ทรัพยากรส่วนรวมของโลกสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีรายงานเกี่ยวกับการขุดลอกของจีนที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการังในทะเลจีนใต้

เรดิโอฟรีเอเชีย

ตามรายงานฉบับใหม่พบว่า การขุดลอกและกิจกรรมทางทะเลอื่น ๆ ของประเทศต่าง ๆ ที่อ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตในทะเลจีนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วดำเนินการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำลายแนวปะการัง โดยมีพื้นที่จำนวนมากถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก

“ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การทำประมง การขุดลอก และการฝังกลบ รวมถึงการทำประมงหอยมือเสือที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตนับพันชนิดที่ไม่อาจพบได้ที่อื่นใดในโลก” ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

การสำรวจของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์บริเวณสันดอนซาบีนาในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก แสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศทางทะเลที่แทบไม่มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตและพื้นใต้ทะเลที่เปลี่ยนสีไป เจ้าหน้าที่ระบุว่า การสำรวจในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 เผยให้เห็นความเสียหายอย่างรุนแรงที่แนวปะการัง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัวของเรือพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์
วิดีโอจาก: กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์

แนวปะการังมากกว่า 25 ตารางกิโลเมตรหรือ 6,200 เอเคอร์ถูกทำลายจากความพยายามในการสร้างเกาะในทะเลจีนใต้ โดยร้อยละ 75 ของความเสียหายดังกล่าวล้วนเกิดจากจีน ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศและเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

แนวปะการังอีก 66 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 16,300 เอเคอร์ได้รับความเสียหายจากการที่ชาวประมงจีนทำประมงหอยมือเสือ

การทำประมงเชิงอุตสาหกรรมของจีนและเวียดนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อวนลากไปตามพื้นใต้ทะเล ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ปริมาณสัตว์น้ำโดยรวมในทะเลจีนใต้ลดน้อยลง โดยสัตว์น้ำที่จับได้ก็มีปริมาณคงที่นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) ทั้ง ๆ ที่มีการทำประมงเพิ่มมากขึ้น รายงานดังกล่าวระบุ

นักวิจัยของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียวิเคราะห์การทำลายแนวปะการังที่เกิดจากกิจกรรมการสร้างเกาะของประเทศที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์เหนือเส้นทางน้ำทางยุทธศาสตร์เกือบทั้งหมดว่าเป็นอาณาเขตของตน และยังคงเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวว่ามิชอบด้วยกฎหมาย

เพื่อที่จะสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว จีนและประเทศอื่น ๆ ได้จัดตั้งด่านชั้นนอกทางทะเลและสร้างเกาะเทียมโดยใช้วิธีการรุกราน เช่น การขุดลอกพื้นใต้ทะเลเพื่อรวบรวมวัสดุสำหรับการถมที่ดินหรือการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะ

“จีนเป็นประเทศที่ทำลายแนวปะการังมากที่สุดด้วยการขุดลอกและถมที่ดิน โดยได้ถมแนวปะการังไปกว่า 4,648 เอเคอร์ หรือประมาณ 18.8 ตารางกิโลเมตร” ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย ซึ่งมากกว่าอันดับสองอย่างเวียดนามถึงสามเท่า

รายงานเรื่อง “รอยแผลเป็นแห่งท้องทะเล: ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมต่อทะเลจีนใต้” ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีขุดลอกของจีน โดยระบุว่า “เรือขุดชนิดหัวดูดและตัดจะตัดผ่าเข้าไปในแนวปะการังและสูบตะกอนผ่านท่อลอยไปสู่ยังพื้นที่น้ำตื้นเพื่อนำไปถมที่ดิน กระบวนการนี้ทำให้แนวพื้นทะเลปั่นป่วน ก่อให้เกิดตะกอนหยาบแขวนลอยซึ่งคร่าชีวิตสัตว์น้ำที่อยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังทำให้แนวปะการังไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อีกด้วย”

รัฐบาลจีนดำเนินการสร้างเกาะเทียมจำนวนมากตั้งแต่ พ.ศ. 2556 – 2560 และใน พ.ศ. 2565 ก็ได้เสริมกำลังทหารไปยังแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่ง ได้แก่ แนวปะการังซูบี แนวปะการังมิสชีฟ และแนวปะการังเฟียรีครอส

ประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิ์ได้ใช้วิธีการขุดลอกที่เป็นอันตรายน้อยกว่า

“จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เวียดนามได้ใช้เรือขุดลอกแบบคีบและอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นหลักในการคีบตักส่วนต่าง ๆ ของแนวปะการังน้ำตื้น และสะสมตะกอนในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการถมที่ดิน” ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย “วิธีการนี้ใช้เวลานานกว่าและทำให้พื้นที่โดยรอบเสียหายน้อยกว่า”

“อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวพบว่า เมื่อไม่นานมานี้เวียดนามได้หันไปใช้เรือขุดชนิดหัวดูดและตัดเช่นเดียวกันกับของจีน การขยายด่านชั้นนอกเป็นจำนวนมากในทะเลจีนใต้ของเวียดนามนี้ยังคงดำเนินต่อไปและจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลโดยรอบ”

มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวันได้สร้างสิ่งปลูกสร้างทางทะเลในขอบเขตที่น้อยกว่ามาก และมีความพยายามที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

“การขุดลอกจะเป็นอันตรายน้อยลงเมื่อมีการตกตะกอนและการควบคุมละอองตะกอนมากขึ้นในระหว่างการขุดลอกและการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะ” นายคามารุซามาน เลกิแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชาวมาเลเซีย ระบุ “การบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมสามารถทำได้โดยการตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่ไม่พึงประสงค์”

นอกจากนี้ โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียยังรายงานว่าการทำประมงหอยมือเสือได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่แนวปะการังเป็นวงกว้าง โดยระบุว่า “การทำประมงหอยมือเสือเพื่อเก็บเปลือกหอยที่มีลักษณะโดดเด่นนี้ได้รับความนิยมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับงาช้าง ซึ่งในปัจจุบันหอยมือเสือนั้นทั้งหาได้ยากเป็นอย่างยิ่งหรือผิดกฎหมายหากมีในครอบครอง”

เปลือกหอยเหล่านี้ได้นำไปแกะสลักและขายเป็นเครื่องประดับหรือรูปแกะสลักในจีน ซึ่งมีราคาสูงถึงชิ้นละ 3.67 ล้านบาท (ประมาณ 106,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

ชาวประมงจีนใช้วิธีที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งในการ “ลากใบพัดทองเหลืองที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ” เพื่อขุดพื้นผิวแนวปะการังและ “เพื่อทำประมงหอยทั้งที่มีชีวิตและตายแล้วซึ่งติดอยู่ตามแนวปะการังได้ง่ายขึ้น” ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย

ซึ่งส่งผลให้ในปัจจุบันแนวปะการังในทะเลจีนใต้หลายแห่งมีรอยแผลเป็นรูปโค้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button