ความร่วมมือโอเชียเนีย

ออสเตรเลียกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านในหมู่เกาะแปซิฟิก

ทอม แอบกี

ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างออสเตรเลียและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้เพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับประเทศเหล่านี้เพื่อความปลอดภัยของเส้นทางสัญจรทางทะเล และต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย การกระทำอันเป็นโจรสลัดและภัยคุกคามทางทะเลอื่น ๆ ผ่านการลาดตระเวนร่วมกัน การเฝ้าระวังทางทะเล มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถ ตลอดจนข้อตกลงความร่วมมือ

ความพยายามที่พัฒนาขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของความมั่นคงในภูมิภาคและความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านในแปซิฟิก นายคาร์ล เธเยอร์ อดีตผู้อำนวยการด้านการศึกษาความมั่นคงของภูมิภาคที่วิทยาลัยการบัญชาการและเสนาธิการของออสเตรเลีย กล่าวกับ ฟอรัม

โครงการริเริ่มครั้งสำคัญครั้งแรกของออสเตรเลียในประเด็นนี้คือโครงการเรือลาดตระเวนแปซิฟิกที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 นายเธเยอร์กล่าว ภายใต้โครงการดังกล่าว ออสเตรเลียได้จัดหาเรือ 22 ลําให้กับประเทศหมู่เกาะ 12 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อตรวจสอบกิจกรรมการประมงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเหล่านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นผ่านโครงการยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งประกาศไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 และแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น

หัวใจสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องคือการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกได้ประกาศใช้ปฏิญญาโบ พ.ศ. 2561 ว่าด้วยความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีสมาชิก 18 ประเทศ รวมทั้งประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ พร้อมด้วยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ปฏิญญาฉบับนี้ได้ขยายความนิยามของความมั่นคงให้ครอบคลุมอาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่าย ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายเธเยอร์กล่าว

“ภายใต้ปฏิญญาโบ ออสเตรเลียได้เปิดตัวโครงการความมั่นคงทางทะเลแปซิฟิก 30 ปี ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนเรือลาดตระเวนแปซิฟิก การเปิดตัวโครงการเฝ้าระวังทางอากาศ และการส่งเสริมการประสานงานด้านความมั่นคงในภูมิภาค” นายเธเยอร์กล่าว

ในส่วนของการเฝ้าระวังนั้น ได้รับการประสานงานโดยหน่วยงานประมงการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกและได้รับเงินสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ผู้รับเหมาที่เป็นพลเรือนจัดให้มีการเฝ้าระวังทางอากาศ 1,400 ชั่วโมงในแปซิฟิกกลางและแปซิฟิกตะวันตกทุกปี เพื่อช่วยเหลือประเทศหมู่เกาะในการกําหนดเป้าหมายข่าวกรองและการลาดตระเวน

จุดสนใจหลักของโครงการความมั่นคงทางทะเลแปซิฟิกคือ การต่อต้านกิจกรรมการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งมีรายงานว่าเรือที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ก่อเหตุหลัก ตามรายงานของแรนด์คอร์ปอเรชัน

ลำดับความสำคัญของการเสริมสร้างขีดความสามารถของออสเตรเลียภายใต้โครงการความมั่นคงทางทะเลแปซิฟิกมีหลายแง่มุม นายเธเยอร์กล่าว ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนเรือลาดตระเวนแบบเดิมเป็นเรือชั้นการ์เดียนที่มีความก้าวหน้า ซึ่งเป็นเงินลงทุนมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่รวมถึงการลงทุนด้านที่ปรึกษาภายในประเทศ การฝึกอบรม และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โครงการนี้ยังรวมถึงการประชุมผู้นำร่วมด้านความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิกประจําปี การฝึกอบรมระดับภูมิภาคผ่านวิทยาลัยความมั่นคงในแปซิฟิกในกรุงแคนเบอร์รา และการเพิ่มเงินทุนสําหรับศูนย์ประสานงานในภูมิภาค

“นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังต้องการมีส่วนร่วมด้านกลาโหมโดยการส่งเรือของกองทัพเรือไปยังภูมิภาคดังกล่าวเป็นเวลานาน เพื่อดำเนินโครงการฝึกอบรมที่ครอบคลุมกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฟิจิ เฟรนช์พอลินีเซีย ไมโครนีเซีย นิวแคลิโดเนีย ปาปัวนิวกินี ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองงา วานูอาตู และติมอร์-เลสเต” นายเธเยอร์กล่าว

ความพยายามเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมจากองค์กรระดับภูมิภาค เช่น หน่วยงานประมงการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งช่วยประสานงานโครงการเฝ้าระวังทางอากาศ และกลุ่มประสานงานด้านกลาโหมจตุภาคี ได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านข่าวกรองและการเฝ้าระวังทางทะเล

สถานการณ์ความเป็นไปล่าสุดได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่มีต่อความมั่นคงในภูมิภาค นายเธเยอร์กล่าว ซึ่งรวมถึงการลงนามในข้อตกลงสถานะของกองกำลังระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับฟิจิ การลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงกับตูวาลู และการลงนามในข้อตกลงความมั่นคงกับปาปัวนิวกินี ยิ่งไปกว่านั้น ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมที่ลงนามระหว่างปาปัวนิวกินีและสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button