เรื่องเด่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รวมความพยายามเป็นหนึ่ง เพื่อต่อต้าน รัฐบาลทหาร

กองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตยของเมียนมา แสวงหาจุดพลิกผันเพื่อล้มการปกครองของรัฐบาลทหาร

พ.ท. เกษียนอายุราชการ ดร. มีมี วินน์ เบิร์ด/ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง

สองปีหลังจากการยึดครองอำนาจในการรัฐประหาร กองทัพเมียนมาก็อยู่ในจุดที่หมิ่นเหม่ต่อการล่มสลาย ผู้วางแผนทำรัฐประหารประสบความล้มเหลวในการควบคุมประเทศนับตั้งแต่ที่พวกเขาล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งได้กักขังนางอองซาน ซูจี ผู้นำของรัฐบาลในตอนนั้น
และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่น ๆ ไว้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ในช่วงแรก การรัฐประหารได้รับการตอบสนองด้วยการประท้วงอย่างสันติเป็นวงกว้างและอารยะขัดขืน อย่างไรก็ตาม การปราบปรามอย่างไม่ลดละและโหดร้ายของรัฐบาลทหารของเมียนมาได้แปรเปลี่ยนการประท้วงที่ปราศจากความรุนแรงไปเป็นการต่อต้านด้วยอาวุธ การกดขี่ข่มเหงของกองทัพทั่วทั้งประเทศก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม การขาดเสถียรภาพ และความท้าทายด้านความมั่นคงที่แผ่ขยายออกไปนอกพรมแดนของเมียนมา

แนวร่วมการต่อต้าน ซึ่งนำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ได้ระดมประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 รวมไปถึงผู้หญิงจำนวนมากเพื่อจัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน และได้ร่วมมือเชิงยุทธวิธีกับองค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้มีประสบการณ์ในการต่อสู้มาอย่างโชกโชนความพยายามเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความเข้มแข็งของประชาชนได้เสริมพลังให้กับการเคลื่อนไหว ในการสร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับรัฐบาลทหารของเมียนมา กองทัพได้สูญเสียประสิทธิภาพในการต่อสู้และความเป็นมืออาชีพของตนไปเพราะต้องเผชิญกับการทุจริตการวิพากษ์วิจารณ์ และความทะนงตัวของตนเอง กองทัพถดถอยลงกลายเป็นกลุ่อาชญากรรมติดอาวุธ ด้วยเหตุนี้ กองทัพจึงไม่สามารถจะต่อสู้ได้แม้กระทั่งกับแนวร่วมของกองกำลังแบบผสมผสานที่รวมตัวกันโดยไม่เคร่งครัดมากนัก อย่างพลเรือนที่ได้รับการฝึกมาเพียงผิวเผิน เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันประชาชนที่มีการจัดกลุ่มและมีทรัพยากร และองค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้มากประสบการณ์ รัฐบาลทหารของเมียนมาอาศัยการโจมตีทางอากาศต่อเมืองและหมู่บ้านเพื่อตัดการสนับสนุนต่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กองกำลังป้องกันประชาชนและองค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์

ในขณะที่รัฐบาลทหารของเมียนมากำลังแตกสลายภายใต้การด้อยความสามารถของตนเอง แนวร่วมการต่อต้านก็มีระบบการบังคับบัญชาที่เป็นเอกภาพและการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากประชาคมนานาชาติ เพื่อรวบรวมความสำเร็จให้เป็นหนึ่งและนำไปสู่จุดพลิกผันต่อกองทัพ

ผู้ประท้วงถือภาพของนาง
อองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา
ที่ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง ในระหว่างการประท้วงต่อรัฐบาลทหารในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ประวัติศาสตร์ของความไม่มีเสถียรภาพ

