ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หน่วยการูดาของอินโดนีเซียเป็นกำลังสำคัญในการรักษาสันติภาพ

กัสดี ดา คอสตา

ตั้งแต่เลบานอนไปจนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและเขตความขัดแย้งอื่น ๆ หกแห่ง มีกองกำลังอินโดนีเซียมากกว่า 2,700 นายที่ส่งกำลังไปเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งบุคลากรเข้าร่วมมากที่สุดเป็นอันดับที่แปด นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของอินโดนีเซียกว่า 24,000 นาย ได้ปฏิบัติภารกิจขององค์การสหประชาชาติ และเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้เผยแพร่แผนระยะเวลาสองปีเพื่อเสริมการส่งกำลัง

“ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่อินโดนีเซียมีส่วนเกี่ยวข้องในภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ อินโดนีเซียก็มีบทบาทสำคัญเสมอ” นายลาลุ มูฮัมหมัด อิกบาล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “ความเป็นอิสระและพร้อมนำไปใช้ของนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียช่วยสร้างความสบายใจให้กับฝ่ายที่มีความขัดแย้ง จึงทำให้การมีตัวตนของอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา”

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศคำมั่นสัญญาของประเทศต่อภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติจนถึง พ.ศ. 2568 โดยมีบุคลากรที่เข้าร่วมอีก 865 คนจากกองทัพและตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย โดยที่มี 155 คนในจำนวนนั้นที่เป็นผู้หญิง

หน่วยรักษาสันติภาพของอินโดนีเซียเป็นที่รู้จักกันในชื่อหน่วยการูดา และได้ส่งกำลังไปปฏิบัติงานใน 30 ภารกิจเป็นระยะเวลาเกือบ 70 ปี ตามรายงานของนายเดฟ ลักโซโน สมาชิกคณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรที่ 1 ของอินโดนีเซีย ซึ่งกำกับดูแลด้านกลาโหมและกิจการต่างประเทศ นอกเหนือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและเลบานอนแล้ว บุคลากรของอินโดนีเซียยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง มาลี โซมาเลีย ซูดานใต้ ซูดาน และซาฮาราตะวันตก นายลักโซโนกล่าวกับ ฟอรัม

การส่งกำลังครั้งล่าสุดของการูดาเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยมีบุคลากร 1,090 คนได้รับการส่งตัวไปยังเลบานอนโดยแบ่งเป็นสี่ชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหมุนเวียนกำลังพลในภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 อินโดนีเซียได้เปิดดำเนินการศูนย์ภารกิจรักษาสันติภาพในเซนทูล ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางใต้ 50 กิโลเมตร ซึ่งนายอิกบาลกล่าวว่าทำหน้าที่เป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรสำหรับภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ”

ศูนย์แห่งนี้สร้างขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และได้เป็นที่พักให้กับผู้ฝึกอบรมจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และได้ทำการฝึกอบรมบุคลากรจากหลายประเทศ รวมถึงกัมพูชาและมองโกเลีย ภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี เพื่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภารกิจ

พ.ท. วันนา เนง จากกัมพูชา เข้าร่วมในการฝึกอบรมผู้ใช้งานอุปกรณ์วิศวกรรมหนักของศูนย์ในช่วงกลาง พ.ศ. 2566 พ.ท. เนง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพในอนาคต 300 คนจากกองกำลังของประเทศของตนจะได้รับการฝึกอบรมจากผลของหลักสูตรในครั้งนี้

“แต่แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมนี้มากที่สุดคือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภารกิจ” พ.ท. เนงกล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ขององค์การสหประชาชาติ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง นับตั้งแต่ที่มีความเสียหายจำนวนมากเกิดขึ้นกับถนน ทำให้การเคลื่อนที่ยากลำบาก”

รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของรัฐบาลอินโดนีเซียต่อการรักษาสันติภาพระดับโลก การส่งกำลังเข้าร่วมภารกิจขององค์การสหประชาชาติคือ “วิธีการพัฒนาความเป็นมืออาชีพ” ของตำรวจและทหารของประเทศ นายลักโซโนกล่าว

โดยปกติแล้วหน่วยการูดาจะส่งกำลังไปภายในระยะเวลาสองเดือนหลังจากได้รับคำขอจากองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพและการบรรเทาภัยพิบัติ และการรับมือกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้หญิง

การทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติและกองทัพอื่น ๆ เป็นประโยชน์ต่อกองทัพของอินโดนีเซีย นายทึคุ เรซาสยา อาจารย์ผู้บรรยายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปัดจาดจารัน กล่าวกับ ฟอรัม “เราได้เรียนรู้ร่วมกัน” นายเรซาสยากล่าว “เราเรียนรู้จากพวกเขา และพวกเขาก็เรียนรู้จากเรา”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button