เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนคุกคามแม่น้ำโขง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
แม่น้ำโขงทอดยาวเป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตรจากที่ราบสูงทิเบต และคดเคี้ยวลงมาผ่านเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และท้ายที่สุดที่ปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม แม่น้ำสายนี้ทอดยาวที่สุดในช่วงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำพาตะกอนที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้ที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้เพื่อการเกษตรและการประมง
แต่แม่น้ำกำลังแห้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ตามข้อมูลจากการวิเคราะห์ของศูนย์สติมสันเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชียใน พ.ศ. 2565 ในช่วงปลายแม่น้ำโขง บางครั้งระดับน้ำต่ำจนผู้คนสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ ตะกอนที่สำคัญส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อ 15 ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 143 ล้านตันต่อปี ตอนนี้กำลังถูกปิดกั้น สภาวะดังกล่าวส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหารและวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของผู้คนเกือบ 60 ล้านคนที่อยู่ปลายน้ำ ตามรายงานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยวอยซ์ออฟอเมริกา
ในขณะที่ทราบดีถึงผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าตัวการที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังความหายนะของแม่น้ำแห่งนี้ คือ การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าหลานชางจีน
“เขื่อนทำหน้าที่เป็นเหมือนสิ่งกีดขวางที่ปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลา และดักจับตะกอนและสารอาหาร โดยมีผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อ … ระดับน้ำที่ลดลงและการรุกล้ำของน้ำเค็ม” ตามรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
จีนได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างน้อย 95 แห่งบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ตามรายงานของรอยเตอร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จีนยังได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำสายหลัก 11 แห่ง ซึ่งยังมีจำนวนที่วางแผนไว้ว่าจะสร้างอีกมากกว่านี้ และได้ช่วยสร้างเขื่อนสองแห่งในลาว
ไม่ใช่เพียงแค่เขื่อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการจัดการด้วยที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ปลายน้ำ โดยที่นักวิเคราะห์ต่างทักท้วงว่ารัฐบาลจีนดำเนินการโดยแทบไม่ใส่ใจต่อประเทศติดแม่น้ำโขงอื่น ๆ
จีน “นำน้ำออกจากแม่น้ำในช่วงฤดูฝน และนำกลับมาในช่วงฤดูแล้งเพื่อทำการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ” นายไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน กล่าวกับวอยซ์ออฟอเมริกา “นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้สภาพภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เลวร้ายลง”
จีน “จำเป็นต้องตระหนักว่ากระแสน้ำในฤดูฝนจำเป็นต้องไหลเชี่ยว และจนถึงตอนนี้ จีนก็ปฏิเสธเรื่องนี้” นายไอเลอร์กล่าว
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประมาณไว้ว่า ภายใน พ.ศ. 2583 จะมีดินที่พัดมาจากแม่น้ำมาถึงปากแม่น้ำเหลือไม่ถึง 5 ล้านตัน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2538 โดยกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่ติดกับลุ่มแม่น้ำโขง และได้ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อบริหารทรัพยากรน้ำ อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้ลงนามในข้อตกลงการแบ่งปันน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน
“แม่น้ำไม่ได้พัดพาตะกอนมา และดินก็มีความเค็ม” นายเจิ่น วัน กุง ซึ่งปลูกข้าวในที่นาของครอบครัวในเวียดนามมานานกว่า 40 ปี กล่าวกับรอยเตอร์
นายกุงซึ่งมีอายุ 60 ปีกล่าวว่า การเก็บเกี่ยวของตนได้ผลผลิตเพียงแค่เกือบครึ่งเดียวของผลผลิตที่เคยได้เมื่อไม่กี่ปีก่อน และลูกของตนเองทั้งสองคนและลูกของเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ก็ออกจากภูมิภาคไปเพื่อไปหางานทำที่อื่น
“หากไม่มีตะกอน เราก็ไม่เหลืออะไร” นายกุงกล่าว
นายทิน ยูซอส ชาวประมงกัมพูชา และภรรยาและหลานสาวของเขา กำลังนั่งอยู่บนเรือที่ใช้เป็นทั้งบ้านและเรือทำมาหากิน กำลังจับปลาอยู่ในโตนเลสาบและแม่น้ำโขงในบริเวณใกล้กับกรุงพนมเปญใน พ.ศ. 2564 “เมื่อตอนที่เรายังคงจับปลาจำนวนมากได้ ในวันที่เรามาจับปลาเช่นนี้เราก็จะจับปลาได้ประมาณ 30 กิโลกรัม แต่ตอนนี้เราจับปลาได้เพียงแค่หนึ่งกิโลกรัมกว่า ๆ เท่านั้น” นายยูซอสกล่าว “ตอนนี้ไม่มีปลาเหลือแล้ว” วิดีโอจาก: รอยเตอร์