ระบบเรดาร์จากญี่ปุ่นช่วยเสริมการเฝ้าระวังในทะเลจีนใต้ของฟิลิปปินส์
มาเรีย ที. เรเยส
ในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นได้จัดหาระบบเรดาร์เฝ้าระวังทางอากาศให้แก่ฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังของฟิลิปปินส์ ในขณะที่รัฐบาลจีนมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นในทะเลจีนใต้
ระบบดังกล่าวได้รับการติดตั้งไว้ที่ฐานทัพอากาศวอลเลซ ซึ่งเป็นอดีตฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือราว 270 กิโลเมตร และหันออกไปทางทะเลที่เป็นข้อพิพาท อีกทั้งยังสามารถตรวจจับเครื่องบินขับไล่และขีปนาวุธได้จากระยะไกล
ฟิลิปปินส์สั่งซื้อเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลแบบอยู่กับที่สามเครื่องและแบบเคลื่อนที่หนึ่งเครื่องในราคา 3.6 พันล้านบาท (ประมาณ 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และได้รับการส่งมอบเรดาร์แบบอยู่กับที่เครื่องแรกจากสามเครื่องใน พ.ศ. 2563 ซึ่งการสั่งซื้อนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์
สำหรับเรดาร์ที่เหลือจะส่งมอบใน พ.ศ. 2569 และจะนำไปใช้งานในตำแหน่งที่ยังไม่ได้ระบุ โดยมีบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตเช่นเดียวกัน
จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ว่าเป็นอาณาเขตของตน และยังคงไม่ยอมรับคําตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวไปแล้ว กำลังทหารของจีนก็ทำการคุกคามเรือของประเทศผู้อ้างสิทธิ์อื่น ๆ ที่ออกปฏิบัติการอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่เป็นประจำ เช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนและเรือของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลได้ยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เรือของฟิลิปปินส์ เพื่อพยายามขัดขวางภารกิจส่งกำลังบำรุงให้กับลูกเรือฟิลิปปินส์ที่ประจําการอยู่ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ที่ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์
โครงการเรดาร์นี้เป็นก้าวสําคัญสําหรับญี่ปุ่นและนับเป็นการส่งออกยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ผ่อนปรนการห้ามค้าอาวุธใน พ.ศ. 2557
ระบบเรดาร์ “มีความสําคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในภูมิภาค” พล.อ.ท. สตีเฟน พาร์เรโญ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ กล่าวในระหว่างพิธีส่งมอบ “เรดาร์นี้จะทํางานเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการ ทําให้เราสามารถตรวจจับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากระยะทางที่ไกลขึ้นและแม่นยํายิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสกัดกั้น”
ระบบนี้มีพิสัย 555 กิโลเมตรสำหรับตรวจจับเครื่องบิน และมากกว่า 930 กิโลเมตรสำหรับขีปนาวุธทิ้งตัว เจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ได้รับการฝึกอบรมในญี่ปุ่นเพื่อใช้งานระบบนี้
อดีตฐานทัพสหรัฐฯ ในซานเฟอร์นันโด ทางตอนเหนือของจังหวัดลาอูนียงไม่มีความสามารถด้านเรดาร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 นับตั้งแต่เรดาร์ที่ใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493 – 2502) ถูกปลดระวาง
“ผมมองว่าการพัฒนาดังกล่าวเป็นการขยายตัวของชุดเครื่องมือในทะเลจีนใต้ของฟิลิปปินส์” นายมาร์ค มานันทัน หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงทางไซเบอร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของแปซิฟิก ฟอรัม ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของฮาวาย กล่าวกับ ฟอรัม “และแน่นอนว่าจากมุมมองทางการทูต การพัฒนานี้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ นับตั้งแต่มีการเปิดเผยคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2559 กฎหมายระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นไปที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลก็ได้รับการรับรองและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจน”
ญี่ปุ่นสนับสนุนฟิลิปปินส์และประเทศอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการยกระดับความสามารถด้านกลาโหมเพื่อเสริมการป้องปราม ในการประชุมสุดยอดระหว่างญี่ปุ่นและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่กรุงโตเกียวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ทุกฝ่ายให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน
“ในระดับภูมิภาคแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นมีผลกระทบอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายมานันทันกล่าว “ซึ่งเกิดมาจาก … การประชุมสุดยอดอาเซียนและญี่ปุ่น ครั้งที่ 50 ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นได้ยกระดับเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2566”
“เรายังได้เห็นการพัฒนาควบคู่ไปกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอีกด้วย เช่นเดียวกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับมาเลเซียและเวียดนาม” นายมานันทันกล่าว
การพัฒนาเหล่านี้จะตอกย้ำจุดยืนของอาเซียนในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่เพียงฝ่ายเดียว และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแน่วแน่ นายมานันทันระบุ
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์