เมียนมา หรือที่รู้จักกันในชื่อพม่า มีประวัติศาสตร์ด้านความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารผู้โหดร้ายตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2554 กองทัพซึ่งอ้างตนว่าเป็นผู้ปกป้องเสถียรภาพของประเทศนี้ได้กดขี่ขมเหงชนกลุ่มน้อยของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่ความไม่สงบทางชาติพันธุ์ที่ยาวนานที่สุดในโลก ใน พ.ศ. 2554 รัฐบาลทหารของเมียนมาได้พยายามที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนเพื่อหันทิศทางออกให้พ้นจากการเข้าถึงของสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลับมาติดต่อกับประเทศฝั่งตะวันตกอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการรักษาอำนาจของกองทัพด้วยการสงวนที่นั่งในรัฐสภาร้อยละ 25 ให้กับเจ้าหน้าที่ทหารกองประจำการและจำเป็นต้องมีความเห็นชอบในรัฐสภาถึงร้อยละ 75 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่เป็นผลสำเร็จในการยับยั้งเจตจำนงของประชาชน

ใน พ.ศ. 2558 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นพรรคการเมืองจากพลเรือนของเมียนมา ซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี ได้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปและเข้าปฏิบัติหน้าที่ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้รับชัยในชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพซึ่งนำโดย พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวหาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยทำการฉ้อโกงและเข้ายึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร รัฐประหารดังกล่าวถูกมองในวงกว้างว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งจากนานาชาติและในประเทศ รวมทั้งจุดประกายให้เกิดการประท้วงและอารยขัดขืนจากประชาชนที่เรียกร้องให้นำประชาธิปไตยกลับคืนมา รัฐบาลทหารของเมียนมาตอบโต้ด้วยกำลัง โดยใช้กระสุนจริงแก๊สน้ำตา และปืนใหญ่น้ำเพื่อสลายฝูงชน จากนั้น รัฐบาลทหารของเมียนมาจึงประกาศตนเองเป็นสภาบริหารแห่งรัฐ และกองกำลังความมั่นคงก็ได้เริ่มการจับกุม ทรมาน และสังหารผู้ประท้วงและครอบครัวผู้ประท้วงอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ ทำให้การเคลื่อนไหวอย่างสันติของประชาชนกลายเป็นการต่อต้านด้วยอาวุธ

วิกฤตการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อการโจมตีพลเรือนได้บีบบังคับให้หลายคนต้องหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการโจมตีทางอากาศและการเผาหมู่บ้านเพิ่มอัตราผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยภายในประเทศให้สูงยิ่งขึ้นณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 มีประชาชนกว่า 1.6 ล้านคนที่ผลัดถิ่นนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร และประชาชนเกือบ 18 ล้านขอความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำ และการดูแลทางการแพทย์ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น รัฐบาลทหารของเมียนมาได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้องค์กรบรรเทาทุกข์เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้ยาก วิกฤตด้านมนุษยธรรมใน
เมียนมายังคงเลวร้ายลง และประชาคมนานาชาติได้ประณามการกระทำของรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตย

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมที่นิวยอร์กในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนที่จะอนุมัติมติการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันทีและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

รัฐบาลทหารของเมียนมาสั่นคลอนในบั้นปลาย

แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย กองทัพของรัฐบาลทหารของเมียนมายังคงพ่ายแพ้ให้กับกองกำลังแนวร่วมการต่อต้าน การควบคุมของกองทัพถูกบั่นทอนลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคซะไกง์และมะกเวซึ่งเป็นจุดที่กองกำลังป้องกันประชาชนได้ผลักดันให้ผู้บริหารของรัฐบาลทหารของเมียนมาล่าถอยออกจากตำแหน่งของตนไปมากที่สุด รัฐบาลทหารของเมียนมายังสูญเสียพื้นที่ชายแดนให้กับองค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ด้วย ในช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 รัฐบาลทหารของเมียนมาได้ควบคุมพื้นที่น้อยกว่าครึ่งของประเทศ หรือประมาณเขตชุมชน 72 แห่งจากทั้งหมด 330 แห่ง ตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญอิสระ

กองกำลังของรัฐบาลทหารของเมียนมาเผชิญกับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นอย่างมากขณะต่อสู้ไปในหลาย ๆ แนวรบ พร้อมกันนั้นขีดความสามารถของกองทัพในการสรรหาและฝึกอบรมกองกำลังก็ได้สูญสิ้นไป “จึงทำให้เกิดการดำเนินการอย่างสิ้นหวังด้วยการยุบหน่วยงานตำรวจที่สำคัญ ๆ ทั่วประเทศ และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังแนวหน้า” ตามรายงานของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 หลังจากการรัฐประหาร สถาบันเจ้าหน้าที่กลาโหมเมียนมาไม่มีนักศึกษามากพอที่จะเปิดชั้นเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์67 ปีของสถาบัน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564

บุคลากรส่วนส่วนใหญ่หวาดกลัวและอับอายที่จะยอมรับต่อสาธารณะว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพ ตามข้อมูลจากอดีตทหารผู้แปรพักตร์ ร้อยละ 70 ของทหารไม่มีเจตจำนงที่จะต่อสู้อีกต่อไปแล้ว ทหารผู้แปรพักตร์กล่าวว่าพวกเขารู้สึกว่าตนเองถูกบังคับให้ต้องออกจากกองทัพหลังจากที่ได้รับคำสั่งให้ยิงพลเรือน อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่สามารถออกจากกองทัพได้เพราะรัฐบาลทหารของเมียนมาได้เคลื่อนย้ายครอบครัวของทหารในกองทัพไปไว้ในสถานที่ปิดล้อมและจำกัดการเดินทางเข้าออกไว้ ซึ่งเป็นเสมือนการจับไว้เป็นตัวประกัน ทหารผู้แปรพักตร์คนหนึ่งที่เป็นนักบินกองทัพอากาศกล่าวว่าทหารติดอาวุธได้ยืนล้อมรอบบ้านของตนไว้ตอนที่เขาประจำการในห้องนักบิน และทหารติดอาวุธเหล่านั้นจะไปก็ต่อเมื่อเข้าทำการบินทิ้งระเบิดเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น สมาชิกในครอบครัวทหารหลายคนถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งและทำการรักษาความปลอดภัยให้ฐานทัพโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

การแปรพักตร์และทหารหนีทัพทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านกำลังใจขึ้นในกองทหาร ผู้บัญชาการกองพันที่แปรพักตร์ในช่วงกลาง พ.ศ. 2565 กล่าวว่าหน่วยของตนมีกำลังพลลดลงเหลือเพียง 150 คนจากที่ทั้งหน่วยเคยมีประมาณ 800 คน ผู้บัญชาการหลายคนเก็บเงินเดือนของทหารที่แปรพักตร์หรือเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ไว้กับตนเอง ทำให้ผู้นำของรัฐบาลทหารของเมียนมาไม่ทราบถึงพละกำลังที่แท้จริงของบุคลากรของตนเอง เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกว่า 10,000 คน ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 3,000 คนและตำรวจ 7,000 คน ได้แปรพักตร์ ตามรายงานของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

การสูญเสียพื้นที่ไปส่งผลให้กำลังพลมีกำลังใจลดน้อยลง และการส่งกำลังบำรุงที่ล้มเหลวก็เกิดบ่อยขึ้นรัฐบาลทหารของเมียนมาอาศัยอำนาจทางอากาศเป็นหลักเพื่อกดขี่ประชาชน และผู้วางแผนการรัฐประหารยังคงประเมินความแน่วแน่ของประชาชนในการต่อต้านการปกครองของกองทัพผิดไป การไม่คำนึงถึงสวัสดิการสาธารณะของรัฐบาลทหารของเมียนมายังรวมถึงการปฏิบัติต่อกองกำลังของตนเองด้วย เหล่าผู้นำทหารมีความโดดเดี่ยวมากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่การปกป้องตนเองและผลประโยชน์ของตนเองเพียงอย่างเดียวพวกเขาเชื่อว่าสามารถควบคุมประเทศได้จากความทุกข์ทรมานของคนจำนวนมากเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงชุดความคิดดังกล่าว และละเว้นความเป็นไปได้ที่กองกำลังต่อต้านจะใช้กำลังขั้นรุนแรง การใช้ยุทธวิธีเชิงยุทธศาสตร์ที่ไม่ร้ายแรงอาจเป็นหนทางเดียวที่จะบังคับให้รัฐบาลทหารของเมียนมายอมเจรจาด้วย

ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันในมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การเดินหน้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ในขณะที่กองทัพกำลังล่มสลายเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาดและการทุจริตของตนเอง แนวร่วมการต่อต้านต้องร่วมมือกันเพื่อรวบรวมและรักษาผลประโยชน์ของตนไว้แม้ว่าองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยติดอาวุธขององค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในการฝึกอบรม สนับสนุน และเตรียมอุปกรณ์ให้กองกำลังป้องกันประชาชนมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แต่ก็จำเป็นต้องมีเอกภาพในการบังคับบัญชาที่สอดคล้องกันมากขึ้นเพื่อรวบรวมความพยายามของทุกกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

องค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของเมียนมามานานหลายทศวรรษแล้ว พวกเขาต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระและการปกครองอาณาเขตของตนที่มากขึ้นเพื่อตอบโต้การกดขี่ของรัฐบาลและการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีจำนวนคิดเป็นประมาณร้อยละ 30ของประชากรเมียนมา องค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 20 องค์กรเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่กลุ่มล้วนมีอาณาเขต ประวัติศาสตร์ และความคับข้องใจที่ไม่เหมือนกัน

ในการจะให้ได้มาซึ่งเอกภาพในการบังคับบัญชา องค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์จำเป็นต้องได้รับการรับรองว่าจะมีระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์ที่พวกเขาจะได้รับความเป็นอิสระและความเท่าเทียมภายในระบบการเมืองความไว้วางใจที่ทำให้สามารถเกิดความเป็นเอกภาพดังกล่าวขึ้นมาได้นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะความเข้าใจผิดในอดีตและการผิดสัญญาโดยชาวพม่ากลุ่มใหญ่ ซึ่งตอนนี้มีพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวแทน แม้ว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้ให้คำรับรองทางวาจาไว้ แต่องค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังคงเป็นกังวลว่าจะบังคับใช้คำรับรองดังกล่าวให้เป็นจริงได้อย่างไรหลังจากที่ได้รับประชาธิปไตยกลับคืนมาแล้ว ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2566 คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ เป็นกลุ่มองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทรงพลัง 7 องค์กร ได้ระบุว่า แม้ว่าตนจะตกลงร่วมมือกับชาวพม่ากลุ่มใหญ่ แต่ว่าก็ยังต้องพึ่งพาตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนและจัดตั้งระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจำเป็นต้องให้การรับรองที่มากขึ้นกว่านี้กับองค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับแนวร่วมการต่อต้าน

การตอบสนองจากนานาชาติ

ประชาคมนานาชาติได้เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา การปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และการห้ามซื้อขายอาวุธจากทั่วโลกกับเมียนมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจำนวน 12 คนจาก 15 คนได้ลงมติประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหาร แต่อินเดีย จีน และรัสเซียงดออกเสียง

สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารของเมียนมาและผู้นำ รวมถึงการอายัดทรัพย์สินและห้ามการเดินทางรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยพม่าในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยอนุญาตให้มีการสนับสนุนทางเทคนิคแบบไม่ร้ายแรงต่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติกองกำลังป้องกันประชาชน องค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์และอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมา

จากในช่วงเริ่มต้นของการรัฐประหาร โดยทั่วไปแล้วจีนและรัสเซียเข้าข้างรัฐบาลทหารของเมียนมา แต่ก็ยังให้
การสนับสนุนกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นความพยายามเพื่อปกป้องการลงทุนที่สำคัญของตนในเมียนมา เช่น ภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนมีการลงทุนที่สำคัญในโครงการสร้างทางรถไฟ ทางหลวง ท่อส่งน้ำมันและก๊าซและท่าเรืออย่างน้อยหนึ่งแห่งในเจาะพยูบนมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีนและเมียนมา การก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำบนแม่น้ำอิรวดีในรัฐกะฉิ่นเองก็อยู่ในภาวะไม่แน่นอน ไฟฟ้าร้อยละ 90ที่ผลิตจากเขื่อนนี้จะส่งออกไปให้จีน ตามรายงานของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565

นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการภายในของเมียนมามากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจีนจะอ้างว่าตนปฏิบัติตามนโยบายการไม่แทรกแซง จีนยังคงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารของเมียนมา แต่ก็พยายามสร้างความพอใจกับฝั่งของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธด้วย การที่จีนสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการทูตอย่างต่อเนื่องกับเมียนมา และการปฏิเสธที่จะประณามรัฐบาลทหารของเมียนมานั้น ก่อให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับแรงจูงใจของรัฐบาลจีนและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

แม้ว่าจะเรียกร้องให้มีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ แต่จีนยังคงส่งอาวุธให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อคงอิทธิพลเหนือทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม อาวุธและยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ได้ไปถึงมือรัฐบาลทหารของเมียนมา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ จีนพยายามกีดกันไม่ให้ประเทศตะวันตกเข้ามาหาวิธีแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา

จุดยืนของอาเซียน

ในขณะเดียวกัน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ต้องพยายามมากขึ้นเพื่อกดดันรัฐบาลทหารของเมียนมาให้ฟื้นฟูประชาธิปไตย ฉันทามติ5 ข้อของอาเซียนได้รับการอนุมัติในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที ทำการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งทูตพิเศษ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และทูตพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมา พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา ได้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวในเดือนนั้น แต่รัฐบาลทหารของเมียนมากลับยังคงใช้ความรุนแรงต่อไป

นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ฉันทามติขาดกลไกที่จะทำให้รัฐบาลทหารของเมียนมาต้องปฏิบัติตามและโดยมากแล้วนั่นคือวิธีการที่อาเซียนใช้เพื่อรักษาหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ การขาดเอกภาพในอาเซียนด้านการแก้ไขวิกฤตการณ์เป็นการบั่นทอนความพยายามของสมาคม โดยมีเพียงแค่บางประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารของเมียนมา ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ลังเลที่จะพูดอะไร

บทบาทที่สำคัญของผู้หญิง

สิ่งที่แตกต่างจากการลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมาในครั้งนี้คือ ร้อยละ 60 ของผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นผู้หญิง กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดงกองพันที่ 5 เป็นองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์แรก
ที่จัดตั้งกองกำลังต่อสู้หญิงหลังจากรัฐประหารนับแต่นั้นมา หน่วยขององค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังป้องกันประชาชนหลาย ๆ หน่วยก็มีนักรบหญิงอยู่ภายในหน่วยของตน นักรบหญิงแห่งเมืองมยองเป็นที่รู้จักจากการโจมตีด้วยทุ่นระเบิดต่อกองกำลังของรัฐบาลทหารของเมียนมาในภูมิภาคซะไกง์ ผู้หญิงบางส่วนเข้าร่วมในภารกิจการต่อสู้ที่ร้ายแรง แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่ามีผู้หญิงในจำนวนมากกว่าผู้ชายที่เข้าร่วมในการต่อต้านที่ไม่ร้ายแรงโดยผู้หญิงมุ่งเน้นไปที่การระดมและจัดกลุ่มประชาชนในท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนและรักษาการต่อต้านไว้ความพยายามในด้านที่ไม่ร้ายแรงของผู้หญิงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับประชาชนและรักษาแนวคิดการปฏิเสธรัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังคงขาดการมีบทบาทในตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กองกำลังป้องกันประชาชน องค์กรปฏิวัติของกลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ และองค์กรอื่น ๆ ในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพเชิงปฏิบัติการ

บทบาทของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

โดยรวมแล้ว การต่อต้านรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดมาจากชาวเมียนมา นายจอ โม ตุน ผู้แทนถาวรเมียนมาประจำสหประชาชาติ แสดงจุดยืนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ที่การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติโดยประณามการรัฐประหารและขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย นายจอ โม ตุนเป็นนักการทูตเมียนมาคนแรกที่พูดต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทหารของเมียนมาในเวทีระดับโลก

ภายหลังการปรากฎตัวของนายจอ โม ตุน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้กลายเป็นแนวร่วมของสมาชิกสภานิติบัญญัติพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ชนกลุ่มน้อยของกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้นำประชาสังคมที่ได้หลบหนีจากการจับกุมของรัฐบาลทหารของเมียนมา ประกาศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่ระบุว่าตนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคือตัวแทนของเจตจำนงของประชาชนเป็นพัฒนาการที่สำคัญในภูมิทัศน์ทางการเมืองของเมียนมา ซึ่งช่วยสร้างพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูประชาธิปไตยและแสดงความท้าทายอย่างมากต่อความชอบธรรมของรัฐบาลทหารของเมียนมา

แง่มุมหนึ่งที่มีความโดดเด่นมากที่สุดของการก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ คือการรวบรวมเอากลุ่มทางการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายซึ่งเคยบาดหมางกันมาโดยตลอดเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน การก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแสดงถึงสัญญาสู่อนาคตที่ความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน
สามารถปูทางไปสู่สังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติสร้างขึ้นก็ถูกบั่นทอนลงด้วยความท้าทายหลายประการ รวมไปถึงการขาดการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศอื่น ๆ นี่จึงเป็นการจำกัดไม่ให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุน ในเวลาเดียวกันกับที่การปราบปรามกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตยของรัฐบาลทหารทำให้เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจะปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสามารถของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในการชี้นำแนวร่วมการต่อต้านไปสู่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับ
การก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ รวมทั้งความไม่ไว้วางใจที่ฝังรากลึกในชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อย ในขณะที่เปิดรับการสนับสนุนจากนานาชาติอย่างมีความหมายสำคัญ

เส้นทางสู่ชัยชนะ

แนวร่วมการต่อต้านเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่บ้างเพื่อนำความได้เปรียบมาสู่ฝั่งของแนวร่วมการต่อต้านเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยนับจากช่วงเวลานี้เป็นต้นไป เส้นทางสู่ชัยชนะของแนวร่วมการต่อต้านเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยจะขึ้นอยู่กับการกระทำที่ร้ายแรงน้อยลง และขึ้นอยู่มาตรการที่ไม่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น

การใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสารที่สอดคล้องกันเพื่อรักษาการสนับสนุนจากสาธารณะเพิ่มแรงกดดันทั่วโลก และเพิ่มการแปรพักตร์ของทหาร

ใช้ทรัพยากรมนุษย์และผู้มีความสามารถรวมถึงการส่งผู้หญิงเข้าปฏิบัติหน้าที่เพิ่มขีดความสามารถให้กับคนรุ่นใหม่และใช้ประโยชน์จากอดีตนักรบ

มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจศัตรูโดยให้ความสำคัญกับปฏิบัติการข่าวกรองและการสอบสวนทหารแปรพักตร์

ให้การรับรองทางการเมืองกับองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อสร้างเอกภาพในการบังคับบัญชาและความพยายาม

เมื่อความขัดแย้งดำเนินมาถึงปีที่ 3 ประชาชนเมียนมาก็เหนื่อยล้ากับการต่อสู้และต้องการเสถียรภาพในประเทศอย่างไรก็ตาม ประชาชนกว่าร้อยละ 90 เชื่อว่าการปกครองของรัฐบาลทหารจะไม่มีวันนำมาซึ่งเสถียรภาพในระยะยาว ดังนั้น กองกำลังแนวร่วมการต่อต้านจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญที่จะนำไปสู่จุดพลิกผัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button