สหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนช่วยกันรับรองเส้นทางการพาณิชย์ระดับโลกที่ปลอดภัยและมั่นคง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจมยูเอสเอส ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์จากกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เคลื่อนที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุซเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า การเดินทางผ่านตามกำหนดการเป็นประจำทำให้สหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนสามารถรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองได้ผ่านทางเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัยและมั่นคง
“การที่เราเดินทางผ่านช่องแคบที่สำคัญนี้และการมีบทบาทอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค” พล.ร.ต. มาร์ก มิกูเอซ จากกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจมสหรัฐฯ กล่าวถึงปฏิบัติการทางทะเลของกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ประมาณหนึ่งในห้าของแหล่งพลังงานของโลกขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซเป็นประจำทุกปี
การรับรองความมั่นคงของช่องแคบทางยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญทั่วโลกเป็นส่วนสำคัญของความพยายามของสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนในการปกป้องการค้าโลก การดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือเป็นประจำและตามกิจวัตรเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนผลประโยชน์ระดับชาติของสหรัฐฯ อันยาวนานในด้านเสรีภาพในทะเล กิจกรรมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ภายใต้โครงการเสรีภาพในการเดินเรือได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ ตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการอย่างมืออาชีพ
เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์แล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซพร้อมกับเรือลาดตระเวนติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส ฟิลิปปินส์ ซี เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส เกรฟลีและยูเอสเอส สเตเทม และสุดท้ายคือเรือพิฆาตของกองทัพเรือฝรั่งเศส เอฟเอส ลองเกอด็อก โดยมีอี-2ซี ฮอว์กอาย ของกองทัพเรือฝรั่งเศส และเครื่องบินขับไล่ ราฟาล ของกองทัพอากาศฝรั่งเศสคอยให้การสนับสนุนทางอากาศ
พล.ร.ต. มิกูเอซชื่นชมในความเป็นมืออาชีพของลูกเรือ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเคลื่อนที่ เช่น การเคลื่อนที่ผ่านช่องแคบ ซึ่งเป็นจุดที่การวางแผนอย่างรอบคอบ ความแม่นยำในการเดินเรือ และความชำนาญของทีมต่อสู้ในสงครามของเราแสดงออกมาให้เห็นอย่างเต็มที่”
ตะวันออกกลางประกอบไปด้วย อ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง อ่าวโอมาน อ่าวเอเดน และบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย ภูมิภาคนี้ประกอบไปด้วย 21 ประเทศและช่องแคบทางยุทธศาสตร์หลัก 3 จุด
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนได้ดำเนินปฏิบัติการตามกิจวัตรเพื่อรักษาวามมั่นคงให้กับช่องแคบทางยุทธศาสตร์และเส้นทางทางทะเล และเพื่อท้าทายการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินเลยทั่วโลก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือ กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้รับรองเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำที่กินพื้นที่ตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียไปจนถึงช่องแคบมะละกาและช่องแคบสิงคโปร์ และไปจนถึงตอนเหนือของฟิลิปปินส์และทะเลญี่ปุ่น
นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถียูเอสเอส ฮ็อปเปอร์ ยังได้ยืนยันสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ใกล้กับหมู่เกาะพาราเซลอันเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยูเอสเอส ฮ็อปเปอร์ได้ท้าทายความพยายามในการจำกัดการเดินทางผ่านโดยบริสุทธิ์ของประเทศต่าง ๆ อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน
“การอ้างสิทธิ์ในทะเลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างกว้างขวางในทะเลจีนใต้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพในทะเล รวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านน่านฟ้า การค้าเสรี และโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่มีชายฝั่งติดกับทะเลจีนใต้” กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ “สหรัฐอเมริกาท้าทายการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินเลยทั่วโลก โดยไม่สนว่าผู้อ้างสิทธิ์ดังกล่าวจะเป็นใคร”
กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ทุกวัน เหมือนดังเช่นที่เคยทำมานานกว่าศตวรรษ โดยปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มุ่งมั่นทำเพื่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างซึ่งสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการท้าทายการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินเลยไป 22 ครั้งจากผู้อ้างสิทธิ์ 15 รายทั่วโลก ตามรายงานเสรีภาพในการเดินเรือประจำปีของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันหลายประเทศก็ดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือเช่นเดียวกัน และยังคงยืนยันการสนับสนุนต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล พ.ศ. 2525 ในฐานะกรอบการทำงานทางกฎหมายสำหรับการดำเนินกิจกรรมในมหาสมุทรและทะเล