ประเทศต่าง ๆ กำลังพัฒนากฎระเบียบในการใช้ปัญญาประดิษฐ์และอาวุธสังหารอัตโนมัติ
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ประเทศต่าง ๆ กว่า 50 ประเทศได้ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการกําหนดแนวทางเพื่อรับรองว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าว เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์มีความโดดเด่นมากขึ้นในการพัฒนาอาวุธและการใช้งานทางทหารอื่น ๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงพัฒนากฎระเบียบเพื่อควบคุมการใช้งาน
นายไมเคิล ซี. โฮโรวิทซ์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนากองกําลังและขีดความสามารถที่เกิดขึ้นใหม่ ได้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของกระทรวงกลาโหมในระหว่างการประชุมเสมือนจริงเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ที่จัดโดยสถาบันคลังปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีขั้นสูงวัธวานีแห่งสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกปฏิญญาทางการเมืองเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติทางทหารอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการใช้งาน นายโฮโรวิทซ์กล่าวว่า ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 มีประเทศที่ได้ลงนามในปฏิญญาดังกล่าวแล้ว 51 ประเทศ และประเทศเหล่านี้จะเริ่มประชุมกันในเร็ว ๆ นี้เพื่อสร้างฉันทามติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและช่วยให้ประเทศหุ้นส่วนสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตนได้ รัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่ได้ลงนามในปฏิญญานี้ นายโฮโรวิทซ์กล่าว
“ผมคิดว่าประชาชนตระหนักดีว่าบรรทัดฐานที่เราพยายามส่งเสริมเป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรจะสนับสนุน” นายโฮโรวิทซ์กล่าว “เราคิดว่านี่เป็นการกำกับดูแลที่ดี จึงเป็นผลประโยชน์ของทุกคนที่ประเทศต่าง ๆ สามารถพัฒนาและปรับใช้ระบบทางทหารที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างปลอดภัย”
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ปรับปรุงคําสั่งเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในระบบอาวุธสังหาร ซึ่งกําหนดให้มีการทดสอบและตรวจสอบระบบอาวุธสังหารใหม่ทั้งหมดอย่างเข้มงวด
“ระบบอาวุธสังหารที่ไม่ปลอดภัยและคาดเดาไม่ได้นั้นใช้งานไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์” นายโฮโรวิทซ์กล่าว “เมื่อพูดถึงความสามารถที่จําเป็นในการพัฒนาและปรับใช้กองกําลังร่วมเพื่อยับยั้งสงครามและความสามารถที่จําเป็นในการเอาชนะเมื่อเกิดความขัดแย้ง เราจําเป็นต้องมีความมั่นใจในระบบของเรา”
นอกจากนี้คำสั่งกระทรวงกลาโหมยังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบที่อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมการใช้กำลังได้ โดยเฉพาะในกรณีของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนายโฮโรวิทซ์กล่าวว่าเป็นไปตามการประเมินสถานการณ์นิวเคลียร์ของกระทรวงกลาโหม
“เราคิดว่าการตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์มีความสำคัญมาก และเราคิดว่าการให้มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจนั้นควรเป็นประเด็นหลัก” นายโฮโรวิทซ์กล่าว “เราหวังว่าประเทศอื่น ๆ จะให้คํามั่นสัญญาเช่นเดียวกัน และเราหวังว่าพวกเขาจะให้คํามั่นสัญญานี้อย่างชัดเจน”
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเลียนแบบ ซึ่งเป็นกระบวนการของหน่วยงานทั่วโลกเพื่อเร่งการมอบขีดความสามารถที่เป็นนวัตกรรมให้กับผู้ทำการรบในสงคราม หน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมเป็นผู้นำในโครงการนี้ ซึ่งเป็นหน่วยที่ได้รับการประกาศจัดตั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดยเริ่มแรกเน้นไปที่การต่อสู้กับกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยการวางระบบไร้คนขับ ซึ่งสามารถส่งไปใช้งานในปริมาณมากและเข้าเผชิญความเสี่ยงในช่วงที่มีความขัดแย้งได้เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างต่ำ หน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมและหุ้นส่วนระหว่างประเทศกําลังวิเคราะห์การใช้ระบบดังกล่าวในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
“เราเคยคิดว่าคุณมีความแม่นยำ หรือคุณมีกำลังมาก แต่ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว” นายโฮโรวิทซ์กล่าว “ในหลาย ๆ สถานการณ์สิ่งที่เราต้องการคือคุณภาพที่แม่นยํา”