แร่ธาตุ ที่สำคัญ: การแข่งขัน ด้านทรัพยากร
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสีเขียวทั่วโลกซึ่งเป็นการต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล กองทัพ และพลเมือง ต้องอาศัยการผลิตแร่ธาตุที่สำคัญของโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก การตอบสนองความต้องการมหาศาลพร้อมกับบรรเทาผลกระทบต่อโลกและชาวโลก จะต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติและรูปแบบความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้น
การทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรอบ การทำเหมืองแร่และการแปรรูปแร่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐ-ประชาชนจีน ซึ่งแทบจะผูกขาดแหล่งแร่ที่สำคัญของโลกทั้งด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและการมีแร่ธาตุในประเทศตนเอง มีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาคต่อคนพื้นเมืองและประเทศกำลังพัฒนาในโครงการของจีนและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ห่วงโซ่อุปทานที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดหมายความว่าการเข้าถึงแร่ธาตุอาจไม่มั่นคง ที่เลวร้ายที่สุดคือ สารที่สำคัญเหล่านั้นอาจจะถูกนำไปใช้เป็นอาวุธกับประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า ซึ่งเคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน
ความร่วมมือพหุภาคีที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานและจัดการต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของการผลิตแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางแร่ธาตุซึ่งมีสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เกาหลีใต้ สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2565เพื่อสนับสนุนการจัดหาแร่ธาตุอย่างยั่งยืนและการทำเหมืองแร่อย่างมีจริยธรรม
แร่ธาตุแห่งการเปลี่ยนแปลง
แร่ธาตุที่สำคัญคือแร่ธาตุที่รัฐบาล กองทัพ และอุตสาหกรรมยอมรับว่ามีความสำคัญต่อเทคโนโลยี เศรษฐกิจ กลาโหม และความมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ สายเคเบิลใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์ทางการแพทย์และกลาโหม นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำ แร่ธาตุที่สำคัญประกอบด้วยธาตุที่คุ้นเคย เช่น โคบอลต์แกรไฟต์ และลิเทียม ซึ่งมีการใช้ตั้งแต่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงโลหะผสมสำหรับเครื่องยนต์ไอพ่น ธาตุหายากที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่า เช่น แลนทานัมซึ่งใช้ในแว่นตามองกลางคืนและแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด หรือซามาเรียมซึ่งใช้ในเทคโนโลยีเลเซอร์และอาวุธนำวิถีที่แม่นยำก็เป็นกุญแจสำคัญเช่นกัน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่สะอาดทั่วโลกอาจเพิ่มความต้องการแร่ธาตุบางชนิดถึงเกือบร้อยละ 500ในช่วงเวลาไม่ถึงสามทศวรรษ จากการคาดการณ์ในโครงการริเริ่มการทำเหมืองแร่อัจฉริยะเพื่อสภาพภูมิอากาศของธนาคารโลก
จีนควบคุมตลาดการแปรรูปส่วนใหญ่สำหรับแร่ธาตุที่สำคัญ โดยสกัดโคบอลต์ ลิเทียม นิกเกิล และธาตุหายากของโลกมากกว่าประเทศอื่น ๆ แม้ตนเองจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตแร่ธาตุดิบชั้นนำ นักวิเคราะห์กล่าวว่าจีนทำให้ตนเองกลายเป็นตัวเลือกที่ต้นทุนต่ำที่สุด โดยเสนอที่ดินและพลังงานที่ไม่แพงให้กับบริษัทต่าง ๆ นอกเหนือจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้มงวด ผลก็คือ แร่ธาตุเกรดเทคโนโลยีส่วนใหญ่ได้รับการทำบริสุทธิ์ในจีน ไม่ว่าจะขุดมาจากที่ใดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ มีแร่ธาตุที่สำคัญจำนวนมากกว่า ประเทศที่มีปริมาณสำรองของโคบอลต์มากที่สุดในโลก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ออสเตรเลียและอินโดนีเซียมีปริมาณสำรองของนิกเกิลมากที่สุด รองลงมาคือบราซิลตุรกีมีปริมาณสำรองของแกรไฟต์มากที่สุด รองลงมาคือบราซิลและจีนชิลีขึ้นชื่อว่ามีปริมาณสำรองลิเทียมมากที่สุดในโลก ตามด้วยออสเตรเลียและมีจีนเป็นอันดับสามตามมาอยู่ห่าง ๆ
