ความร่วมมือทรัพยากรส่วนรวมของโลกโอเชียเนีย

ภารกิจของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถทางทหารที่เชื่อถือได้ในการรักษาสันติภาพในอินโดแปซิฟิก

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

ภารกิจของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของสหรัฐอเมริกาในการควบคุมดูแลหน่วยทิ้งระเบิดของตนเองในภารกิจที่ได้รับมอบหมายทุกที่ในโลกและทุกเวลา ซึ่งมีบ่อยครั้งที่ทำการประสานงานและฝึกอบรมร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วทั้งภูมิภาค

ใน พ.ศ. 2566 ภารกิจของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอว่า เมื่อร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนแล้วทุกฝ่ายจะแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องปรามภัยคุกคามและปกป้องค่านิยมและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ บี-1บี แลนเซอร์ เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่สามารถบรรทุกอาวุธทั่วไปทั้งแบบนำวิถีและไม่นำวิถีในคลังแสงของกองทัพอากาศได้มากที่สุด ได้ลงจอดที่ฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน เกาะกวม เพื่อปฏิบัติภารกิจของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจ ภารกิจนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสหรัฐฯ ในการส่งกำลังเข้าปฏิบัติการอย่างรวดเร็วได้ทุกที่ทุกเวลา และความสามารถในเสนอตัวเลือกการโจมตีทั่วโลกด้วยพลังทำลายล้างที่แม่นยำให้แก่ผู้บัญชาการรบ

เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ทำการฝึกเตรียมความพร้อมใน พ.ศ. 2563 เพื่อรับรองความสามารถในการสู้รบ
วิดีโอจาก: จ.ต. เบย์ลี ยัสซู/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

“ภารกิจของเราที่นี่มีบทบาทสำคัญในการรับรองว่าภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลานี้ปราศจากการบีบบังคับ และเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้” น.ท. เจฟฟรี คาร์เทอร์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ฝูงบินทิ้งระเบิดนอกประเทศที่ 34 กล่าว

ในเดือนมีนาคม เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-1บี แลนเซอร์ ทำการฝึกซ้อมทางอากาศร่วมกับ เครื่องบินขับไล่ล่องหน เอฟ-35เอ ไลท์นิ่ง 2 ของกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลีและเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ไฟท์ติ้งฟัลคอน ของสหรัฐฯ เหนือคาบสมุทรเกาหลี

เมื่อร่วมมือกัน เกาหลีใต้และสหรัฐฯ มีท่าทีด้านกลาโหมร่วมกันที่เข้มแข็ง และยังคงเสริมความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการทำงานร่วมกัน เพิ่มขีดความความสามารถในการส่งกำลังตอบโต้ที่ยืดหยุ่น และเพิ่มขีดความสามารถด้านการโจมตีเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงเวลาสงครามอย่างเข้มแข็ง

บี-1บี แลนเซอร์ ปิดท้ายการส่งกำลังปฏิบัติการด้วยการเข้าร่วมการฝึกโคปอินเดีย พ.ศ. 2566 กับกองทัพอากาศอินเดีย การฝึกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ และต่อยอดจากขีดความสามารถที่มีอยู่ กลยุทธ์ลูกเรือ และการส่งกองกำลัง การฝึกในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ บี-1บี แลนเซอร์ เข้าร่วมการฝึกซ้อมกับอินเดีย

ความร่วมมือระหว่างกองกำลังของอินเดียและสหรัฐฯ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการแบ่งปันข้อมูล เจ้าหน้าที่ประสานงาน ข้อตกลงที่ส่งเสริมด้านกลาโหม และการฝึกซ้อมที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น โคปอินเดีย “โอกาสต่าง ๆ อย่างโคปอินเดียช่วยเพิ่มความเข้าใจร่วมกันของเรา ทำให้สามารถเจรจากันได้อย่างเปิดเผยและแลกเปลี่ยนแนวคิดต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการก้าวต่อไปข้างหน้า” น.ท. จาเรด ทอมลิน รองผู้บัญชาการกลุ่มปฏิบัติการที่ 28 ซึ่งเป็นผู้นำฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 34 ในอินเดีย

ขีดความสามารถในการต่อสู้ที่เพิ่มขึ้นและขีดความสามารถด้านการต่อสู้ในสงครามที่พัฒนาขึ้นระหว่างกองทัพอากาศอินเดียและสหรัฐฯ ช่วยเน้นชัดให้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นที่มีต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคของทั้งสองประเทศ

ทันทีที่ บี-1บี บินออกจากเกาะกวมในเดือนเมษายน ทหารอากาศ 210 นายและเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 สตราโตฟอร์เทรส ก็มาถึงแทบจะในทันที เพื่อทำการสนับสนุนการฝึกอบรมของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกร่วมกับพันธมิตร หุ้นส่วน และกองกำลังร่วมต่อไป

ปฏิบัติการของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจช่วยสนับสนุนภารกิจของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกด้วยการมอบโอกาสให้ลูกเรือทำความคุ้นเคยกับปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมกองกำลังร่วมและแนวร่วม หน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจยังช่วยให้ทหารอากาศมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนภารกิจต่อสู้ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วย (จากซ้าย) ยูเอสเอ็นเอส ชาร์ลส์ ดรูว์, ยูเอสเอส คอมสต็อก, ยูเอสเอส นิวออร์ลีนส์, ยูเอสเอส อเมริกา, ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน, ยูเอสเอ็นเอส จอห์น อีริกสัน, ยูเอสเอส แอนตีแทม, ยูเอสเอส เยอรมันทาวน์, และยูเอสเอ็นเอส สาคากาวี แล่นอยู่ในทะเลฟิลิปปินส์ ในขณะที่ อีเอ-18จี กราวเลอร์ และเอฟเอ-18อี ซูเปอร์ฮอร์เน็ต ของฝูงบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินที่ 5 และพี-8 โพไซดอน ของหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ 72 และเอฟ-22 แรปเตอร์ และเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-1บี ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บินอยู่ด้านบนเพื่อสนับสนุนการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2563
ภาพจาก: จ.ท. เจสัน ทาร์เลตัน/กองทัพเรือสหรัฐฯ
เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-1บี แลนเซอร์ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ สังกัดฝูงบินทิ้งระเบิดนอกประเทศที่ 34 บินอยู่เหนือเครื่องยิงขีปนาวุธ แพทริออต เอ็มไอเอ็ม-104 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติปาเลาเพื่อสนับสนุนการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565
ภาพจาก: จ.ท. โฮเซ มิเกล ที. ทามอนดอง/กองทัพอากาศสหรัฐฯ
เครื่องบิน บี-1บี แลนเซอร์ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จอดอยู่ที่ลานบินที่เมืองเบงกาลูรูในอินเดีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่ง บี-1บี ได้เข้าร่วมงานแสดงแอโรอินเดีย 23
ภาพจาก: พ.อ.ต. ริชาร์ด อีเบินส์เบอร์เกอร์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ
เครื่องบินจากออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการเดินขบวนด้วยเครื่องบินที่ฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน เกาะกวม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ขบวนเครื่องบิน 23 ลำประกอบไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินขนส่ง และเครื่องบินบรรทุกเชื้อเพลิงทางอากาศ
ภาพจาก: จ.อ. ไมเคิล คอสซาบูม/กองทัพอากาศสหรัฐฯ
เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน บี-2 สปิริต จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังวิ่งอยู่บนลานบินที่ฐานทัพแอมเบอร์ลีย์ของกองทัพอากาศออสเตรเลียในรัฐควีนส์แลนด์
ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

    “หน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บี-52 ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกเรือของเราสามารถฝึกฝนความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและอาวุธอันยอดเยี่ยมของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งข้อความที่สำคัญอย่างยิ่งด้วย” น.ท. วาเนสซา วิลค็อกซ์ ผู้บัญชาการกองพันทิ้งระเบิดที่ 96 ที่ฐานทัพอากาศบาร์คสเดล รัฐลุยเซียนา กล่าว “นี่เป็นการแสดงถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของเราที่มีต่อพันธมิตรพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อรับรองถึงเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดจนรับรองเสถียรภาพในภูมิภาค”

    ตัวอย่างหนึ่งการฝึกนี้จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ สองลำ พร้อมกับเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง เคซี-135 สองลำ และเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 สี่ลำ ได้ร่วมกับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นสี่ลำเหนือทะเลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความสามารถของพันธมิตรในการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดต่อภัยคุกคามที่มีต่อญี่ปุ่น

    ไม่นานหลังจากนั้น เครื่องบิน เอฟ-35เอ ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้และเครื่องบิน เอฟ-16 ไฟท์ติ้งฟัลคอน ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ บี-52เอช ในขณะที่เคลื่อนที่เข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของเกาหลีเพื่อดำเนินปฏิบัติการการบินร่วมกัน การฝึกนี้ช่วยให้พันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถทางกลาโหมร่วมกันและมอบการป้องปรามที่มากขึ้นให้แก่คาบสมุทรเกาหลี

    นอกจากนี้ เครื่องบินทิ้งระเบิดยังสนับสนุนภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ โดยบินไปกว่า 412 ชั่วโมงในขณะที่ปฏิบัติการอยู่ในอินโดแปซิฟิก และเสร็จสิ้นภารกิจ 29 เที่ยวบินในขณะที่ปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนสี่ราย และมีเครื่องบิน 10 ประเภทจากกองกำลังร่วมจำนวน 30 ลำ การบูรณาการของกองทัพอากาศและกองทัพเรือสหรัฐฯ มุ่งเน้นหนักไปที่การยกระดับการบูรณาการเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้ากับสงครามในทะเล

    ทั้งในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ทหารอากาศสหรัฐฯ 200 นายและเครื่องบิน บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส สี่ลำเดินทางมายังเกาะกวมเพื่อดำเนินการบูรณาการขีดความสามารถของเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ในสภาพแวดล้อมร่วมและแนวร่วม “การฝึกอบรมและการปฏิบัติการในยุทธบริเวณที่สำคัญทำให้เราได้แสดงถึงความพร้อม ความเต็มใจ และความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่เรามีต่อพันธมิตรและหุ้นส่วน” น.ท. ไรอัน ลอกส์ ผู้บัญชาการหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจ ฝูงบินทิ้งระเบิดนอกประเทศที่ 23 กล่าว

    เครื่องบินจากออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินขนส่ง เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินบรรทุกเชื้อเพลิงทางอากาศ ทำการเดินขบวนด้วยเครื่องบินที่ฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน เกาะกวม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
    วิดีโอจาก: จ.อ. ไมเคิล คอสซาบูม จ.อ. เจมส์ คาสัน จ.อ. เทย์เลอร์ ครูล จ.อ. คริสเตียน ซัลลิแวน/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

    หลังจากนั้น เครื่องบิน บี-1บี แลนเซอร์, บี-2 สปิริต และบี-52 สตราโตฟอร์เทรส ได้ร่วมปฏิบัติการในภารกิจร่วมที่ฐานทัพร่วมเอลเมนดอร์ฟ-ริชาร์ดสัน รัฐอะแลสกา โดยเข้าร่วมภารกิจการฝึกอบรมร่วมกันในฐานะกองกำลัง เพื่อส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันและการปฏิบัติการเป็นกลุ่มของเครื่องบินทิ้งระเบิด การทำงานเป็นทีมในเชิงปฏิบัติการของเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทั้งสามประเภทนี้ช่วยให้ผู้บัญชาการในยุทธบริเวณมีทางเลือกมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการใช้อำนาจทางอากาศในสถานการณ์การสู้รบในสงคราม

    “การยกระดับขีดความสามารถดังกล่าวภายในหน่วยทิ้งระเบิดของเราเป็นสิ่งสำคัญต่อการรับรองว่า เราสามารถดำเนินการป้องปรามและตอบโต้ที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพได้กับทุกวิกฤตทั่วโลก” พล.อ.อ. เคน วิลส์บาค ผู้บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก

    ในเดือนตุลาคม เครื่องบิน เอฟ-16 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เครื่องบิน เอฟ-2 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น และเครื่องบิน เอฟ-15เค ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ ได้ร่วมทำการบินคุ้มกันแบบไตรภาคีให้กับ เครื่องบิน บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส ที่ปฏิบัติการอยู่ในอินโดแปซิฟิก การฝึกนี้ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับความสามารถในการทำงานร่วมกัน และได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของความสัมพันธ์แบบไตรภาคี

    เครื่องบินขับไล่เอฟ-2 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น เครื่องบินเอฟ-15เค ของกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี และเครื่องบินเอฟ-16เอส ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บินคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
    ภาพจาก: จ.ท. คาร์ลา ปาร์รา/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

    ในเดือนเดียวกันนี้ บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส ที่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ ได้ลงจอดที่คาบสมุทรเกาหลีเพื่อเข้าร่วมในงานนิทรรศการอวกาศยานและกลาโหมนานาชาติโซล พ.ศ. 2566 และเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบความเป็นพันธมิตร 70 ปี ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่พิสัยไกลอันโดดเด่นลำนี้ทำการแสดงการบินในระหว่างงานนิทรรศการ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของเกาหลีใต้และภูมิภาคนี้ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างมาตรฐานและความสามารถในการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ ตลอดจนแสดงขีดความสามารถที่สำคัญต่อความสำเร็จทางทหาร

    ในระหว่างการแสดงการบิน บี-52เอช ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่พิสัยไกลลำแรกที่ลงจอดในคาบสมุทรเกาหลีในรอบ 30 ปี ได้บินเคียงคู่ เอฟ-35เอ ของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ในช่วงเวลาที่ น.ท. วิลค็อกซ์กล่าวว่าเป็น “ช่วงเวลาที่มีความหมายสำคัญ”

    พันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ “ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นปราการเหล็กในการเผชิญหน้ากับความท้าทายตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา นี่เป็นหนึ่งในพันธมิตรแบบทวิภาคีที่ทำงานร่วมกันได้ดี มีความสามารถ และยืดหยุ่นมากที่สุดโลก” พล.อ.ท. สก็อตต์ เพลียส ผู้บัญชาการกองทัพอากาศหน่วยที่ 7 และรองผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ กล่าว “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาอย่างต่อเนื่องของเราที่จะส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในคาบสมุทรเกาหลี”

    เจ้าหน้าที่สาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ ยืนอยู่ด้านหน้าเครื่องบิน บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 เครื่องบิน บี-52 ได้รับการส่งไปปฏิบัติการในคาบสมุทรเกาหลีเพื่อร่วมงานนิทรรศการอวกาศยานและกลาโหมนานาชาติโซล และเฉลิมฉลองการครบรอบความเป็นพันธมิตร 70 ปี ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ
    ภาพจาก: จ.ต. นิโคล เลดเบทเตอร์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

    นอกจากนี้ ที่งานนิทรรศการอวกาศยานและกลาโหมนานาชาติโซล มีเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ประมาณ 200 นายที่แสดงสินทรัพย์ทางทหารที่มีความสามารถสูงและมีความอานุภาพสูงในการจัดแสดงแบบอยู่กับที่ การแสดงการบิน และการสาธิตกลางอากาศ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบิน เอฟ-22 แรปเตอร์ เอฟ-35บี ไลท์นิ่ง 2 และเครื่องบินขนส่ง ยุทธวิธี ข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวน การเข้ามามีบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ เหล่านี้เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการเจรจาแบบพบหน้ากับพันธมิตรและหุ้นส่วน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

    ตลอด พ.ศ. 2566 และปีถัด ๆ ไป ภารกิจของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิก มีส่วนร่วม มีการวางท่าที และมีความพร้อมด้วยกองกำลังที่น่าเชื่อถือในการรับรอง ป้องปราม และป้องกันดินแดนอธิปไตยจากการรุกรานในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

    บทความที่เกี่ยวข้อง

    Back to top button