ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียใต้

มหาสมุทรอินเดียที่เสรีและเปิดกว้างบนทางแยกทางทะเล

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

บทบาทของจีนที่เติบโตขึ้นได้เพิ่มความตึงเครียดในมหาสมุทรอินเดีย พัฒนาการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขอบเขตเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ตลอดจนแผนโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและหนี้ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ที่กดดันประเทศชายฝั่ง ได้ทำให้อินเดียและประเทศอื่น ๆ ตกอยู่ในความกังวล

กว่าหนึ่งในสามของการขนส่งสินค้าจำนวนมากของโลกรวมถึงน้ำมันและก๊าซกว่าสองในสามของโลกล้วนเดินทางผ่านมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ทอดยาวจากแอฟริกาตะวันออกไปจนถึงออสเตรเลียตะวันตก และยังเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 2.9 พันล้านคน ตามรายงานของกองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 การขนส่งทางทะเลเป็นวิธีที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเคลื่อนย้ายสินค้าจำนวนมาก และเส้นทางทะเลของมหาสมุทรอินเดียทำให้ทั่วโลกเข้าถึงอาหาร แร่ธาตุ โลหะมีค่า และทรัพยากรพลังงานได้

เรือวิจัยของจีนที่ติดตั้งเสาอากาศและอุปกรณ์สื่อสารเทียบท่าที่ท่าเรือแฮมบันโตตาของศรีลังกาที่จีนดำเนินการอยู่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 แม้จะมีความกังวลจากอินเดียและสหรัฐอเมริกาว่าอาจมีการสอดแนมเกิดขึ้น เรือหยวนหวัง 5 ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังท่าเรือน้ำลึกโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ทำการวิจัยใด ๆ
วิดีโอจาก: เก็ตตี้ ผ่านเอเอฟพี

พื้นที่แคบสามจุดในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งหมายถึงเส้นทางการขนส่งอันคับแคบที่อยู่ระหว่างมวลแผ่นดิน เป็นจุดที่สนับสนุนการค้าขาย ทั้งสามจุดนี้คือ ช่องแคบฮอร์มุซที่ปากอ่าวเปอร์เซีย ช่องแคบบับ เอล-มันเดบที่อยู่ระหว่างจะงอยแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ และช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งหลักระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนรับรองถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจผ่านเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัยและมั่นคง อย่างไรก็ตาม เมื่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คุกคามการค้าและความมั่นคง การควบคุมเส้นทางคมนาคมทางทะเลของภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

กว่า 4 ใน 5 ของน้ำมันของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา และผู้นำจีนต่างก็มีความเป็นกังวลมานานหลายปีว่าการปิดกั้นเส้นทางการขนส่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจีนได้ขยายการดำเนินงานที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทางทะเล สร้างท่าเรือพาณิชย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องในประเทศแถบเอเชียใต้ จัดการฝึกซ้อมทางทะเลกับอิหร่าน ปากีสถาน และรัสเซีย และใช้ประโยชน์จากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประเทศอื่น ๆ เพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของตนเอง ตามรายงานของแอตแลนติกเคาน์ซิล ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566

กองเรือในมหาสมุทรอินเดียของจีนเติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มความได้เปรียบทางทหารในพื้นที่ห่างไกลจากชายฝั่งของตนเอง นายโจชัว ที. ไวต์ ศาสตราจารย์สาขากิจการต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ เขียนในรายงานของสถาบันบรูกกิงส์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 อินเดีย สหรัฐฯ รวมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนควรจะจับตาดูการส่งกำลังปฏิบัติการของจีนที่เกินความจำเป็นในการตอบโต้การกระทำอันเป็นโจรสลัดหรือดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นวิธีการทางทะเลแบบใหม่ที่ใช้เพื่อรวบรวมข่าวกรองและเป็นความพยายามในการเสริมความยืดหยุ่นให้กับเครือข่ายโลจิสติกส์ในช่วงเวลาที่อาจเกิดความขัดแย้งขึ้น นายไวต์เขียน

“บทบาทที่เติบโตขึ้นของจีนในมหาสมุทรอินเดียได้ทำให้เกิดความกังวลในบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ซึ่งมองว่ากิจกรรมของจีนเป็นความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ต่ออิทธิพลในภูมิภาคของอินเดีย” นายซัจจาด แอชราฟ ศาสตราจารย์วุฒิคุณที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และอดีตนักการทูตปากีสถาน เขียนไว้ในเว็บไซต์ไชน่า-ยูเอสโฟกัส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 มหาสมุทรอินเดียยังเป็น “พื้นที่การแข่งขันที่สำคัญ” นายแอชราฟระบุ

ท่าเรือและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนจำนวนหนึ่งที่อยู่ตามแนวมหาสมุทรอินเดียนั้นประกอบไปด้วย จิตตะกองที่อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำกรรณผลีในบังกลาเทศ กวาดาร์ที่อยู่ที่ฐานของระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถานในปากีสถาน แฮมบันโตตาในศรีลังกา และเจาะพยูที่ทอดยาวตามแนวอ่าวเบงกอลทางตะวันตกของเมียนมา

บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนได้มอบเงินทุนสนับสนุนให้กับหลายโครงการ รวมถึงสนามบิน ระบบท่อ และเครือข่ายการสื่อสาร ประเทศผู้รับเงินสนับสนุนบางประเทศประสบปัญหาในการชำระหนี้ เช่น ใน พ.ศ. 2560 บริษัทของจีนเข้าควบคุมท่าเรือแฮมบันโตตาด้วยสัญญาเช่า 99 ปี เมื่อศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้

รัฐบาลอินเดียแสดงความกังวลมานานแล้วว่ารัฐบาลจีนอาจใช้ท่าเรือพาณิชย์ธรรมดามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับปฏิบัติการทางทะเลของตน แต่ก็มีข้อบ่งชี้จำนวนหนึ่งที่บ่งบอกว่าอินเดียยับยั้งความพยายามของจีนเพื่อให้ได้มาซึ่งอิทธิพลได้สำเร็จ ตามรายงานของแรนด์ คอร์ปอเรชัน สถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ในเดือน พ.ศ. 2566 ที่ระบุไว้ว่า “โดยรวมแล้ว อินเดียดูจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในเอเชียใต้ แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป”

มหาสมุทรอินเดียควรจะเป็นสิ่งที่ได้รับการพิจารณาแยกต่างหาก ไม่ใช่มองโดยแบ่งส่วนเป็นภูมิภาคย่อย ตามรายงานของนางดาชนะ เอ็ม บารัวห์ นักวิจัยของโครงการเอเชียใต้ของมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ หลาย ๆ ประเทศควรพยายามทำความเข้าใจภูมิภาคนี้ “ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การกระทำอันเป็นโจรสลัดในทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเล หรือการทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ” นางบารัวห์กล่าวต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566

นางบารัวห์และนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ สนับสนุนความพยายามในระดับภูมิภาคที่มีการประสานงานกันเพื่อช่วยให้เส้นทางทะเลของมหาสมุทรอินเดียยังคงเสรีและเปิดกว้างต่อไป “การจัดทำแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวกันและหน่วยงานทางทะเลสำหรับมหาสมุทรอินเดียจะทำให้เกิดการประสานงานและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีบทบาททุกคนได้ดีขึ้น” นางบารัวห์และนักวิจัยจากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศคนอื่น ๆ เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button