จีนเป็นที่ตั้งของปริมาณสำรองธาตุหายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ จะกำลังเพิ่มกิจกรรมการสกัดและการทำบริสุทธิ์อยู่ก็ตาม ธาตุหายาก คือ สารประเภทโลหะที่แข็งแรงและน้ำหนักเบา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อแม่เหล็กทรงพลังที่ขับเคลื่อนกังหันลม มอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า การสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบนำวิถีขีปนาวุธ และเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากมาย ธาตุหลายชนิดในกลุ่มนี้แม้จะได้ชื่อว่าหายากแต่ก็พบได้ “ค่อนข้างมาก” ในเปลือกโลก ตามการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ แต่ไม่ค่อยพบในรูปแบบธาตุบริสุทธิ์และต้องมีการแปรรูปเพื่อแยกออกมา นอกจากนี้ ธาตุหายาก
ยังมีความเกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการทำเหมืองและการแปรรูปสารอย่างไร้ความรับผิดชอบ
เหมืองบายันโอโบของจีนในภูมิภาคมองโกเลียในเป็นเหมืองธาตุหายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมื่อรวมกับโรงงานแปรรูปเป่าโถวที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว ก็ถือเป็นที่ที่มีชื่อเสียงแย่ที่สุด ใน พ.ศ. 2562 นางจูลี คลิงเกอร์ ผู้ช่วย-ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ในสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า “ชายแดนแร่หายาก: จากดินแดนใต้พิภพสู่ภูมิทัศน์บนดวงจันทร์” ซึ่งอธิบายถึงโรคมะเร็งรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีและสารปนเปื้อนอื่น ๆ จากการสกัดและทำบริสุทธิ์ธาตุหายากในเขตเหมืองแร่ที่ห่างไกล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มชนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ชาวมองโกเลียอาศัยอยู่ นอกจากนี้ นางคลิงเกอร์ยังอ้างถึงสภาวะร่างกายอ่อนแอซึ่งเป็นผลมาจากสารพิษที่เกี่ยวข้องกับการสกัดธาตุหายาก และการแปรรูปอื่น ๆ ที่สะสมอยู่ในดิน ซึ่งถูกดูดซึมโดยพืชหรือกินเข้าไปโดยปศุสัตว์และละลายอย่างเข้มข้นในน้ำดื่ม “เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจจริง ๆ ที่บ่อยครั้งเราสามารถแยกแยะชาวพื้นเมืองที่แท้จริงออกจากผู้อพยพได้จากรอยแผลที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากพิษของสารหนู และกระดูกที่ผิดรูปและฟันผุซึ่งเป็นอาการของโรคฟลูออโรซิสเรื้อรัง” นางคลิงเกอร์เขียน
การทำเหมืองนี้ผลิตฝุ่นที่เต็มไปด้วยโลหะหนักและสารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นในปริมาณสำรองธาตุหายาก การแยกธาตุเหล่านั้นออกจากหินเกี่ยวข้องกับสารประกอบทางเคมีที่เป็นพิษหลายชนิด จากการประมาณคร่าว ๆ การทำบริสุทธิ์ธาตุหายากน้อยกว่า 1 ตัน อาจทำให้เกิดของเสียที่เป็นพิษได้มากกว่า 1,800 ตัน ผลพลอยได้จากกระบวนการนี้ในจีนได้แก่ ดินที่เป็นพิษและแหล่งน้ำสำคัญที่ถูกคุกคามโดยของเสียที่เกิดขึ้นเช่น ทะเลสาบเทียมที่ไม่มีการบุป้องกันในเป่าโถวที่เต็มไปด้วย “สารละลายกัมมันตรังสี” ประมาณ 180 ล้านตันห่างจากแม่น้ำเหลืองไปทางเหนือ 10 กิโลเมตรซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับผู้คนมากกว่า 100 ล้านคน
ในขณะที่นางคลิงเกอร์กล่าวว่าหลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าจีนได้แก้ไขที่ดินบางส่วนที่ถูกทำลายโดยการทำเหมืองแร่และการแปรรูปแร่มานานหลายทศวรรษทั่วประเทศจีน แต่มีงานวิจัยจำนวนไม่มากนักที่แสดงให้เห็นถึงการลงทุนในปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้น สารเคมีหลายชนิดที่ปล่อยออกมาจากการทำเหมืองแร่อย่างไม่มีความรับผิดชอบอาจคงอยู่ในร่างกายและทำให้เกิดข้อบกพร่องด้านสุขภาพที่ส่งต่อไปหลายรุ่น นางคลิงเกอร์กล่าว “เมื่อพูดถึงการทำเหมืองแร่และการสัมผัสกับของเสียจากอุตสาหกรรม คุณไม่อาจย้อนคืนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้” นางคลิงเกอร์กล่าวกับ ฟอรัม
จีนได้ใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่หละหลวมกับการทำเหมืองแร่ทั้งภายในและภายนอกประเทศมาอย่างยาวนาน นางชารอน เบิร์กนักวิจัยระดับโลกที่ปฏิบัติงานในโครงการเปลี่ยนแปลงและรักษาความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์วิลสันในสหรัฐฯ กล่าวในการออกอากาศทางเว็บไซต์เกี่ยวกับแร่ธาตุที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2566 “หากพูดอย่างเป็นธรรม ภาคเหมืองแร่ทั้งหมดในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีประวัติที่ยอดเยี่ยมนัก” นางเบิร์กกล่าว “มีประวัติอันยาวนานว่าสร้างปัญหาในทุกด้าน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณจะเห็นว่าบริษัทเหมืองแร่จำนวนมากพยายามที่จะทำให้ดีขึ้นและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น และนั่นรวมถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทด้วย” อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่ได้ “พยายามอย่างหนักมากพอที่จะทำให้ดีขึ้นตามหลักนิติธรรมและความซื่อสัตย์ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับปัญหาการทำเหมืองแร่เหล่านี้” นางเบิร์กกล่าว
การแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ
การลงทุนการทำเหมืองแร่ในต่างประเทศอย่างกว้างขวางของจีนก็อยู่ภายใต้การตรวจสอบเช่นกัน เช่น:
ระหว่าง พ.ศ. 2556 ถึง 2563 ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิ-มนุษยชน ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐระดับโลก ได้รับข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า 230 เรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโลหะที่จีนเป็นเจ้าของ บริษัทเหมืองแร่ในจีน
ตอบสนองต่อข้อร้องเรียนเหล่านั้นไม่ถึงหนึ่งในสี่ข้อร้องเรียน ตามรายงานขององค์การนอกภาครัฐนี้ “บริษัทจีนดูเหมือนจะไม่เต็มใจที่จะมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างเปิดเผยและโปร่งใส” นางโกลด้า เอส. เบนจามิน ผู้อำนวยการโครงการ
ขององค์การนี้ กล่าวในรายงาน
การลงทุนของจีนในอินโดนีเซียบางครั้งสร้างผลกำไรเพียงเล็กน้อยสำหรับคนงานเหมืองในท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจัดการความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสกัดธาตุ ตามรายงานของศูนย์เพื่อวิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศในสหรัฐฯ คณะกรรมการขจัดการทุจริตของอินโดนีเซียยังได้เตือนว่า นักลงทุนจีนสร้างสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่อาจได้รับสินบนเพื่อให้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ในอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์เพื่อวิสาหกิจเอกชนระหว่างประเทศรายงานว่าการลงทุนจากจีนมีความเชื่อมโยงกับการทุจริตการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย การบ่อนทำลายกฎระเบียบ
และการหลีกเลี่ยงภาษี
ภาคเหมืองแร่ของแอฟริกาส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยบริษัทจีน ซึ่งถูกไฟไหม้เนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัยของคนงาน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นายเฟลิกซ์ ชิเซเคดีประธานาธิบดี ได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงแร่เพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศของตนทำกับจีนใน พ.ศ. 2551 โดยกล่าวว่าจีนได้กำไรจากแร่ธาตุของแอฟริกาโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญามูลค่าประมาณ 2.2 แสนล้านบาท (6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก “ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย ผมพูดได้เลยว่าไม่มีผลกระทบเชิงบวกใด ๆ ต่อประชาชนของเราเลย” นายชิเซเคดีกล่าวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566
บริษัทเหมืองแร่ของจีนทั่วทั้งลาตินอเมริกาถูกกล่าวหาว่าละเลยภาระผูกพันขั้นพื้นฐานสำหรับคนงานและชุมชนโดยรอบ การละเมิดมีตั้งแต่การปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและความเสียหายต่อระบบนิเวศที่จำเป็น ไปจนถึงการขับไล่ครอบครัวชาวพื้นเมืองอย่างผิดกฎหมาย ตามรายงานของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล
ร่วมมือสร้างการเปลี่ยนแปลง
ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางแร่ธาตุได้ระบุถึงโครงการเหมืองแร่ การรีไซเคิล และการสกัด 16 โครงการที่จะได้รับการสนับสนุน ซึ่งรวมถึงความพยายามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นายโฮเซ่เฟอร์นันเดซ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม กล่าวกับสำนักข่าวโพลิติโกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 โครงการแยกและสกัดต้องเป็นไปตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจึงจะได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือนี้นายเฟอร์นันเดซกล่าว นายเฟอร์นันเดซกล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทเหมืองแร่ที่มีชื่อเสียงจะมองว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น “บริษัทเหล่านี้จะไม่ลงทุนในโครงการที่ทำลายป่าฝนอันมีค่า ซึ่งไม่ได้มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองหรือต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ” นายเฟอร์นันเดซกล่าวในระหว่างการประชุมอินดาบา เกี่ยวกับการลงทุนในการทำเหมืองแร่แอฟริกาประจำ พ.ศ. 2566 ในเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ “พวกเขาจะไม่ทำอย่างนั้น ผู้ถือหุ้นของพวกเขาจะไม่อนุญาตให้ทำ ลูกค้าของพวกเขาจะไม่ยอมรับ และกฎหมายของเราจะลงโทษการกระทำดังกล่าว”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่ผู้นำอุตสาหกรรมยืนกรานปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมนางคลิงเกอร์กล่าว นางคลิงเกอร์เตือนว่ากฎเหล่านั้นจะต้องได้รับการปรับให้เหมาะกับแร่ธาตุแต่ละประเภทที่สกัด จัดเก็บ และแปรรูป “ยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาความแม่นยำและความซับซ้อน ในขณะที่เราทำงานเพื่อสร้างอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นางคลิงเกอร์กล่าว และเสริมว่าการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยให้มั่นใจได้ว่าบริษัทเหมืองแร่จะดำเนินการอย่างยั่งยืน “สิ่งที่เรากำลังทำนี้คือการเรียกร้องให้การดำเนินการที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่ในทางกลับกันก็บอกให้บริษัทอยู่รอดในเศรษฐกิจที่โหดร้าย”
นอกจากนี้ นางคลิงเกอร์ยังย้ำว่าตอนนี้เป็นเวลาที่จะมุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลในการแข่งขันด้านแร่ธาตุที่สำคัญ แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีปริมาณขยะน้อย เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว “จะเกิดอะไรขึ้นหากในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้าเรายังไม่ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนี้”นางคลิงเกอร์ถาม “เราจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านรีไซเคิลของเราควบคู่ไปกับโรงงานเหมืองแร่”
การขยายโอกาสในการรีไซเคิลเป็นหนึ่งในโครงการที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางแร่ธาตุได้ตกลงที่จะสนับสนุน นายเฟอร์นันเดซกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และขยะอื่น ๆ อาจกลายเป็นแหล่งของแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น ภายใน พ.ศ. 2583 ร้อยละ 10ของแร่ธาตุสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจมาจากทองแดง ลิเทียม นิกเกิล และโคบอลต์ที่ผ่านการรีไซเคิล เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมีแนวโน้มที่จะกินส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ปริมาณแร่ธาตุส่วนนี้ก็น่าจะมีนัยสำคัญ นายเฟอร์นันเดซกล่าว
ห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยง
จีนควบคุมการผลิตแกรไฟต์และธาตุหายากมากกว่าครึ่งหนึ่ง ตามรายงานของขององค์การพลังงานระหว่างประเทศในปารีส นอกจากนี้จีนยังเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบชั้นนำที่ขุดจากที่อื่นและได้ลงทุนอย่างมากในการทำเหมืองแร่ในต่างประเทศ เช่น โคบอลต์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นิกเกิลจากอินโดนีเซีย และลิเทียมจากอาร์เจนตินาออสเตรเลีย ชิลี และประเทศอื่น ๆ ต่อมา รัฐบาลจีนครอบงำการแปรรูปแร่ธาตุ เช่น นิกเกิล ทองแดง ลิเทียม และโคบอลต์ รวมถึงผลิตหรือประกอบแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 75 ของโลก(ดู “จีนควบคุมตลาดส่วนใหญ่ของการแปรรูปแร่ธาตุที่สำคัญ” หน้า 19)”ความเสี่ยงของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและราคาที่ผันผวนนั้นรุนแรงขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมีกระจุกตัวสูง” องค์การพลังงานระหว่างประเทศระบุในรายงานแนวโน้มพลังงานโลกประจำ พ.ศ. 2565
ประเทศที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังหาทางอุดช่องโหว่โดยการสร้างความมั่นคงให้ห่วงโซ่อุปทาน ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดหาแร่ธาตุที่สำคัญรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ตกลงที่จะขยายการค้าแร่ธาตุกับอินเดียในช่วงต้น พ.ศ. 2566 และได้ลงนามในข้อตกลงแร่ธาตุที่สำคัญกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ตกลงกันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ว่าจะส่งเสริมการค้าแร่ธาตุ แบ่งปันข้อมูล และสนับสนุนแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบ เอ็มพี แมททีเรียลส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตธาตุหายากในสหรัฐฯ ยังให้คำมั่นว่าจะจัดหาสารสำคัญให้แก่ผู้ผลิตแม่เหล็กของญี่ปุ่น ซึ่งสารดังกล่าวจะได้รับการทำบริสุทธิ์ในฟิลิปปินส์และเวียดนาม
วางก้ามด้วยแร่ธาตุ
การลงทุนของจีนในด้านแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธาตุหายากนั้นมีมาตั้งแต่การก่อตั้งใน พ.ศ. 2492 และมีรากฐานจากเป้าหมายที่จะพึ่งพาตนเอง นางคลิงเกอร์กล่าว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ระดับชาติของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับธาตุหายากและแร่ธาตุที่สำคัญอื่น ๆเริ่มมีความมั่นคงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงค่าแรงที่ต่ำความตั้งใจที่จะรักษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเงินอุดหนุนที่มากมายจากรัฐ ใน พ.ศ. 2561 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เขียนว่าจีนได้ “ใช้กลยุทธ์ถล่มตลาดโลกด้วยธาตุหายากในราคาที่ได้รับการอุดหนุน ซึ่งบีบคู่แข่งออกจากตลาดและขัดขวางผู้เล่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด”
รายงานยังชี้ให้เห็นถึงข้อพิพาทใน พ.ศ. 2553 ที่รัฐบาลจีนปิดกั้นการส่งออกธาตุหายากไปยังญี่ปุ่น หลังจากการควบคุมตัวกัปตันเรือลากอวนของจีนที่เรือชนกับกองกำลังรักษาชายฝั่งของญี่ปุ่น ในขณะที่พยายามตกปลาใกล้หมู่เกาะเซ็งกะกุที่ควบคุมโดยญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก “เมื่อจีนจำเป็นต้องแสดงอำนาจอ่อนของตนโดยการห้ามนำเข้าส่งออกธาตุหายาก จีนก็ทำโดยไม่ลังเล” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้ขู่หลายครั้งว่าจะตัดการส่งออกธาตุหายากไปยังสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีนรายงานใน พ.ศ. 2562 ว่าประเทศจีนอาจใช้ “กลยุทธ์ธาตุหายาก” หนึ่งปีต่อมา จีนได้ตอบสนองต่อข้อตกลงกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน พร้อมกับเตือนว่าอาจหยุดการจัดหาธาตุหายากให้แก่ผู้ผลิตด้านกลาโหม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 จีนกล่าวว่าจะจำกัดการส่งออกระหว่างประเทศสำหรับโลหะหายากสองชนิด คือ แกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงชิปคอมพิวเตอร์และแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งสองชนิดถือเป็นแร่ธาตุที่สำคัญ
โอกาสที่จะทำให้ถูกต้อง
ประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่แข็งแกร่งและมีความมุ่งมั่นที่จะสกัดแร่อย่างมีจริยธรรม เช่น ออสเตรเลีย อยู่ในฐานะที่จะกลายเป็นผู้จัดหาอันดับแรก ๆ สำหรับส่วนประกอบที่จะสร้างอนาคตพลังงานสะอาด นายไมเคิล ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมเกี่ยวกับแร่ธาตุสำหรับแบตเตอรี่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย “สหรัฐอเมริกาไม่สามารถพัฒนาจัดหาทรัพยากร และผลิตเทคโนโลยีทั้งหมดเพื่อบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลกได้ แคนาดา ออสเตรเลีย ยุโรป ญี่ปุ่น จีน หรือประเทศอื่น ๆ ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน” นายซัลลิแวนกล่าว ตามรายงานของนิตยสารไมน์นิ่งวีกลี
ออสเตรเลียจัดหาลิเทียมประมาณครึ่งหนึ่งของโลก และเป็นผู้ผลิตโคบอลต์ชั้นนำ ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของธาตุหายาก ทองแดงแกรไฟต์ และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อพลังงานที่สะอาดมากขึ้น นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังได้นำกรอบแนวคิด “มุ่งสู่การทำเหมืองแร่อย่างยั่งยืน” มาใช้เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ปรับปรุงความสัมพันธ์กับชุมชนพื้นเมืองและชุมชนอื่น ๆ รวมถึงจัดการและขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อม
การคุ้มครองสำหรับชุมชนพื้นเมืองบางแห่ง ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดให้มีการยินยอมให้ทำเหมืองแร่ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของออสเตรเลียแนะนำให้มีส่วนร่วมกับชุมชนตลอดช่วงอายุโครงการเหมืองแร่ ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย จะต้องเปิดเผยสัญญาทรัพยากรต่อสาธารณะ และรัฐหลายแห่งกำหนดให้เหมืองปิดต้องได้รับการฟื้นฟูจนกว่าจะ “ปลอดภัย มั่นคง ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และสามารถใช้ที่ดินใหม่ได้อย่างยั่งยืน” มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลดังกล่าวช่วยคุ้มครองการลงทุน เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกต้องการความโปร่งใสและการดูแลสิ่งแวดล้อม นักวิเคราะห์
กล่าว การพัฒนาหลักนิติธรรมให้แข็งแกร่งขึ้น และแนวทางในการทำเหมืองแร่ที่เคารพสิทธิของชนพื้นเมือง พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลที่เป็นธรรมด้านอื่น ๆ สามารถสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทที่มีพยายามในด้านดังกล่าว นางเบิร์ก นักวิจัยจากศูนย์วิลสันกล่าว “เมื่อคุณทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็จะมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ และสหรัฐอเมริการ่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรามีโอกาสที่จะทำให้ถูกต้อง และฉันคิดว่านั่นเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเราในการแข่งขันเชิงกลยุทธ์” นางเบิร์กกล่าวในการออกอากาศผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ในหัวข้อ “รายงานแร่ธาตุที่สำคัญ”
นายเฟอร์นันเดซจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวว่าการสนับสนุนของความร่วมมือด้านความมั่นคงทางแร่ธาตุ ซึ่งอาจรวมถึงการค้ำประกันหรือการจัดหาเงินทุนจากหน่วยงานสินเชื่อเพื่อการส่งออกที่เป็นสมาชิก สถาบันพัฒนา และภาคเอกชน มีเงื่อนไขให้โครงการนั้น ๆ นำหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาใช้ “จากความพยายามของเราเกี่ยวกับการทำเหมืองอย่างมีความรับผิดชอบทำให้หุ้นส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางแร่ธาตุพยายามที่จะเปลี่ยนจุดยืนจากการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนไปสู่กรอบแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส สวัสดิภาพของชุมชน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม” นายเฟอร์นันเดซกล่าวในเคปทาวน์ นายเฟอร์นันเดซกล่าวว่าพันธมิตรในความร่วมมือด้านความมั่นคงทางแร่ธาตุกำลังเดิมพันกับความเชื่อที่ว่าหลักการทางจริยธรรมในอุตสาหกรรมแร่ธาตุที่สำคัญสามารถมอบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแก่ประเทศ ประชากรและโลกได้