ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

สหรัฐฯ และจีนนำบทเรียนจากสงครามเย็นมาใช้ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากสงครามเย็นมีวี่แววที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้นำของสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตกลงที่จะรื้อฟื้นการสื่อสารทางทหารระหว่างกัน

มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนี้เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2506 โดยมีบันทึกความเข้าใจระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้จัดตั้งสายด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าผู้นำของทั้งสองประเทศสามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา มาตรการนี้เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตขีปนาวุธคิวบาเนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าใกล้ความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ การเชื่อมโยงทางการสื่อสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ความวุ่นวายเช่นนั้นเกิดขึ้น

สหรัฐฯ ใช้สายด่วนนี้ใน พ.ศ. 2510 เพื่อสื่อสารถึงเจตนาที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกองเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่รัฐบาลสหภาพโซเวียตอาจเข้าใจผิดว่าเป็นศัตรู ตามรายงานของสมาคมควบคุมอาวุธแห่งสหรัฐฯ ทั้งสองประเทศใช้กลไกนี้ตลอดทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) และกลไกอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมายังคงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลสหภาพโซเวียตกับรัฐบาลสหรัฐฯ

หนึ่งวันหลังจากที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ตกลงที่จะทำการสื่อสารทางทหารอีกครั้ง นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่าเขายังสามารถสื่อสารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะประณามการรุกรานยูเครนของรัฐบาลรัสเซียต่อสาธารณะก็ตาม

“ผมคิดว่าเราต้องมีความสามารถในการเจรจากับมิตร และเราต้องมีความสามารถในการพูดคุยกับศัตรูด้วย การเปิดช่องทางเหล่านั้นเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ” นายออสตินกล่าวในการแถลงข่าว “แม้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับรัสเซียและยูเครนจะร้ายแรงมากเพียงใด ผมก็สามารถรับโทรศัพท์และพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้ และผมคิดว่านั่นเป็นความสามารถสำคัญที่เราต้องรักษาไว้เพื่อรับมือกับวิกฤตต่อไปในอนาคต … ผมคิดว่าการที่ผู้นำทั้งสองได้ตกลงที่จะทำให้แน่ใจว่าเปิดช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นไว้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

เมื่อการสื่อสารระหว่างผู้นำกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพปลดปล่อยประชาชนขาดหายไป เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กังวลว่าอุบัติเหตุหรือความเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังของแต่ละประเทศอาจเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้บันทึกพฤติกรรมการปฏิบัติการเชิงบีบบังคับและสุ่มเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในน่านฟ้าเหนือน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท ในขณะเดียวกัน กองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังติดอาวุธทางทะเลของจีนก็ปิดกั้น คุกคาม และแทรกแซงการประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภารกิจการวิจัย และปฏิบัติการทางทหารของประเทศอื่น ๆ เป็นประจำ โดยเห็นได้ชัดที่สุดคือฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจผ่านเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัยและมั่นคง

จีนปฏิเสธที่จะจัดตั้งสายด่วนการสื่อสารขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2565 หลังจากที่คณะผู้แทนสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะปกครองตนเองที่รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์และขู่ว่าจะใช้กำลังเข้ายึดครอง ในช่วงต้น พ.ศ. 2566 จีนยังปฏิเสธคำขอของสหรัฐฯ ที่จะให้นายออสตินพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนในขณะนั้น

ข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีไบเดนและนายสีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เปิดโอกาสให้นายออสตินได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนทันทีที่มีการแต่งตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนับตั้งแต่ปลดอดีต พล.อ. หลี่ ซ่างฝู จากตำแหน่งในเดือนตุลาคม

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวต้อนรับนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ก่อนที่จะประชุมกันนอกรอบการประชุมสุดยอดด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก วิดีโอจาก: รอยเตอร์

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button