สหรัฐฯ มอบเงิน 1.87 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับการขยายท่าเรือของศรีลังกา
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้มอบเงินมากกว่า 1.75 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับการพัฒนาท่าขนถ่ายตู้สินค้าน้ำลึกในท่าเรือโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา ตามที่สถาบันได้ประกาศในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
เงินช่วยเหลือ 1.87 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นี้มอบเงินทุนให้แค่บริษัทโคลอมโบเวสต์อินเทอร์เนชันแนลเทอร์มินัลจำกัด เพื่อการก่อสร้างท่าขนถ่ายตู้สินค้าตะวันตก หุ้นส่วนของโครงการนี้ยังประกอบไปด้วย จอห์น คีลส์ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในศรีลังกา อดานีพอร์ท แอนด์ สเปเชียลอีโคโนมิกโซน จำกัด ในอินเดีย และการท่าเรือศรีลังกา ท่าเรือโคลอมโบที่อยู่ในชายฝั่งตะวันตกของศรีลังกาเป็นท่าเรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดและคับคั่งที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย ท่าเรือแห่งนี้ดำเนินการขนส่งมากกว่าร้อยละ 90 ของขีดจำกัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2564 โดยมีปริมาณสินค้าประมาณ 27 ล้านตันต่อปี
“สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศดำเนินการผลักดันการลงทุนในภาคเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเสริมความเข้มแข็งให้กับจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ของหุ้นส่วนของเรา นั่นคือสิ่งที่เรากำลังดำเนินการกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท่าเรือโคลอมโบ” นายสก็อตต์ นาธาน ประธานกรรมการบริหารของสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าว “ศรีลังกาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของโลก ที่ซึ่งเรือขนส่งตู้สินค้ากว่าครึ่งหนึ่งเดินทางผ่านน่านน้ำของศรีลังกา การที่สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศมอบเงิน 1.87 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นเงินกู้ให้กับภาคเอกชนสำหรับท่าขนถ่ายตู้สินค้าตะวันตกจะเป็นการขยายความจุในการขนส่งและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับศรีลังกา พร้อมกันนั้นก็เป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับจุดยืนของพันธมิตรของเราทั่วทั้งภูมิภาคด้วย”
นางจูลี่ ชุง เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำศรีลังกา กล่าวว่าโครงการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการเติบโตที่นำโดยภาคเอกชนในศรีลังกา และดึงดูดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สำคัญในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของศรีลังกา
“การจัดหาเงินทุนนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นอันยาวนานของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในศรีลังกา การที่ศรีลังกาฟื้นฟูฐานรากทางเศรษฐกิจของตนกลับคืนมาจะเป็นการขยายวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของเราในอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเจริญรุ่งเรืองด้วย” นางชุงกล่าวในแถลงการณ์
การขุดลอกท่าขนถ่ายตู้สินค้าเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยขั้นตอนแรกจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสที่สามของ พ.ศ. 2567 ตามรายงานของรอยเตอร์ คาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลาย พ.ศ. 2568
บริษัทไชน่าเมอร์ชานท์พอร์ตโฮลดิ้งส์จำกัดของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ดำเนินกิจการที่ท่าขนถ่ายตู้สินค้าในท่าเรือโคลอมโบด้วย โครงการดังกล่าวและโครงการอื่น ๆ ได้รับการจัดหาเงินทุนภายใต้แผนโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรวมถึงเงินกู้จำนวนมากที่ศรีลังกาและประเทศอื่น ๆ ประสบปัญหาในการใช้หนี้ ใน พ.ศ. 2560 ศรีลังกาได้มอบท่าเรือแฮมบันโตตาที่อยู่ที่ชายฝั่งทางใต้สุดของประเทศให้กับจีน ภายใต้สัญญาเช่า 99 ปี ข้อตกลงดังกล่าวได้ล้างหนี้จำนวน 3.51 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่กลับทำให้เกิดข้อกังวลระดับภูมิภาคที่ว่าการทำเช่นนี้อาจนำไปสู่การมีฐานทัพทหารจีนในท่าเรือได้
หนี้ที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ติดค้างรัฐบาลจีนนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีจำนวนรวมกันเกินกว่า 45.69 ล้านล้านบาท (ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จากเอดดาต้า ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่วิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรีในสหรัฐฯ สัดส่วนของเงินกู้ของรัฐบาลจีนที่มีให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 75 ใน พ.ศ. 2564 หนี้เหล่านั้นเป็นของประเทศอย่างน้อย 57 ประเทศ ตามรายงานของเอดดาต้า