ไต้หวันระมัดระวังการบีบบังคับและการบิดเบือนข้อมูลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อใกล้ถึงช่วงการเลือกตั้ง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
การคาดการณ์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่กำลังจะมาถึง ทำให้เกาะไต้หวันที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต้องคอยระแวดระวัง
“วิธีการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีความหลากหลายมาก” นายไช่ มิงเยน ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน กล่าวเตือนสมาชิกสภานิติบัญญัติ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
กลยุทธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการขัดขวางการเลือกตั้งนั้นรวมไปถึงการกดดันทางทหาร การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ และการบิดเบือนข้อมูลอย่างแพร่หลายผ่านทางสำนักข่าวต่าง ๆ สื่อสังคมออนไลน์ และช่องทางอื่น ๆ
รัฐบาลจีนข่มขู่ว่าจะใช้กำลังเข้ายึดครองไต้หวันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ความพยายามที่โจ่งแจ้งที่สุดในการข่มขู่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของไต้หวันนั้นรวมถึงการฝึกซ้อมและลาดตระเวนทางทหาร ซึ่งปกติแล้วจะทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่ผู้นำของไต้หวันพบปะกับตัวแทนจากประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2563 ของไต้หวัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ส่งเรือรบและเครื่องบินขับไล่เข้ามาใกล้กับเกาะไต้หวันเป็นประจำ นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลจีนคาดหวังว่าแรงกดดันทางทหารจะส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันไปลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ในด้านการข่มขู่ทางเศรษฐกิจ ใน พ.ศ. 2566 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการสืบสวนที่ดูมีพิรุธเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเรียกว่าเป็นกำแพงทางการค้าของไต้หวัน การสืบสวนนี้มีกำหนดการสิ้นสุดก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2567 ซึ่งผู้เจรจาด้านการค้ามองว่ากำหนดการเช่นนี้เป็นหลักฐานของการแทรกแซงการเลือกตั้ง ตามรายงานของรอยเตอร์
ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันคือข้อตกลงใน พ.ศ. 2553 ที่ลดภาษีการส่งออกระหว่างรัฐบาลไต้หวันและรัฐบาลจีน การยกเลิกข้อตกลงนี้จะทำให้เกิดผลกระทบทางการเงินต่อทั้งสองฝ่าย การแปรเปลี่ยนจากภัยคุกคามของการยกเลิกข้อตกลงไปเป็นปัญหาการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นฉากหน้าของการแก้แค้นต่อจุดยืนทางการเมืองที่ตนเองต่อต้าน อาจส่งผลให้เกิด “การที่จีนใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างอิทธิพลกึ่งถาวร” ในการเมืองไต้หวัน นายรัสเซล เซียว จากสถาบันวิจัยโกลบอลไต้หวันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เขียน
รัฐบาลจีนมุ่งที่จะบีบบังคับไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยการสั่งห้ามผลิตภัณฑ์ส่งออกทางการเกษตรอันดับต้น ๆ หลายรายการ เช่น สับปะรด น้อยหน่า และปลา
ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังรวมไปถึงความพยายามในการบีบบังคับนักธุรกิจและนักการเมืองให้สนับสนุนเป้าหมายของตนเอง รัฐบาลไต้หวันแถลงในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเสนอของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะมอบสิทธิ์การเดินทางด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลงให้แก่นักการเมืองไต้หวัน
“การแทรกแซงการเลือกตั้งได้เริ่มต้นขึ้นภายใต้ฉากหน้าของทัวร์แบบกลุ่ม” เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงไต้หวันกล่าวกับรอยเตอร์ เจ้าหน้าที่ต่างยืนยันว่าจีนมุ่งเป้าไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทสำคัญในการชักนำความคิดเห็นของประชาชน และขอให้ผู้เข้าร่วมทัวร์สนับสนุนอุดมคติที่สอดคล้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การบิดเบือนข้อมูลเป็นสิ่งที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยรัฐบาลจีน
“เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่จีนได้ดำเนินการชักใยข้อมูลต่างประเทศและการแทรกแซงที่มุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน และได้ปรับกลยุทธ์ เทคนิค ตลอดจนขั้นตอนการทำงานของตน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการยึดครองไต้หวัน” นายทิม ไนเวน นักวิจัยที่ดับเบิ้ลธิงค์แล็บของไต้หวัน เขียนลงในนิตยสารเดอะ ดิโพลแมต ดับเบิ้ลธิงค์แล็บทำงานเพื่อสร้างความสามารถในการรับมือการชักใยข้อมูลและอิทธิพลที่มุ่งร้าย “โครงการแบบยั่งยืนและระยะยาวของรัฐบาลจีน … ส่งผลต่อบริบทการเลือกตั้งทุกครั้งในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันเป็นข้อกังวลหลักสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
กลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นดูเหมือนว่าจะมีเป้าหมายไปที่การแบ่งขั้วผู้มีสิทธิเลือกตั้งของไต้หวัน ตามข้อมูลจากนายไนเวน ซึ่งกล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังแสวงหาแนวทางใหม่หลังจากที่ล้มเหลวในการเพิ่มการสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลจีน “ความพยายามของจีนกำลังหันเหไปที่การโจมตีการทำงานของระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน” นายไนเวนเขียน
ไต้หวันมีประชากรประมาณร้อยละ 95 จาก 24 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสถียรได้ และเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ของการแพร่กระจายข้อมูลเท็จจากรัฐบาลต่างประเทศ ตามรายงานของดิจิทัลโซไซตีโปรเจกต์
ไต้หวันได้ตอบโต้การยั่วยุของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการลงทุนในภาครัฐบาล โครงการการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง และความร่วมมือด้านทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ประชากรของไต้หวันเองก็มีความเคลือบแคลงใจอย่างมากต่อสื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามรายงานของสถาบันวิจัยฟรีดอมเฮาส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งระบุว่ามีประชากรไต้หวันเกือบร้อยละ 75 ที่สนับสนุนกฎระเบียบเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน