อินเดียเตรียมฐานทัพทหารบนเกาะของมอริเชียสเพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีน

มันดีป ซิงห์
อินเดียเตรียมพร้อมที่จะจัดตั้งกองบัญชาการทางทหารบนเกาะนอร์ทอกาเลก้าที่เป็นส่วนหนึ่งของเกาะมอริเชียส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเลในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย การเตรียมการขั้นสุดท้ายเกิดขึ้นหลังจากการประชุมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ระหว่างผู้นำของอินเดียและมอริเชียส และทั้งสองประเทศก็ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งดาวเทียมสังเกตการณ์โลกสำหรับมอริเชียสในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
นักวิเคราะห์ยืนกรานว่า การดำเนินการนี้แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอินเดียในการตอบโต้ความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการแสดงอำนาจในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย
“การพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ และศูนย์กลางการสื่อสารที่เกาะนอร์ทอกาเลก้าของมอริเชียส และในส่วนตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดียนี้จะช่วยยกระดับการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเลของอินเดีย” พ.อ. อนิล บาท ผู้เกษียนอายุราชการ กล่าวกับ ฟอรัม
พ.อ. บาทกล่าวว่าเกาะอกาเลก้านี้เหมาะสำหรับสร้างเป็นทางวิ่งเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าได้มีการสร้างท่าเทียบเรือขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับปฏิบัติการของฝูงบินเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล โบอิ้ง พี-8ไอ ของอินเดีย ซึ่งสามารถทำการรบเพื่อต่อต้านเรือดำน้ำและเรือบนผิวน้ำได้ ตลอดจนภารกิจด้านข่าวกรอง การตรวจการณ์ และการลาดตระเวน
“เมื่อพิจารณาถึงความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรอินเดียแล้ว เกาะนอร์ทอกาเลก้าจะเป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับการเติมเชื้อเพลิง” พ.อ. บาทกล่าว
พ.อ. บาทกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันอันยาวนานของทั้งสองประเทศ โดยเสริมว่ากระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้ระบุว่าข้อตกลงในเดือนพฤศจิกายนจะทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสามารถยกระดับการเชื่อมต่อทางอากาศและทางทะเล ซึ่งจะ “เป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้าในด้านการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยในเกาะที่ห่างไกลนี้”
นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายปราวินด์ คูมาร์ จุกเนาธ์ นายกรัฐมนตรีมอริเชียส ได้ประชุมกันนอกรอบการประชุมสุดยอด จี20 ในกรุงนิวเดลีเมื่อเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ทั้งสองได้หารือกันถึงความร่วมมือแบบทวิภาคีในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีทางการเงิน และวัฒนธรรม และรำลึกถึงความสัมพันธ์ทางการทูต 75 ปี
ฐานทัพแห่งใหม่จะช่วยเสริมสร้างการตอบโต้เชิงยุทธศาสตร์ของอินเดียต่อความพยายามของรัฐบาลจีนในการสร้าง “เครือข่ายฐานทัพและท่าเรือทางการพาณิชย์และการทหาร” ที่ขยายออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังจะงอยแอฟริกา ตามรายงานของเดอะไทมส์ออฟอินเดีย โครงการเหล่านี้รวมไปถึงฐานทัพเรือบนเกาะมณฑลไหหลำของจีน ศูนย์กลางการขนส่งเชิงพาณิชย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนในศรีลังกา ท่าเรือน้ำลึกที่มีการควบคุมโดยจีนในเมืองกวาดาร์ของประเทศปากีสถาน ฐานทัพเรือในประเทศจิบูตีในแอฟริกาตะวันออก และเกาะเทียมในทะเลที่มีป้อมปราการเจ็ดแห่งในทะเลจีนใต้ เมื่อประกอบกับการเสริมกำลังทางทหารของจีน รวมถึงเรือดำน้ำ เรือพิฆาต และเรือบรรทุกเครื่องบิน สิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ “สร้อยไข่มุก” นี้ก็เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ตามรายงานของเดอะไทมส์ออฟอินเดีย
การตอบสนองของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “สร้อยเพชร” ประกอบไปด้วยการสร้างท่าเรือและติดตั้งระบบสังเกตการณ์ภายในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และเสริมความเข้มแข็งให้กับหุ้นส่วนด้านกลาโหม ซึ่งประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย โอมาน ฟิลิปปินส์ เซเชลส์ และสหรัฐอเมริกา
พ.อ. บาทกล่าวว่าฐานทัพในอกาเลก้า ตลอดจนศูนย์บัญชาการการบินทหารเรือในโคฮัสซาและอุทโครชในหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดียในตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย “เป็นข้อกำหนดที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการตอบโต้การสอดแนมใต้น้ำอย่างกว้างขวางของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน”
มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย