ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ยามะซากุระยกระดับไปเป็นการฝึกซ้อมแบบพหุภาคี และมีผู้เข้าร่วมมากที่สุดที่เคยมีมา

มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์

ยามะซากุระ พ.ศ. 2566 นับเป็นการฝึกครั้งที่ใหญ่ที่สุด และถือเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือทางกองกำลังแบบไตรภาคี เจ้าหน้าที่มากกว่า 6,000 นายจากกองทัพออสเตรเลีย กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น และกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมในการฝึกขนาดใหญ่ในเดือนธันวาคม ที่มีชื่อว่า ยามะซากุระ 85

การมีกองทัพออสเตรเลียเข้าร่วมด้วยเป็นการส่งสัญญาณถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอินโดแปซิฟิก นับตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2525 ยามะซากุระได้ดำเนินการแบบทวิภาคีระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นและกองทัพสหรัฐฯ

ยามะซากุระเริ่มการฝึกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ด้วยพิธีเปิดทั่วทั้งญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จัดการฝึกปัญหาที่บังคับการระหว่างกองทัพบกออสเตรเลีย กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น และกองทัพบกสหรัฐฯ ขึ้นในญี่ปุ่น
วิดีโอจาก: จ.อ. เจเน เจนเซน/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

การยกระดับนี้ “เป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสามประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบโต้และป้องปรามในเอเชียตะวันออก” พล.ท. เรียวจิ ทาเคโมโตะ ผู้บัญชาการกองบัญชาการหน่วยภาคพื้นดินของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น กล่าว พล.ท. ทาเคโมโตะเน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของการฝึกนี้ตลอดจนการมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถเชิงปฏิบัติการแบบไตรภาคี

พล.ท. ทาเคโมโตะยังได้ย้ำถึงความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังต่าง ๆ โดยได้ขอให้ผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนจากการฝึกอื่น ๆ เช่น ทาลิสมันเซเบอร์และโอเรียนท์ชิลด์ เพื่อนำไปพัฒนาขีดความสามารถ สิ่งที่ พล.ท. ทาเคโมโตะมุ่งเน้นคือ กระแสงาน ระบบ ยุทโธปกรณ์ รวมถึงการบังคับบัญชาและการควบคุมที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานหลักการและแนวทางปฏิบัติของกองทัพที่แตกต่างกัน

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอย่างกิจกรรมทางทะเลในเชิงรุกรานที่มากขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการยิงขีปนาวุธทิ้งตัวของเกาหลีเหนือ การฝึกยามะซากุระจึงมุ่งเน้นที่บทบาทหน้าที่อันสำคัญของความร่วมมือของพันธมิตรในการรักษาอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ในการฝึกยามะซากุระ 9 พล.ต. โนโซมุ โยชิโทมิ เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นผู้เกษียณอายุ ได้กล่าวถึงพัฒนาการของการฝึกนับตั้งแต่ที่ตนได้เข้าร่วมเป็นครั้งแรก

“ในตอนนั้น เราใช้การรุกรานขนาดใหญ่ของอดีตกองทัพโซเวียตเป็นสถานการณ์ฝึกซ้อมจำลอง แต่ทุกวันนี้ ฉากหลังของการฝึกนี้คือพฤติกรรมรุกรานของจีนในภูมิภาค การฝึกนี้เป็นการตอกย้ำว่าความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและกองทัพสหรัฐฯ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งในยามะซากุระและในโลกแห่งความเป็นจริง” พล.ต. โยชิโทมิ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการความเสี่ยงแห่งมหาวิทยาลัยนิฮอน กล่าวกับ ฟอรัม

ภาพลักษณ์ของการฝึกที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคสงครามเย็น “ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากการฝึกนี้ได้เริ่มส่งคำเชิญไปยังผู้เข้าร่วมภายนอกอย่างจริงจัง และมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการแบบหลายขอบเขตนอกเหนือจากฉากสงครามภาคพื้นดินแบบทวิภาคีเพียงอย่างเดียว” ตามคำกล่าวของนายฮิโรฮิโตะ โอกิ นักวิจัยอาวุโสของโครงการริเริ่มแห่งเอเชียแปซิฟิกและสถาบันภูมิเศรษฐศาสตร์แห่งสภานานาชาติญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว “การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นชัดถึงความสำคัญของการผสานรวมกองกำลังและขีดความสามารถของพันธมิตรจากกองกำลังหน่วยต่าง ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้กับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเรา” นายโอกิกล่าวกับ ฟอรัม

การฝึกยามะซากุระ 85 ยังได้เน้นถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์ในความร่วมมือด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศจากการตระหนักถึงความจำเป็นในการตอบสนองต่อความท้าทายในภูมิภาคร่วมกัน

“หลังจากที่ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ของการฝึกที่ยอดเยี่ยมนี้มาเป็นเวลา 10 ปี เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้เข้าร่วมอย่างเต็มตัวในการฝึกในครั้งนี้” พล.ต. สก็อต วินเทอร์ ผู้บัญชาการกองทหารที่ 1 แห่งกองทัพบกออสเตรเลีย กล่าว

กองทัพดำเนินการฝึกยามะซากุระทั่วทั้งญี่ปุ่นและที่ฐานทัพร่วมลูอิส-แมกคอร์ดของสหรัฐฯ ในรัฐวอชิงตัน การฝึกนี้มุ่งเน้นไปที่สถานการณ์จำลองทางทฤษฎี การทดสอบ และการพัฒนากลยุทธ์ปฏิบัติการร่วมทางอากาศ ทางบก และทางทะเล มีการเพิ่มความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นและปฏิบัติการแบบหลายขอบเขตและข้ามขอบเขตเข้าไปในการฝึก เพื่อสะท้อนถึงลักษณะของการทำสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป

ยามะซากุระ 85 เป็นส่วนหนึ่งของชุดการฝึกปัญหาที่บังคับการ ซึ่งนำไปสู่การฝึกภาคสนามที่ใหญ่กว่า การฝึกนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่มีต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและมีเสถียรภาพ และยังเป็นการส่งสารที่ชัดเจนถึงความเป็นหนึ่งเดียวและความพร้อมรับมือไปยังผู้ที่อาจเป็นศัตรู

มาร์ค เจคอบ พรอสเซอร์ เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโตเกียว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button