีฟาร์มมากกว่า 70,000 แห่งใน พ.ศ. 2566 “การเพิ่มขึ้นของโปรตีนในอาหารเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด แต่การเพิ่มขึ้นของความภาคภูมิใจในตนเองและความภาคภูมิใจของเกษตรกรก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจเช่นกัน” นายสัมมุทกล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์เดือนกันยายน พ.ศ. 2566
โครงการของศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียได้เปิดตัวพืชพันธุ์ใหม่ 19 ชนิดในติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคน และได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2545 โดยโครงการดังกล่าวมีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียระบุในข่าวประชาสัมพันธ์เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 พืชพันธุ์ชนิดใหม่รวมถึงข้าวแดงและข้าวโพดลูกผสม เป็นผลมาจากการวิจัยด้านการเกษตรเป็นระยะเวลากว่ายี่สิบปีของออสเตรเลียและติมอร์-เลสเต
พืชพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการเปิดตัวในงานสัมมนานานาชาติที่เมืองดิลี เมืองหลวงของติมอร์-เลสเต โดยมี ดร.โจเซ รามอส-ออร์ตา ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต เข้าร่วม ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียระบุว่า โครงการนวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อชุมชนที่นำโดยมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรและความสามารถในการทำกำไรซึ่งจะช่วยยกระดับวิถีชีวิตในชนบท
ขณะที่ในกัมพูชา การสนับสนุนของศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียได้รับความสนใจอย่างมากด้วยการเปิดตัวโครงการสเลงฟิชเวย์ในอำเภอคราลันห์ จังหวัดเสียมเรียบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โครงการโครงสร้างพื้นฐานนี้เป็นโครงการแรกของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มุ่งฟื้นฟูการประมงและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของชนบท โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียและกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย เพื่อสร้างบันไดปลาที่ช่วยเปิดทางให้ปลาว่ายน้ำผ่านฝายสูง 1.4 เมตร เพื่อส่งเสริมการอพยพของปลา และสร้างความมั่นใจว่าประชาชนผู้อยู่อาศัยกว่า 20,000 คนจาก 31 หมู่บ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยชาร์ลส์สเตอร์ตของออสเตรเลีย หน่วยงานประมงกัมพูชา และชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ยังมีส่วนร่วมในความร่วมมือนี้ โดยเน้นแนวทางของศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลียเพื่อดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ตามรายงานของหน่วยงาน
ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีสำนักงานระดับภูมิภาคในเวียงจันทน์ ประเทศลาว และในซูวา ประเทศฟิจิ ระบุว่าโครงการในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ของโลกที่ช่วยลดความยากจนและปรับปรุงวิถีชีวิตด้วยการเกษตรที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนมากขึ้น
ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์