รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอาเซียนสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
กัสดี ดา คอสตา
การสนับสนุนเสถียรภาพผ่านการทูตด้านกลาโหมแบบพหุภาคีในช่วงที่ความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประเด็นสำคัญของผู้นำด้านกลาโหมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้นำด้านกลาโหมในที่อื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิก ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาครั้งที่ 10 ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมการประชุมนี้พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากประเทศคู่เจรจาอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
เมียนมา ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่พัวพันอยู่กับการทำสงครามการเมืองมานับตั้งแต่การทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
มีเอกสาร 10 ฉบับที่ได้นำมาใช้ในที่ประชุม ซึ่งรวมถึง เอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิกจากมุมมองด้านกลาโหม ร่างการแก้ไขขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐานสำหรับแพลตฟอร์มข่าวกรองอาวร์อายส์ของอาเซียน และเอกสารฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการใช้สินทรัพย์ทางทหารเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค
ดร. หวง หย่งหง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ และนายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เน้นย้ำถึงคุณค่าของเวทีประชุมในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียด
ผู้เข้าร่วม “ไม่ได้พยายามจะปกปิดพื้นที่ที่มีปัญหา แล้วทำเหมือนกับว่าไม่มีปัญหาอยู่” ดร. หวงกล่าว แต่พวกเขามาเพื่อหารือกันถึงความท้าทายที่สำคัญด้านความมั่นคงในภูมิภาคและ “ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ยากลำบากเหล่านี้”
นายปราโบโวกล่าวว่ากำลังมีการพยายามจัดทำหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้เพื่อหลีกเลี่ยง “ความเข้าใจผิด” ในน่านน้ำที่สำคัญ “อาจมีเหตุการณ์ที่ขัดกับเจตจำนงของเราเกิดขึ้น เราจึงไม่ต้องการให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น” นายปราโบโวกล่าว
นายปราโบโวยังได้กล่าวถึงความขัดแย้งในเมียนมาด้วย “อาเซียนยึดถือหลักการในการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น” นายปราโบโวกล่าว “แต่เราจะใช้อิทธิพลของเรา … เพื่อผลักดันให้เกิดการยุติปัญหาอย่างสันติ”
นายปราโบโวได้ประชุมกับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นอกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา เพื่อลงนามในข้อตกลงด้านความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและสหรัฐฯ นายปราโบโวกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันล้ำค่าในการเพิ่มความร่วมมือและการตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังกล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านที่สำคัญเป็นไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาเซียนในการเผชิญกับความท้าทายที่พัฒนาขึ้น
“เรามาใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่แห่งสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคง” นายปราโบโวกล่าว
ด้วยการสนับสนุนให้ดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิกจากมุมมองด้านกลาโหม ตำแหน่งรัฐมนตรีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคง อิสระภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียน นายนิโคลอส ลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยยูพีเอ็น “เวเทอแรน” ในยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม
“ตำแหน่งที่เป็นอิสระนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งได้มาด้วยความร่วมมือกันอย่างเปิดเผยและครอบคลุมในด้านทะเล เศรษฐกิจ และการพัฒนา” นายลอยกล่าว
เมื่อคำนึงถึงการเสริมกำลังทางทหารของจีนและ “ความพยายามในการเป็นมหาอำนาจระดับโลก” ตลอดจนภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างยาเสพติดและการค้ามนุษย์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด ความร่วมมือด้านกลาโหมจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น นายลอยกล่าว “ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศใดก็ตามไม่อาจรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคไว้ได้เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจำนวนมหาศาลที่ต้องแบกรับ”
นายปราโบโวกล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาอาจขยายวงกว้างไปอีกในไม่ช้า โดยใช้แนวทางที่นำมาใช้ในเดือนพฤศจิกายนเพื่อมอบสถานะผู้สังเกตการณ์ให้กับติมอร์-เลสเต ประเทศที่ได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2545 ที่กำลังจะกลายเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศที่ 11 นายปราโบโวกล่าวว่า สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรก็แสดงความสนใจที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาด้วย
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย